คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1863/2543

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

รถคู่กรณีทั้งสองคันจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดง แต่จำเลยที่ 1กลับขับรถชนท้ายรถผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายลงจากรถมาเจรจา ต่อมาผู้เสียหายเผลอ จำเลยที่ 2 ขึ้นรถของผู้เสียหายจะขับหลบหนีไป เมื่อผู้เสียหายได้ร้องห้าม กลับขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหาย โดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 2นำรถของผู้เสียหายไป เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถของผู้เสียหายได้ห่างจากที่เกิดเหตุหลายร้อยเมตร จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้มือตีแขนและคอของผู้เสียหายขณะผู้เสียหายพยายามจะหยุดรถที่จำเลยที่ 1 ขับตามจำเลยที่ 2ไป เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดฐานปล้นทรัพย์
จำเลยที่ 3 นั่งรถมากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ต้น ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 อยู่ด้วยตลอดเวลา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 มาโดยตลอด และหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกันเชื่อว่ามีการวางแผนร่วมกันมาก่อน และเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับพวก จึงเป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83, 91, 340, 340 ตรี, 371 พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522มาตรา 67 ริบสนับมือและเครื่องช็อตไฟฟ้าของกลาง

จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 340 วรรคสอง, 340 ตรี, 371พระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 มาตรา 67 ฐานร่วมกันปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธและโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดให้จำคุกคนละ 18 ปีฐานพาอาวุธไปในเมือง ทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันสมควรให้ปรับคนละ90 บาท ฐานใช้เครื่องหมายทะเบียนรถยนต์ที่นายทะเบียนออกให้สำหรับรถคันหนึ่งมาใช้กับรถอีกคันหนึ่งให้ปรับคนละ 900 บาท รวมจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 18 ปี และปรับคนละ 990 บาท ชั้นจับกุมจำเลยทั้งสามให้การรับสารภาพ ประกอบกับทางนำสืบของจำเลยทั้งสามเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาอยู่บ้าง มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกจำเลยทั้งสามคนละ 12 ปีและปรับคนละ 660 บาท ริบสนับมือและเครื่องช็อตไฟฟ้าของกลาง

จำเลยทั้งสามอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 22เมษายน 2540 เวลา 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ขับรถติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 อ – 1663 กรุงเทพมหานคร มีจำเลยที่ 2 และที่ 3นั่งมาด้วย ชนท้ายรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ษ – 2727 กรุงเทพมหานครที่นายบรรจง พันธุ์ศุภถาวร ผู้เสียหายเป็นผู้ขับ ขณะจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่บริเวณทางแยกถนนเพชรบุรีตัดกับถนนอโศกได้รับความเสียหาย กันชนหลังด้านซ้ายเป็นรอยถลอก จำเลยที่ 1 ลงจากรถมาตกลงค่าเสียหายกับผู้เสียหายขณะรอตัวแทนของบริษัทประกันภัย