คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1878/2519

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19, 20 แล้วก่อนประเมิน ครั้นคดีขึ้นสู่ศาลโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าการประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานไม่ถูกต้อง จึงเป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบหักล้างการประเมิน ถ้ารายใดโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ก็ต้องถือว่าการประเมินนั้นถูกต้อง
เมื่อได้มีการเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ มาพิจารณาในชั้นไต่สวนแล้วก็ถือว่าได้มีการไต่สวนโดยชอบตามประมวลรัษฎากร มาตรา 19,20 แล้ว การที่เจ้าพนักงานประเมินจะเรียกผู้ใดมาสอบถามหรือไม่และสอบถามอย่างไร เป็นดุลพินิจของเจ้าพนักงานโดยเฉพาะ ไม่มีผลทำให้การไต่สวนเสียไป
แม้ตามเอกสารของบริษัทแสดงว่าบริษัทจ่ายเงินค่าพาหนะแก่โจทก์ในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงาน แต่เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้จ่ายประสงค์จะจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อดูงานจริง ๆ หากแต่เป็นการจ่ายเป็นค่าตอบแทนในฐานะโจทก์เป็นประธานกรรมการบริษํทแล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 42(1) แต่ถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40(1)(2)
สิทธิการเช่าตึกคิดเป็นเงิน 800,000 บาท ที่โจทก์ได้มาโดยไม่ได้จ่ายค่าทดแทนถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงินได้จากการอื่นซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา 40(8)
เมื่อปรากฏว่าโจทก์ละเลยไม่เสียภาษีเงินได้ จึงสมควรที่จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 20 ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 22 ที่โจทก์อ้างว่าไม่มีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ดังกล่าว แต่เป็นเพราะโจทก์มีภารกิจหน้าที่การงานมากเรื่องภาษีอากรโจทก์ไม่ได้ทำเอง โจทก์ไม่มีความรู้ว่าต้องเสียภาษีอะไรเท่าใด คนของโจทก์จัดทำมาให้เสร็จ ทั้งขณะนั้นโจทก์กำลังประสบกับความทุกข์อย่างหนักตามที่ยกขึ้นกล่าวก็ไม่ใช่เหตุผลในกฎหมายอันทำให้โจทก์ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเสียภาษี

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ศาลสั่งว่าการประเมินให้โจกท์เสียภาษีเงินได้และเงินเพิ่มของเจ้าพนักงานประเมินสำหรับ พ.ศ. ๒๕๐๖ เป็นจำนวนเงิน ๙,๑๘๕,๗๐๔ บาท ๙๘ สตางค์ กับคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และจำเลยร่วมไม่ชอบด้วยกฎหมาย ให้เพิกถอน ทั้งให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ประเมินเสียใหม่ให้ถูกต้อง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ และจำเลยร่วมให้การว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ประเมินให้โจทก์เสียภาษีและเงินเพิ่มถูกต้องชอบด้วยกฎหมายแล้ว และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ก็เป็นไปโดยถูกต้อง
ศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงว่า โจทก์มีเงินได้พึงประเมิน พ.ศ. ๒๕๐๖ ก่อนหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนเป็นเงิน ๑๒,๒๖๔,๐๒๐ บาท ๙๓ สตางค์ และคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยยืนตามคำสั่งในส่วนนี้ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย พฤติการณ์ของโจทก์แสดงว่ามีเจตนาหลีกเลี่ยงการเสียภาษีเงินได้ โจทก์จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มร้อยละ ๒๐ แห่งเงินภาษีที่เพิ่มขึ้น พิพากษาว่าการประเมินของเจ้าพนักงานและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ตามฟ้องไม่ถูกต้องตามกฎหมายบางส่วน ที่ถูกโจทก์มีเงินได้พึงประเมินใน พ.ศ. ๒๕๐๖ ก่อนหักค่าใช้จ่ายและหักลดหย่อนเป็นเงิน ๑๒,๒๖๔,๐๒๐ บาท ๙๓ สตางค์ ให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์และเรียกเงินเพิ่มภาษีตามคำวินิจฉัยชี้ขาดดังกล่าว
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า รายการยอดเงินต่าง ๆ ที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมาทุกรายการเป็นรายการที่ไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่าให้เพิกถอนการประเมินภาษีเงินได้ตามรายการต่าง ๆ ที่โจทก์อุทธรณ์ขึ้นมา รวมทั้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และจำเลยร่วม นอกจากนี้แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น ส่วนคำขอให้สั่งให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ประเมินเงินได้ของโจทก์เสียใหม่นั้น ศาลไม่มีอำนาจบังคับ คำขอข้อนี้ของโจทก์จึงให้ยกเสีย
จำเลยที่ ๒ ที่ ๔ และจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า โจทก์แก้ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายสำหรับรายการต่าง ๆ ที่จำเลยฎีกาว่าการประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานถูกต้องนั้นว่า เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์และสอบสวนให้ได้ความแน่ชัดว่ารายการใดเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๘) เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้จึงจะมีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้ ไม่ใช่เป็นหน้าที่ของโจทก์ซึ่งเป็นผู้เสียภาษีจะต้องเป็นผู้พิสูจน์ ทั้งประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙ และ ๒๐ ก็ให้เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้ทำการตรวจสอบไต่สวนพยานหลักฐานก่อนประเมิน ศาลฎีกาเห็นว่าตามข้อเท็จจริงในสำนวนปรากฏว่า เจ้าพนักงานประเมินได้ตรวจสอบไต่สวนตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙, ๒๐ แล้ว ครั้นคดีขึ้นสู่ศาลโจทก์แล้ว เมื่อโจทก์เป็นฝ่ายกล่าวอ้างว่าขึ้นว่า การประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานรายการต่าง ๆ ดังกล่าวไม่ถูกต้องด้วยข้อเท็จจริง เป็นหน้าที่ของโจทก์ที่จะนำสืบหักล้างการประเมินของเจ้าพนักงานประเมิน ดังนั้นในรายการใดถ้าหากโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าการประเมินไม่ถูกต้อง ก็ต้องถือว่าการประเมินนั้นถูกต้อง
