คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1882/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

กำแพงรั้วของโจทก์เกิดความเสียหายจากการตอกเสาเข็ม ของผู้รับจ้างก่อสร้างบ้านจำเลย โดยจำเลยได้คอยควบคุมดูแล อยู่ตลอดเวลา ถือว่าการตอกเสาเข็มเป็นไปตามคำสั่ง ของจำเลยโดยตรง โจทก์บรรยายฟ้องคดีนี้ว่า ในระหว่างการก่อสร้างบ้านจำเลย ได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ปรากฏว่าแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม โจทก์เกรงว่าอาจทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตและตัวบ้านเสียหาย โจทก์ได้สั่งให้จำเลยแก้ไขแล้ว แต่จำเลยกลับเพิกเฉยและยังใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มต่อไปจนเสร็จ อีกทั้งมิได้หาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์ และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล.บนกำแพงรั้วคอนกรีตของบ้านโจทก์ รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วคอนกรีต ได้รับความเสียหาย อันเป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิด จากการกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่อง ผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้าง ได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใคร และมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร แม้ความรับผิด ตามมาตรา 420 อาจซ้อนกับมาตรา 428 ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ ก็จะต้องแสดงให้แจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาและคำขอคำบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 จึงเป็นการพิพากษา เกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 วรรคหนึ่ง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของบ้านเลขที่ 94 ซอยสุขุมวิท 85แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร เมื่อเดือนกันยายน 2535ถึงเดือนธันวาคม 2535 จำเลยได้ก่อสร้างบ้านเลขที่ 88 ซอยสุขุมวิท 85 แขวงบางจาก เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร โดยในระหว่างก่อสร้างจำเลยได้ตอกเสาเข็มเป็นเหตุให้เกิดแรงสั่นสะเทือน ทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตคานและหลังคา ค.ส.ล. บนกำแพงรั้วคอนกรีตทรุดตัวและแตกร้าว รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วของโจทก์เสียหายเป็นเงิน 80,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 80,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยให้การว่า จำเลยได้ว่าจ้างพันโทพรเทพ พิริยะโยธินเป็นผู้ก่อสร้างโดยใช้ความระมัดระวังในการเลือกผู้รับจ้างแล้วจำเลยจึงไม่ต้องรับผิดตามที่โจทก์ฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินจำนวน 40,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันที่30 ธันวาคม 2536 เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยในปัญหาข้อกฎหมายตามฎีกาข้อแรกว่า ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 เป็นการพิพากษาเกินคำฟ้องคำขอหรือไม่ คดีนี้มีทุนทรัพย์ในชั้นอุทธรณ์และฎีกา 40,000 บาท ต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ในการวินิจฉัยปัญหาข้อกฎหมาย ศาลฎีกาจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ศาลชั้นต้นฟังมาว่า กำแพงรั้วของโจทก์เกิดความเสียหายจากการตอกเสาเข็มของพันโทพรเทพ พิริยะโยธินผู้รับจ้างก่อสร้างจากจำเลย โดยจำเลยได้คอยควบคุมดูแลอยู่ตลอดเวลาถือว่าการตอกเสาเข็มเป็นไปตามคำสั่งของจำเลยโดยตรง คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องว่า ในระหว่างการก่อสร้างบ้านจำเลยได้มีการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็ม ปรากฏว่าแรงสั่นสะเทือนจากการตอกเสาเข็ม โจทก์เกรงว่าอาจทำให้กำแพงรั้วคอนกรีตและตัวบ้านเสียหายโจทก์ได้สั่งให้จำเลยแก้ไขแล้วแต่จำเลยกลับเพิกเฉยและยังใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มต่อไปจนเสร็จ โดยไม่ได้แก้ไขเรื่องแรงสั่นสะเทือนหรือเปลี่ยนแปลงเครื่องตอกเสาเข็มแต่อย่างใดอีกทั้งมิได้หาทางป้องกันมิให้เกิดความเสียหายแก่บ้านโจทก์และด้วยความประมาทเลินเล่อของจำเลยทำให้กำแพงรั้วคอนกรีต คานและหลังคา ค.ส.ล.บนกำแพงรั้วคอนกรีตของบ้านโจทก์รวมทั้งอุปกรณ์ตกแต่งอื่น ๆ ที่ติดอยู่ภายในกำแพงรั้วคอนกรีตได้รับความเสียหาย เห็นว่า ตามคำฟ้องโจทก์เป็นการบรรยายฟ้องให้จำเลยรับผิดจากการกระทำของจำเลยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 420 มิใช่ให้จำเลยรับผิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 428 ซึ่งเป็นเรื่องผู้ว่าจ้างทำของไม่ต้องรับผิดเพื่อความเสียหายอันผู้รับจ้างได้ก่อให้เกิดขึ้นแก่บุคคลภายนอกในระหว่างทำการงานที่ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้ผิดในส่วนการงานที่สั่งให้ทำ หรือในคำสั่งที่ตนให้ไว้ หรือในการเลือกหาผู้รับจ้าง เพราะตามคำฟ้องไม่ได้บรรยายว่าจำเลยว่าจ้างใครและมีส่วนผิดในการงานที่สั่งให้ทำอย่างไร อนึ่ง แม้ความรับผิด ตามมาตรา 420 อาจซ้อนกับมาตรา 428 ได้ แต่คำฟ้องโจทก์ก็จะต้องแสดงให้แจ้งชัด สภาพแห่งข้อหาและคำขอคำบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแหล่งแห่งข้อหาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 ดังนั้นที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้จำเลยรับผิดตามมาตรา 428 จึงเป็นการพิพากษาเกินคำขอ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 วรรคหนึ่ง
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share