จำเลยที่ 2ได้ขึ้นรถผู้เสียหายขับหนีไป โดยจำเลยที่ 1 ขับรถติดตามจำเลยที่ 2 ไปจำเลยที่ 2 ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาว่ากระทำผิดฐานปล้นทรัพย์ คดีถึงที่สุดแล้ว ปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ปล้นเอารถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ษ – 2727กรุงเทพมหานคร ของผู้เสียหายไปหรือไม่ โจทก์มีนายบรรจง พันธุ์ศุภถาวรผู้เสียหายเบิกความว่า หลังจากเกิดเหตุรถชนกันแล้ว จำเลยที่ 1 ได้ลงจากรถมาเจรจาค่าเสียหายกับผู้เสียหายกับได้แจ้งบริษัทประกันภัยให้รับทราบเหตุและถามจำเลยที่ 1 ถึงชื่อบริษัทประกันภัยรถยนต์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งในขณะนั้นจำเลยที่ 1 นั่งประจำอยู่ในที่นั่งคนขับในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับมาส่วนจำเลยที่ 2 ยืนอยู่ข้างท้ายรถของผู้เสียหาย ขณะที่ผู้เสียหายรอจำเลยที่ 1ค้นหากรมธรรม์ประกันภัยอยู่นั้น จำเลยที่ 2 ได้ขับรถของผู้เสียหายออกไปผู้เสียหายร้องห้ามและขวางหน้ารถไว้ แต่จำเลยที่ 2 กลับพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายจนต้องกระโดดหลบผู้เสียหายวิ่งมาที่รถจำเลยที่ 1 ซึ่งกำลังจะขับตามจำเลยที่ 2 ไป และพยายามหยุดรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับโดยใช้มือจับพวงมาลัยรถและดึงลูกกุญแจรถออก จำเลยที่ 1 ใช้มือตีที่แขนและคอของผู้เสียหายและขับรถไปทั้ง ๆ ที่ผู้เสียหายยังจับพวงมาลัยรถอยู่ ผู้เสียหายวิ่งตามไป 20 เมตรจึงปล่อยมือ ผู้เสียหายไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองจำเลยที่ 1 และที่ 3 มาก่อนน่าเชื่อว่าเบิกความไปตามความจริง ที่จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ฎีกาต่อสู้ว่าขณะเจรจาค่าเสียหายกันนั้น ผู้เสียหายมีอาการเมาสุราพูดไม่รู้เรื่องและพูดจาหยาบคาย จำเลยที่ 1 จึงสั่งให้จำเลยที่ 2 ขับรถของผู้เสียหายไปสถานีตำรวจนครบาลทองหล่อ เพื่อขอให้เจ้าพนักงานตำรวจช่วยเจรจาไกล่เกลี่ยให้นั้นเห็นว่า เมื่อเกิดเหตุรถชนกันหากตกลงเรื่องค่าเสียหายกันไม่ได้ จำเลยที่ 1ก็ควรที่จะโทรศัพท์แจ้งให้เจ้าพนักงานตำรวจเข้ามาดำเนินการให้ เพราะในวันเกิดเหตุปรากฏว่าคู่กรณีทั้งสองฝ่ายต่างก็มีโทรศัพท์และได้โทรศัพท์แจ้งให้บริษัทประกันภัยฝ่ายตนทราบ จึงไม่มีเหตุผลอันใดที่จำเลยที่ 1จะสั่งให้จำเลยที่ 2 ขับรถของผู้เสียหายไปสถานีตำรวจโดยไม่บอกและไม่นำตัวผู้เสียหายไปด้วย ข้อต่อสู้ของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาต่อสู้อีกว่า นายนิพนธ์ คุณเจริญ พยานโจทก์ซึ่งเป็นคนกลางเบิกความว่าไม่เห็นจำเลยที่ 1 ใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายนั้น เห็นว่า นายนิพนธ์เบิกความตอบคำถามค้านของทนายจำเลยทั้งสามว่าบริเวณหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่น นอกจากเหตุการณ์รถผู้เสียหายกับจำเลยที่ 1 ชนกันแล้วไม่มีเหตุการณ์อะไรอื่นอีก และเห็นรถสองคันขับตามกันไปในลักษณะปกติและไม่เห็นใครวิ่งตามรถทั้งสองคันไปนั้น ตามภาพถ่ายหมาย จ.13 ภาพที่ 1 และที่ 2 แสดงให้เห็นว่าป้อมยามหน้าสถานเอกอัครราชทูตญี่ปุ่นที่นายนิพนธ์พยานโจทก์ประจำนั้นอยู่ทางด้านซ้ายมือส่วนเหตุการณ์จำเลยที่ 1 ขับรถออกไปโดยผู้เสียหายจับพวงมาลัยรถและจำเลยที่ 1 ใช้มือตีที่แขนและคอผู้เสียหายนั้น ขณะนั้นจำเลยที่ 1 