โจทก์แก้ฎีกาเป็นปัญหาข้อกฎหมายอีกข้อหนึ่งว่าการไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินไม่ชอบด้วยประมวลรัษฎากร มาตรา ๑๙ และมาตรา ๒๐ เพราะเงินฝากของโจทก์ในธนาคารมีเงินอื่นซึ่งมิใช่เป็นเงินได้พึงประเมินปะปนอยู่มาก แต่จำเลยเหมาเอาว่าเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๘) ทุกราย จำเลยควรจะเรียกผู้สั่งจ่ายเช็คซึ่งจำเลยรู้ตัวมาสอบถาม เพื่อให้รู้ความจริงว่าสั่งจ่ายเช็คให้โจทก์เป็นค่าอะไร ศาลฎีกาเห็นว่าเมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่าได้มีการเรียกพยานหลักฐานต่าง ๆ มาพิจารณาในชั้นไต่สวนแล้ว ย่อมต้องถือว่าได้มีการไต่สวนโดยชอบแล้ว การที่จำเลยในฐานะเจ้าพนักบานประเมินจะเรียกผู้ใดมาสอบโดยเฉพาะ และหามีผลทำให้การไต่สวนของเจ้าพนักงานประเมินเสียไปไม่
ในรายการ(ลำดับ ๙ และ ๑๐) เงินค่าพาหนะที่บริษัทไม้ขีดไฟกรุงเทพ จำกัด และบริษัทสหไม้ขีดไฟ จำกัด จ่ายให้โจทก์จำนวน ๑๐๔,๘๑๕ บาท และ ๑๐๐,๐๐๐ บาทตามลำดับนั้น ถือได้ว่าเป็นเงินได้พึงประเมินหรือไม่ ฝ่ายโจทก์นำสืบว่าบริษัทสองจ่ายให้โจกท์เป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปต่างประเทศเพื่อดูงานเกี่ยวกับโรงงานไม้ขีดไฟ โจทก์ได้ใช้จ่ายไปจริงสำหรับตัวโจทก์และผู้ติดตามอีกประมาณ ๑๐ คน โจทก์จึงควรได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๒(๑) ฝ่ายจำเลยนำสืบว่าเงินทั้งสองรายนี้เป็นเงินค่าตอบแทนในฐานะโจทก์เป็นประธานกรรมการของบริษัททั้งสองนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่าน่าเชื่อตามพยานหลักฐานของฝ่ายจำเลยว่าเป็นเงินตอบแทนในฐานะโจทก์เป็นประธานกรรมการบริษัท เพราะโจทก์เองก็ไม่ได้แสดงหลักฐานอันใดว่าโจทก์ได้ไปดูงานเกี่ยวกับโรงงานไม้ขีดไฟต่างประเทศเลย ทั้งเอกสาร ล.๓๔ ล.๓๕ และ จ.๒๙ ก็เป็นแต่เพียงหลักฐานแสดงว่าบริษัททั้งสองจ่ายเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์เพื่อเป็นค่าพาหนะเท่านั้น ซึ่งในการสั่งจ่ายเงินดังกล่าวจะเรียกเงินจำนวนนั้นอย่างไรไม่สำคัญข้อสำคัญอยู่ที่ว่า การจ่ายเงินนั้นมีวัตถุประสงค์อย่างไร เมื่อไม่ปรากฏว่าผู้จ่ายประสงค์จะจ่ายให้แก่โจทก์เพื่อดูงานเกี่ยวกับโรงงานไม้ขีดไฟจริง ๆ แล้ว โจทก์ย่อมไม่ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๒(๑) และต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๑) (๒) ซึ่งแก้ไข โดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา๑๕
รายการ(ลำดับ๑๗) สิทธิการเช่าอาคาร ๕ ห้องที่โจทก์ไดรับมาโดย ไม่ต้องจ่ายค่าทดแทนคิดเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาทนั้นเป็นรายได้อันพึงประเมินหรือไม่ โจทก์นำสืบว่า โจทก์เช่ามาจากบริษัทล่ำซำ อิมปอร์ต จำกัด โดยยังไม่ได้จ่ายค่าตอบแทนและตามคำพยานโจทก์คือนายรามินทร์ ล่ำซำ กรรมการผู้จัดการบริษัทล่ำซำ อิมปอร์ตซ้ำกัน เบิกความว่า ตั้งแต่ตึกสร้างเสร็จ เมื่อประมาณ พ.ศ.๒๕๐๔ และ พ.ศ. ๒๕๐๕ พยานไม่เคยทวงค่าก่อสร้างอาคารจากโจทก์เลย เพราะโจทก์เป็นผู้ใหญ่ ทางบริษัทเกรงใจโจทก์ ทั้งไม่เคยมีการลงบัญชีเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้เลย ส่วนจำเลยนำสืบว่า สิทธิการเช่าตึกคิดเป็นเงิน ๘๐๐,๐๐๐ บาท ที่โจทก์ได้มาโดยไม่ได้จ่ายค่าทดแทน และตามบัญชีของบริษัทล่ำซำ อิมปอร์ต จำกัด ไม่ปรากฏว่าโจทก์เป็นลูกหนี้บริษัทนี้เลย พิเคราะห์แล้วเห็นว่าข้ออ้างของฝ่ายโจทก์ที่ว่า ไม่ได้มีการทวงถามจำเลยเพราะโจทก์เป็นผู้ใหญ่ บริษัทเกรงใจนั้น ขัดต่อเหตุผลธรรมดาของผู้ประกอบธุรกิจการค้าที่จะปฏิบัติเช่นนั้น