แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์ลูกค้าผู้สั่งซื้อหุ้น กับจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ เป็นลักษณะของตัวการตัวแทน การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแทนโจทก์ในกิจการที่โจทก์มอบหมายให้ปฏิบัตินั้น เป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษจึงต้องใช้อายุความ 10 ปี อันเป็นลักษณะทั่วไปตาม ป.พ.พ. มาตรา 164หาใช่อายุความ 2 ปี ตาม มาตรา 165(1) หรือ (7) ไม่.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกค้าของจำเลยในการสั่งให้จำเลยเป็นตัวแทนซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ จำเลยได้เคยซื้อขายหุ้นแทนโจทก์หลายครั้ง รวมทั้งหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัด ซึ่งโจทก์มีอยู่หนึ่งหมื่นหุ้น มูลค่าหุ้นละ 100 บาท เป็นเงินหนึ่งล้านบาทจำเลยได้รับเงินปันผลไว้แทนโจทก์หลายครั้งรวมเป็นเงิน 257,850 บาทซึ่งจำเลยมิได้มอบให้โจทก์ โดยจำเลยอ้างว่าหักไว้เป็นค่าดอกเบี้ยที่โจทก์ค้างชำระ ซึ่งความจริงโจทก์ไม่เคยติดค้างหนี้สินกับจำเลยสำหรับในหุ้นราคาหนึ่งล้านบาท จำเลยก็ไม่ยอมส่งมอบให้โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยส่งมอบใบหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัดจำนวนหนึ่งหมื่นหุ้นให้โจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้จำเลยใช้เงินค่าหุ้นจำนวนหนึ่งล้านบาท กับให้จำเลยคืนเงินปันผลพร้อมดอกเบี้ยจนถึงวันฟ้องจำนวน 284,440.75 บาท และส่งมอบเงินปันผลที่จะได้รับจากหุ้นดังกล่าวพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี ของเงินปันผลที่จะได้รับนับแต่วันที่จำเลยได้รับจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 1,257,850 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งกับแก้ไขคำให้การและฟ้องแย้งว่าจำเลยได้ออกเงินทดรองค่าหุ้นเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาทไปแทนโจทก์และโจทก์ยังไม่ได้ชำระให้แก่จำเลย จำเลยจึงมีสิทธิยึดหน่วงหุ้นพิพาทไว้พร้อมทั้งนำเงินปันผลจำนวน 250,050 บาท มาชำระหนี้ที่โจทก์ยังคงค้างจำเลยอยู่ จำเลยออกเงินทดรองค่าหุ้นแทนโจทก์ตั้งแต่วันที่20 ธันวาคม 2521 โจทก์ต้องเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15 ต่อปีตั้งแต่นั้นมาจนถึงวันที่ 15 มกราคม 2516 เป็นเงิน 611,507 บาทเมื่อหักเงินปันผลแล้วคงค้างดอกเบี้ย 361,457 บาท จึงขอให้บังคับโจทก์ชำระเงิน 1,361,457 บาทแก่จำเลย และให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปีในต้นเงินหนึ่งล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 15 มกราคม2526 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระให้จำเลยเสร็จ
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า หุ้นพิพาทนี้จำเลยได้คิดหักบัญชีไปจากโจทก์แล้ว ฟ้องแย้งของจำเลยขาดอายุความ จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากหนี้ที่ขาดอายุความ ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้โจทก์ชำระเงินให้จำเลยหนึ่งล้านบาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2520จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ให้เอาเงินปันผลจำนวน 250,050 บาท หักออกเสียก่อน เมื่อจำเลยได้รับชำระหนี้แล้ว ให้จำเลยมอบใบหุ้นของบริษัทสยามเครดิตจำกัด จำนวน 10,000 หุ้นให้โจทก์ ถ้าส่งมอบไม่ได้ให้ใช้เงินจำนวนหนึ่งล้านบาทแก่โจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้โจทก์ชำระดอกเบี้ยนับตั้งแต่วันที่ 20 ธันวาคม 2521 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ฎีกาข้อแรกเป็นปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องแย้งของจำเลยที่เรียกเงินทดรองจ่ายค่าหุ้นซึ่งชำระแทนโจทก์ไปเป็นจำนวนหนึ่งล้านบาทนั้น จำเลยมิได้ฟ้องเสียภายในกำหนดระยะเวลา 2 ปีจึงขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(1) (7)ศาลฎีกาเห็นว่าการดำเนินธุรกิจซื้อขายหุ้นของโจทก์ได้กระทำโดยผ่านทางจำเลยซึ่งเป็นสมาชิกของตลาดหลักทรัพย์ การจะซื้อหรือขายหุ้นเป็นจำนวนเท่าใดมีมูลค่าอย่างไร จำเลยจะต้องกระทำไปตามคำสั่งของโจทก์ทั้งสิ้น ตลอดจนรายละเอียดต่าง ๆ ที่ถือปฏิบัติต่อกันระหว่างโจทก์และจำเลยเพื่อให้เกิดความสะดวกรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์สำหรับธุรกิจประเภทนี้ก็ได้มีข้อตกลงเป็นเงื่อนไขกันไว้ล่วงหน้า กรณีจึงเป็นเรื่องจำเลยกระทำไปตามขั้นตอนซึ่งเป็นคำสั่งของโจทก์และข้อตกลงดังกล่าวโดยตลอด จำเลยมิได้มีอำนาจในการที่จะใช้ดุลพินิจของตนเองในการดูแลกิจการของโจทก์ ดังนั้น ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเป็นลักษณะของตัวการตัวแทน การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินที่ได้ทดรองจ่ายไปแทนโจทก์ในกิจการที่โจทก์มอบหมายให้ปฏิบัติ จึงเป็นเรื่องตัวแทนเรียกเอาเงินชดใช้จากตัวการ ซึ่งในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นพิเศษ จึงต้องใช้อายุความ 10 ปีอันเป็นลักษณะทั่วไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 164หาใช่อายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(1) (7) ดังที่โจทก์เข้าใจไม่ฎีกาโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.