แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตาม พ.ร.บ.อากรการฆ่าสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2490 มาตรา 3 นายกเทศมนตรีซึ่งเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.อากรการฆ่าสัตว์ มีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ใดฆ่าสุกรได้ตามเหตุผลอันสมควร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจกท์ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ ๑ มีตำแหน่งเป็นนายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองปากพนังขออนุญาตฆ่าสุกรโดยยอมเสียฆ่าอาชญาบัตรตามกฎหมายในคำร้องมีคำสั่งว่า “คณะเทศมนตรีได้หารือมีมติตกลงอนุญาตให้ผู้รับอนุญาตเพียง ๓ คน ฉะนั้นจึงไม่อนุญาตให้ผู้อื่นทำได้ ” โจทก์เห็นว่าคำสั่งของจำเลยที่ ๑ เป็นคำสั่งที่ไม่มีอำนาจและเป็นคำสั่งที่ปราศจากบทกฎหมายอ้างอิง จึงขอให้ศาลเพิกถอนมติของคณะเทศมนตรี และสั่งให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์เป็นผู้รับอนุญาตฆ่าสุกรได้และให้จำเลยใช้ค่าเสียหายด้วย
จำเลยให้การว่า ได้สั่งไม่อนุญาตให้โจทก์ฆ่าสุกรโดยสุจริตโดยหลักกฎหมายและนโยบายของกระทรวงมหาดไทย โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหาย
วันนัดพร้อม จำเลยแถลงว่า การที่โจทก์ขออนุญาตนั้น โจทก์ได้ปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมายทุกอย่างและจำเลยไม่อนุญาตเพราะจำเลยถือว่าอยู่ในดุลยพินิจของจำเลย โจทก์จึงขอถอนเฉพาะเรื่องค่าเสียหาย ศาลชั้นต้นงดสืบพยานแล้วพิพากษาให้จำเลยอนุญาตให้โจทก์ฆ่าสุกรโดยเสียอา+บัตรได้ แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าการสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตอยู่ในดุลยพินิจของจำเลยพิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่าตาม พ.ร.บ.อากรการฆ่าสัตว์(ฉบับที่ ๒ ) พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๓ จำเลยมีอำนาจสั่งอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้ผู้ใดฆ่าสุกรได้ตามเหตุอันสมควร มิใช่ต้องอนุญาตทุกรายไป คดีไม่ปรากฎว่าจำเลยได้สั่งไปโดยไม่สุจริตหรือมีเหตุผิดอันไม่ควรประการใด
พิพากษายืน