นั่งอยู่ในตำแหน่งคนขับรถซึ่งอยู่ทางด้านขวา เมื่อเหตุการณ์ต่าง ๆ เกิดขึ้นทางด้านขวาของตัวรถ ย่อมเป็นไปได้ที่นายนิพนธ์อาจไม่เห็นเหตุการณ์ขณะที่จำเลยที่ 1 ใช้มือตีทำร้ายผู้เสียหายเพราะมีตัวรถบังอยู่ จึงเบิกความว่าไม่มีเหตุการณ์อะไรอื่นอีก คำพยานโจทก์ดังกล่าวมิได้ขัดกันตามที่จำเลยที่ 1 และที่ 3 ฎีกาแต่อย่างใด รถที่จำเลยที่ 1 ขับมาเป็นรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ฉ – 9495 กรุงเทพมหานครของนางสาววนิดา จิตติพัฒนกุลชัยแต่ได้ติดแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 อ – 1663 กรุงเทพมหานคร ของนายอดุลย์ ฉายอรุณที่สูญหายไปเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม2538 ซึ่งนายอรุณได้แจ้งความไว้ต่อเจ้าพนักงานตำรวจแล้ว เจ้าพนักงานตำรวจค้นพบแผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 6 ฉ – 9495กรุงเทพมหานครอยู่ในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับด้วย และหลังเกิดเหตุรถชนกันจำเลยที่ 1 กลับแจ้งต่อบริษัทประกันภัยว่ารถหมายเลขทะเบียน 6 ฉ – 9495กรุงเทพมหานครชนรถคู่กรณีตามเอกสารหมาย ล.6 ถึง ล.8 แสดงให้เห็นถึงเจตนาของจำเลยที่ 1 มาตั้งแต่เริ่มแรก โดยการใช้แผ่นป้ายทะเบียนรถยนต์หมายเลขทะเบียน 5 อ – 1663 กรุงเทพมหานครยังเป็นของบุคคลอื่นมาติดด้านหน้ารถคันที่จำเลยที่ 1 ขับ เพื่อให้บุคคลอื่นเข้าใจว่ารถคันดังกล่าวเป็นรถหมายเลขทะเบียน 5 อ – 1663 กรุงเทพมหานคร และก่อนเกิดเหตุรถคู่กรณีทั้งสองคันจอดติดสัญญาณไฟจราจรสีแดงอยู่ แต่จำเลยที่ 1กลับขับรถชนท้ายรถผู้เสียหายเพื่อให้ผู้เสียหายลงจากรถมาเจรจา ต่อมาผู้เสียหายเผลอจำเลยที่ 2 ขึ้นรถของผู้เสียหายจะขับหลบหนีไป เมื่อผู้เสียหายได้ร้องห้าม จำเลยที่ 2 กลับขับรถพุ่งเข้าใส่ผู้เสียหายโดยจำเลยที่ 1 เป็นผู้สั่งให้จำเลยที่ 2 นำรถของผู้เสียหายไป เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถของผู้เสียหายได้ห่างจากที่เกิดเหตุหลายร้อยเมตร จึงเป็นการเอาทรัพย์ไปเพื่อแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ได้ใช้มือตีแขนและคอของผู้เสียหาย ขณะผู้เสียหายพยายามจะหยุดรถที่จำเลยที่ 1ขับตามจำเลยที 2 ไปนั้น เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อให้ความสะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป จำเลยที่ 1 จึงมีความผิดตามฟ้องสำหรับจำเลยที่ 3 ที่ฎีกาว่าไม่ได้ร่วมกระทำผิดด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยที่ 3นั่งรถมากับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ตั้งแต่ต้น ขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 3 อยู่ด้วยตลอดเวลา แสดงว่าจำเลยที่ 3 ทราบการกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2มาโดยตลอดและหลังเกิดเหตุก็หลบหนีไปด้วยกัน เชื่อว่ามีการวางแผนร่วมกันมาก่อนและเป็นการแบ่งหน้าที่กันทำ พฤติการณ์เช่นนี้เห็นได้ว่าจำเลยที่ 3 มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับพวก ถือได้ว่าจำเลยที่ 3 เป็นตัวการร่วมกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 กระทำความผิดฐานปล้นทรัพย์ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 และที่ 3 นั้น ชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยที่ 1 และที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share