คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1869/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์มีความว่า เมื่อจำเลยที่ 1 ได้เข้าทำงานในองค์การโจทก์แล้ว ภายหลังได้หลบหลีกหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกงยักยอก หรือทำให้ทรัพย์สินของโจทก์ต้องสูญเสียหายไปด้วยประการใดๆ ก็ดี จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้หนี้สินหรือความเสียหายแทนจำเลยที่ 1 ต่อมาปรากฏว่าจำเลยที่ 1 พนักงานขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ ได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชน พ. ถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์ต้องร่วมรับผิดในผลแห่งละเมิดนั้นด้วย และโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ตายไปแล้วโจทก์จึงชอบที่จะได้ชดใช้จากจำเลยที่ 1 ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 แต่จำเลยที่ 1ได้หลบหนีไปและไม่ชำระหนี้สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็น ผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ในการเข้าทำงานกับโจทก์จึงต้องรับผิดต่อโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของโจทก์ในตำแหน่งพนักงานขับรถยนต์โดยสารประจำทางของโจทก์ จำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1ต่อโจทก์ในกรณีที่จำเลยที่ 1 ได้ทำให้โจทก์หรือทรัพย์สินของโจทก์ต้องเสียหายจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ด้วยความประมาทเลินเล่อชนเด็กชายพิศมัยถึงแก่ความตายแล้วหลบหนีไป โจทก์ในฐานะนายจ้างต้องจ่ายค่าสินไหมทดแทนให้แก่นายทองคำพี่ชายของผู้ตาย จึงเข้ารับช่วงสิทธิเรียกร้องเอาจากจำเลยที่ 1 และผู้ค้ำประกันต้องรับผิดด้วย ขอบังคับให้จำเลยที่ 1 ชดใช้เงินให้โจทก์พร้อมดอกเบี้ย และให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันร่วมรับผิดชดใช้ในวงเงินตามสัญญา

จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา

จำเลยที่ 2 ให้การว่า ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริง แต่จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิด เหตุรถชนเกิดจากความผิดของเด็กชายพิศมัยเอง นายทองคำไม่มีสิทธิรับค่าเสียหายจากโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาค้ำประกันไม่มีความหมายถึงการกระทำโดยประมาทของจำเลยที่ 1 ต่อบุคคลภายนอก จึงไม่ครอบคลุมถึงกรณีนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกัน พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินตามฟ้องให้แก่โจทก์ ให้ยกฟ้องจำเลยที่ 2

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 2 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการสมัครเข้าทำงานให้ไว้แก่โจทก์มีข้อความว่า “เมื่อนายอำนวย สำรวมจิตต์ (จำเลยที่ 1) ได้เข้าทำงานในองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (โจทก์) ฯลฯ แล้ว ภายหลังได้หลบหนีหายไป หรือได้ฉ้อโกง ยักยอก หรือทำให้ทรัพย์สินขององค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพต้องสูญเสียหายไปด้วยประการใด ๆ ก็ดี ข้าพเจ้า (จำเลยที่ 2) ยินยอมชดใช้หนี้สินหรือความเสียหายแทนนายอำนวย สำรวมจิตต์ ฯลฯ” ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของโจทก์ได้ขับรถยนต์โดยสารของโจทก์ในทางการที่จ้างด้วยความประมาทชนเด็กชายพิศมัยถึงแก่ความตาย ซึ่งโจทก์ต้องร่วมรับผิดกับลูกจ้างในผลแห่งละเมิดนั้นด้วยและโจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่ทายาทผู้ตายเพื่อละเมิด อันจำเลยที่ 1 ลูกจ้างได้ทำไปนั้นแล้วโจทก์จึงชอบที่จะได้ชดใช้จากจำเลยที่ 1 ลูกจ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 426 หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ จำเลยที่ 1 มีมูลหนี้หรือหนี้สินที่จะต้องชำระให้โจทก์นับแต่วันที่โจทก์ได้ใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่ทายาทผู้ตาย แต่จำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไปและไม่ชำระหนี้สินดังกล่าวให้แก่โจทก์ดังนั้น จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ในการเข้าทำงานกับโจทก์จึงต้องรับผิดตามข้อสัญญาค้ำประกัน

พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันชำระเงินแทนจำเลยที่ 1 ในวงเงินตามสัญญา

Share