แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยได้ครอบครองที่พิพาทถึง 30 ปี ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่และได้รับ น.ส.3. ต่อมาทางราชการได้รังวัดปักหลักเขตทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะ จำเลยได้ฟ้องเจ้าพนักงานเป็นคดีแพ่ง เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน จำเลยยอมรับว่าที่พิพาทเป็นที่สาธารณประโยชน์ และฝ่ายเจ้าพนักงานยินยอมให้จำเลยครอบครองที่พิพาทไปก่อน โดยจะดำเนินการให้ทางราชการถอนสภาพที่พิพาทนั้น เปิดโอกาสให้จำเลยจับจองครอบครองที่พิพาท แม้จะยังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เพิกถอนที่ดินดังกล่าวก็ตาม ก็เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่าจำเลยเข้าครอบครองโดยชอบ หาได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมายไม่ จึงขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญา จำเลยไม่มีความผิด (อ้างฎีกาที่ 1462/2509)
ย่อยาว
คดีสองสำนวนนี้พิจารณาพิพากษารวมกัน
โจทก์ฟ้องและขอแก้ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองสำนวนได้กระทำผิดกฎหมายเข้ายึดถือครอบครองแผ้วถางทำลายป่าและตัดฟันไม้หวงห้ามในส่วนหนึ่งของป่าโคกหนองพลวงซึ่งเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์ ทางราชการประกาศเป็นทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณสมบัติของแผ่นดินมาตั้งแต่ปี 2467 ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 4, 6, 7, 11, 54, 55, 72, 73; (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16, 17 พระราชกฤษฎีกากำหนดไม้หวงห้าม พ.ศ. 2504 มาตรา 3, 4 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 บังคับให้จำเลยออกจากป่าที่แผ้วถางและครอบครอง นับโทษจำเลยทั้งสองสำนวนติดต่อกัน และต่อจากคดีอาญาแดงที่ 1188/2509 ของศาลชั้นต้นเดียวกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว ฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยแผ้วถางป่าตัดฟันไม้หวงห้ามดังฟ้อง ในที่ดินที่จำเลยมีสิทธิครอบครองและได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ ทั้งโจทก์นำสืบไม่ได้ว่าจำเลยเข้าครอบครองภายหลังที่ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พิพากษาให้ยกฟ้องทั้งสองสำนวน
โจทก์อุทธรณ์ขอให้ลงโทษตามฟ้องทั้งสองสำนวน
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า จำเลยได้แผ้วถางป่า ตัดฟันไม้หวงห้ามประเภท ก. ชนิดและจำนวนดังฟ้อง แต่เนื้อที่ที่จำเลยแผ้วถางครอบครองเพียง 7 ไร่ 2 งานเท่านั้น สภาพที่ดินดังกล่าวเป็นสาธารณสมบัติของแผ่นดินที่ราษฎรใช้ประโยชน์ร่วมกัน การถอนสภาพให้กระทำโดยพระราชกฤษฎีกาตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 8 ซึ่ง จนปัจจุบันก็ยังมิได้มีการเพิกถอน จำเลยอ้างสิทธิครอบครองตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ ล.1 ที่เจ้าพนักงานออกให้ ก็ยังเป็นความผิดทั้งสองสำนวน พิพากษากลับ ให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. 2484 มาตรา 11, 54, 72, 73 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 11, 16, 17 ประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 9, 108 อันเป็นการกระทำผิดตามกฎหมายหลายบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 ลงโทษจำเลยทั้งสองสำนวนตามพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2503 มาตรา 17 ซึ่งเป็นบทหนัก ให้จำคุกจำเลยสำนวนละ 6 เดือน โดยไม่นับโทษติดต่อกัน แต่ให้รอการลงโทษทั้งสองสำนวนไว้ภายในกำหนด 3 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 56 บังคับให้จำเลยทั้งสองสำนวนออกจากป่าที่แผ้วถางและครอบครอง
จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยแผ้วถางป่ากับตัดฟันไม้หวงห้ามในที่เกิดเหตุซึ่งเป็นที่สาธารณประโยชน์ทำเลเลี้ยงสัตว์จริง แต่ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยได้ครอบครองที่พิพาทมาช้านานถึง 30 ปี ได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ตามเอกสารใบเสร็จที่ส่งศาล ได้รับ น.ส.3 เอกสาร ล.1 เมื่อปี 2505 ก่อนที่ทางราชการออกไปรังวัดปักหลักเขตทำเลเลี้ยงสัตว์สาธารณะเมื่อปี 2507 จำเลยก็โต้แย้งถึงฟ้องพวกเจ้าพนักงานเป็นคดีแพ่ง เมื่อทำสัญญาประนีประนอมยอมความในคดีที่อ้างถึงมีความว่าจำเลยยอมรับว่าที่ดินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของที่สาธารณประโยชน์ ฝ่ายเจ้าพนักงานยินยอมให้จำเลยครอบครองที่ดินตามเอกสาร ล.1 ไปก่อน โดยจะดำเนินการให้ทางราชการถอนสภาพที่ดินนั้นเปิดโอกาสให้จำเลยจับจองครอบครองที่ดินตามเอกสาร ล.1 แม้จะยังมิได้มีพระราชกฤษฎีกาให้เพิกถอนที่ดินดังกล่าวก็ตาม เป็นพฤติการณ์ที่ทำให้จำเลยเข้าใจโดยสุจริตว่า จำเลยเข้าครอบครองโดยชอบ หาได้จงใจฝ่าฝืนกฎหมายไม่ ขาดเจตนาอันเป็นองค์ประกอบความผิดทางอาญาจำเลยจึงไม่มีความผิดตามฟ้อง ดังนัยคำพิพากษาฎีกาที่ 1462/2509
พิพากษากลับ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นในผลที่ให้ยกฟ้อง