คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1864/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากอสังหาริมทรัพย์และออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ จำเลยให้การเพียงว่าที่งอกริมตลิ่งตามฟ้องเป็นที่สาธารณประโยชน์ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย จึงเท่ากับมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ กรณีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โดยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ศาลแขวงจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับขับไล่จำเลยและบริวารออกจากบ้านเลขที่ ท.36/7 ซอยโกสีย์ 31 ถนนโกสีย์ ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และออกไปจากที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์ ห้ามไม่ให้เกี่ยวข้องในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป กับให้จำเลยใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เดือนละ 2,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจำเลยและบริวารจะออกจากบ้านและที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่งอกริมตลิ่งตามฟ้องเป็นที่ชายตลิ่งอันเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินสำหรับพลเมืองใช้ร่วมกัน มิใช่กรรมสิทธิ์ของโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา โจทก์แถลงไม่ติดใจบังคับจำเลยในส่วนค่าเสียหายรายเดือน ส่วนจำเลยรับว่าได้ลงลายมือชื่อในสัญญาเช่าตามฟ้องจริง ศาลชั้นต้นเห็นว่า คดีพอวินิจฉัยได้ จึงมีคำสั่งงดสืบพยานโจทก์และพยานจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์สินและสัมภาระออกไปจากบ้านเลขที่ ท.36/7 ถนนโกสีย์ ซอยเทพวิถี 31 (ตรอกวิศวกรไทย) ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ และให้ออกจากที่ดินซึ่งเป็นที่งอกริมตลิ่งของโจทก์โฉนดเลขที่ 5562 ตำบลปากน้ำโพ อำเภอเมืองนครสวรรค์ จังหวัดนครสวรรค์ ห้ามมิให้เกี่ยวข้องในบ้านและที่ดินของโจทก์อีกต่อไป ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยอุทธรณ์โดยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถา
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายกคำพิพากษาศาลชั้นต้น ให้เพิกถอนคำสั่งศาลชั้นต้นที่รับโอนคดี และให้ศาลชั้นต้นส่งสำนวนคืนศาลจังหวัดนครสวรรค์เพื่อดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไป สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมศาลที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ดำเนินคดีอย่างคนอนาถาและค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์นอกจากนี้ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นชอบหรือไม่ โดยโจทก์ฎีกาว่า แม้จำเลยจะอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ แต่ตามคำให้การดังกล่าวมีความหมายในทำนองโต้แย้งกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนพิพาท จึงเป็นคดีมีทุนทรัพย์ เมื่อโจทก์จำเลยตกลงราคาที่ดินส่วนพิพาทกันเป็นเงินจำนวน 120,000 บาท จึงอยู่ในอำนาจของศาลชั้นต้นที่จะพิจารณาพิพากษาคดีนั้น เห็นว่า คดีนี้จำเลยให้การเพียงว่าที่ดินพิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ โจทก์จึงไม่มีกรรมสิทธิ์ ไม่ได้กล่าวอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยแต่อย่างใด จึงเท่ากับมิได้กล่าวแก้เป็นข้อพิพาทด้วยกรรมสิทธิ์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย กรณีจึงเป็นคดีไม่มีทุนทรัพย์ โดยเป็นคดีฟ้องขับไล่บุคคลใดๆ ออกจากอสังหาริมทรัพย์ ศาลชั้นต้นจึงไม่มีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี ทั้งนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 17 ประกอบมาตรา 25 (4)
ส่วนที่โจทก์ฎีกาว่า คำฟ้องอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 172 และการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นเมื่อพ้นระยะเวลาที่กฎหมายกำหนด เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า สำหรับข้อที่อ้างว่าอุทธรณ์ของจำเลยไม่ชอบนั้น โจทก์ชอบที่จะตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ เมื่อมิได้ตั้งประเด็นไว้ในคำแก้อุทธรณ์ก็ย่อมไม่มีสิทธิที่จะยกขึ้นกล่าวอ้างในชั้นฎีกา ส่วนที่อ้างว่าการที่ศาลชั้นต้นรับอุทธรณ์ของจำเลยที่ยื่นเกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นการไม่ชอบนั้น เมื่อพิจารณาจากคำสั่งศาลชั้นต้นในคำร้องขอขยายระยะเวลายื่นอุทธรณ์ฉบับลงวันที่ 23 มกราคม 2549 ปรากฏว่า ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ขยายอุทธรณ์ถึงวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2549 หาใช่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2549 ดังที่โจทก์อ้างในฎีกาไม่ เมื่อจำเลยยื่นอุทธรณ์วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2549 จึงยื่นภายในกำหนดเวลา ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับอุทธรณ์ของจำเลยไว้จึงชอบแล้ว ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้นต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้เป็นคดีขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ตามตาราง 1 (2) (ก)ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท จึงให้คืนค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เกินมาแก่โจทก์”
พิพากษายืน ค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาส่วนที่เสียเกินมาแก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นฎีกานอกจากที่สั่งคืนให้เป็นพับ

Share