ยิ่งเมื่อพยานของโจทก์รับด้วยว่าบริษัทล่ำซำ อิมปอร์ต จำกัด ไม่ได้ลงบัญชีเกี่ยวกับสิทธิการเช่ารายนี้ไว้เป็นหลักฐานทางบริษัทด้วยแล้ว ซึ่งน่าเชื่อว่าโจทก์ได้สิทธิการเช่ารายนี้มาโดยไม่ได้จ่ายค่าทดแทน จึงถือได้ว่าเป็นทรัพย์สินหรือประโยชน์อย่างอื่นที่โจทก์ได้รับซึ่งอาจคำนวณได้เป็นเงินได้ อันเป็นเงินได้จากการอื่นซึ่งเป็นเงินได้พึงประเมินตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๔๐(๘) ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมตามโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ มาตรา ๑๕
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงต่อไปว่า การประเมินภาษีเงินได้ของเจ้าพนักงานประเมินตามรายการอื่น ๆ ที่ยังมีประเด็นโต้เถียงกันอยู่นั้น พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบฟังไม่ได้ว่าการกระประเมินไม่ถูกต้อง แล้ววินิจฉัยต่อไปว่า
ประเด็นสุดท้ายคือโจทก์มีเจตนาหลีกเลียงการเสียภาษีเงินได้จึงต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ แห่งเงินอาการที่เพิ่มขึ้นหรือไม่ ประเด็นนี้จำเลยฎีกาว่าโจทก์มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ดังคำชี้ขาดศาลชั้นต้นเพราะโจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด.๙ แสดงว่า โจทก์มีเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายเพียง ๒๘๓,๖๖๙ บาท แต่ตามคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้น โจทก์มีเงินได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายเป็นเงินถึง ๑๒,๒๓๔,๐๒๐ บาท ๙๓ สตางค์ แสดงว่าโจทก์ยื่นแบบ ภ.ง.ด. ๙ แสดงรายการว่าโจทก์มีเงินได้ต่ำกว่าเงินได้อันแท้จริงเป็นอันมาก โจทก์มีเจตนาหลีกเลี่ยงภาษี การที่ศาลชั้นต้นเรียกเก็บเงินเพิ่มภาษีร้อยละ ๒๐ จึงชอบแล้ว โดยที่ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นในทุกประเด็นที่ได้วินิจฉัยมาแล้ว เมื่อปรากฏว่าโจทก์ละเลยไม่เสียภาษีเงินได้ดังกล่าวจึงสมควรที่โจทก์จะต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๒๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ในการประเมินตามมาตรา ๒๐ หรือมาตรา ๒๑ ผู้ต้องเสียภาษีอากรต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ ๒๐ แห่งเงินภาษีอากรที่เพิ่มขึ้น ฯลฯ “ที่โจทก์ฎีกาว่าโจทก์ไม่มีเจตนาหลีกเลียงการเสียภาษีเงินได้รายนี้ โดยที่โจทก์เองก็ได้ให้ความร่วมมือกับเจ้าหนักงานประเมินภาษีในการสอบสวนเป็นอย่างดี และเป็นเพราะโจทก์มีภารกิจหน้าที่การงานมาก เรื่องภาษีอากรโจทก์ไม่ได้ทำเอง โจทก์ไม่มีความรู้ว่าต้องเสียภาษีอะไร เท่าไร คนของโจทก์จัดทำมาให้เสร็จ และขณะนั้นโจทก์กำลังประสบกับความทุกข์อย่างแสนสาหัส เพราะสามีเพิ่งถึงแก่อสัญกรรม ทั้งถูกญาติสามีฟ้องร้อง และถูกริบทรัพย์สินทั้งหมด ย่อมถือไม่ได้ว่ามีเจตนาหลีกเลียงการเสียภาษีเงินได้นั้น นับว่าเป็นได้คราวเคราะห์ร้ายอย่างยิ่งของโจทก์อันสมควรได้รับความเห็นใจโดยทั่วไป แต่เรื่องดังกล่าวก็มิใช่เป็นหตุผลโดยกฎหมายอันจะทำให้โจทก์ได้รับยกเว้นไม่ต้องเสียภาษีอากรแต่ประการใด ฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังขึ้น
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share