แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เงินราคาของที่ผู้ซื้อวางไว้แก่ผู้ขาย ซึ่งผู้ขายจะต้องคืนแก่ผู้ซื้อได้กลายเป็นพันธบัตรออมทรัพย์ไป ภายหลังทั้งสองฝ่ายต่างทำสัญญากันให้รับผิดชอบคนละครึ่งและผู้ขายได้ชำระให้ผู้ซื้อไปครึ่งหนึ่งแล้ว ส่วนทรัพย์ที่ซื้อขายตกลงกันให้ผู้ซื้อบอกขาย ขายได้กำไรเท่าใด แบ่งกันคนละครึ่ง ต่อมาของที่ขายก็ถูกไฟไหม้สูนย์หายไป ดังนี้ ผู้ซื้อจะมาเรียกร้องให้ผู้ขายคืนเงินอีกครึ่งหนึ่งที่วางไว้ไม่ได้ เพราะความตกลงกันเด็ดขาดไปแล้ว.
ย่อยาว
ได้ความว่า จำเลยตกลงขายเครื่องกำเหนิดไฟฟ้าให้โจทก์เป็นเงิน ๑๑,๐๐๐ บาทและโจทก์ได้วางเงิน ๑๑,๐๐๐ บาทซึ่งเป็นธนบัตรฉะบับละพันบาท ๑๑ ฉะบับให้จำเลยไว้โดยมีข้อสัญญากันว่า โจทก์จะต้องนำหลักฐานการอนุญาตให้โอนกรรมสิทธิจากเจ้าพนักงานควบคุมมาแสดงต่อจำเลยใน ๗ วัน มิฉะนั้นให้ถือว่าสัญญาซื้อขายนั้นเป็นอันเลิกกัน จำเลยจะคืนเงินนั้นให้โจทก์ โจทก์ไม่สามารถนำใบอนุญาตมาแสดงใน ๗ วัน จำเลยได้มีหนังสือบอกระงับการซื้อขายและจะคืนเงิน ๑๑,๐๐๐ บาทให้โจทก์ตามสัญญา แต่ขณะนั้นรัฐบาลประกาศใช้พระราชกำหนดพันธบัตรออมทรัพย์ ๒๔๘๘ ธนบัตรใบละพันดังกล่าว จึงกลายสภาพเป็นพันธบัตรไป โจทก์,จำเลยได้ตกลงทำหนังสือสัญญากันว่า เงิน ๑๑,๐๐๐ บาทดังกล่าวต้องแบ่งรับผิดชอบกันคนะล ๕๕๐๐ บาท และจำเลยได้จ่ายเงิน ๕,๕๐๐ บาทให้โจทก์ และได้ตกลงกันให้โจทก์ไปบอกขายเครื่องกำเหนิดทำไฟ ถ้าขายเครื่องกำเหนิดทำไฟเท่าให ให้แบ่งกันคนละครึ่ง แล้วจำเลยได้นำพันธบัตรใบละพัน ๑๑ ฉะบับนั้นไปจดทะเบียนไว้ในนามจำเลย ต่อมาเครื่องกำเหนิดไฟฟ้านั้นถูกไฟไหม้เสียหายหมด ไม่ได้ขายให้แก่ใคร
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงิน ๕,๕๐๐ บาทที่ค้างอยู่ จำเลยให้การต่อสู้ว่า เงินรายนี้ได้ตกลงกันว่าต้องแบ่งรับผิดกันคนละ ๕,๕๐๐ บาทท และได้จ่ายให้โจทก์ไป ๕,๕๐๐ บาทแล้ว เป็นอันเลิกแล้วกันไป
โจทก์ฎีกา,
ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาที่โจทก์,จำเลยตกลงกันมีว่าเงิน ๑๑,๐๐๐ บาท ค่าซื้อเครื่องกำเหนิดไฟฟ้า โจทก์,จำเลยแบ่งรับผิดกันคนละ ๕๕๐๐ บาท ส่วนเครื่องกำเหนิดไฟฟ้านั้นตกลงกันให้ไปบอกขายได้กำไรเท่าใดแบ่งกันระหว่างโจทก์จำเลยคนละครึ่ง แต่ปรากฎว่าต่อมาเครื่องกำเหนิดไฟฟ้านั้นได้ถูกไฟไหม้ศูนย์ไปแล้ว โจทก์จะกลับมาเรียกร้องเงิน ๕๕๐๐ บาทจากจำเลยอีกไม่ได้ เพราะได้ตกลงกันเด็ดขาดไปแล้วว่า ต่างรับผิดกันคนละ ๕๕๐๐ บาท
พิพากษายืนตามศาลล่างทั้ง ๒ ซึ่งพิพากษาให้ยกฟ้องโจทก์.