แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
การที่ผู้ขายในต่างประเทศ กำหนดราคาลดลงจากราคาเดิมที่ผู้นำเข้าเคยนำเข้ามา เพราะเมื่อผู้นำเข้านำสินค้ารถยนต์พิพาทเข้ามาครั้งก่อน ผู้นำเข้าขายได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ การลดราคาให้ผู้นำเข้าครั้งนี้ก็เพื่อสนับสนุนการขายของผู้นำเข้าให้มีผู้ซื้อมากขึ้น โดยคำนึงถึงการแข่งขันกับรถยนต์ยี่ห้ออื่นในระดับเดียวกันราคาที่ลดลงจึงเป็นราคาที่ผู้ขายในต่างประเทศลดราคาให้เป็นพิเศษเพื่อขายแข่งกับรถยนต์ที่นำเข้ายี่ห้ออื่น ซึ่งเป็นเพียงนโยบายทางการค้าเท่านั้น จึงหาใช่ราคาที่ซื้อขายกันโดยปกติไม่ ราคาดังกล่าวจึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้เพิกถอนการประเมินภาษีศุลกากรที่โจทก์นำสินค้ารถยนต์เข้ามาในราชอาณาจักร
จำเลยให้การว่า ราคาที่โจทก์สำแดงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด การประเมินของพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลภาษีอากรกลางพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าโจทก์ซื้อชิ้นส่วนรถยนต์ยี่ห้อนิสสัน รุ่นบิกเอ็ม จากบริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นแล้วนำเข้ามาในราชอาณาจักรประกอบเป็นรถยนต์จำหน่ายในประเทศ เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2529โจทก์นำชิ้นส่วนรถยนต์ดังกล่าวเข้าโดยสำแดงราคาไว้คันละ548,070 เยน เป็นราคา ซี.ไอ.เอฟ วันที่ 14 มีนาคม 2530 โจทก์นำสินค้าดังกล่าวเข้าอีกโดยเพิ่มชิ้นส่วนมากขึ้น ยื่นใบขนสินค้า5 ฉบับ สำแดงราคาไว้คันละ 502,594 เยน วันที่ 31 มีนาคม 2530โจทก์นำเข้าอีก ครั้งนี้ลดชิ้นส่วนลงราคา 3,358 เยน สำแดงราคาคันละ 499,236 เยน เจ้าพนักงานประเมินของจำเลยได้ประเมินราคาเพิ่มขึ้นเป็นคันละ 548,094 เยน และ 544,736 เยน ตามลำดับ คดีมีประเด็นขึ้นมาสู่ศาลฎีกาประเด็นแรกว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ โจทก์นำสืบว่าราคาที่โจทก์สำแดงไว้ในใบขนสินค้าทั้ง 8 ฉบับ ถูกต้องตรงกับราคาที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ขายให้โจทก์ตามที่ระบุไว้ในใบยืนยันราคา และเลตเตอร์ออฟเครดิต เป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ส่วนราคาที่โจทก์นำเข้าก่อนหน้านี้คือเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2529 นั้นสูงเกินไป เป็นเหตุให้ราคาต้นทุนในการผลิตออกจำหน่ายสูงกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่น โจทก์จึงไม่สามารถขายรถยนต์แข่งขันกับรถยนต์ยี่ห้ออื่นในระดับเดียวกันได้โจทก์จึงขอให้บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กำหนดราคาใหม่โดยลดราคาลงมาเพื่อให้ต้นทุนต่ำลงและขายแข่งกับรถยี่ห้ออื่นในระดับเดียวกันได้ บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่นจึงกำหนดราคาใหม่และเป็นราคาที่โจทก์สำแดงในใบขนสินค้าขาเข้าดังกล่าวแล้ว ปัญหาจะต้องวินิจฉัยจึงมีว่า ราคาที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กำหนดใหม่ลดลงจากราคาเดิมนั้นเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาดหรือไม่ เห็นว่า การที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กำหนดราคาลดลงจากราคาเดิมที่โจทก์นำเข้าเมื่อวันที่ 14 กันยายน 2529 เพราะเมื่อนำเข้าครั้งนั้นแล้วรถยนต์ของโจทก์ขายได้น้อยกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้การลดราคาให้โจทก์ก็เพื่อสนับสนุนการขายของโจทก์ให้มีผู้ซื้อมากขึ้น โดยคำนึงถึงการแข่งขันกับรถยนต์ยี่ห้องอื่นในระดับเดียวกันราคาที่ลดลงดังกล่าวจึงเป็นราคาที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัดประเทศญี่ปุ่น ผู้ขายลดราคาให้เป็นพิเศษเพื่อขายแข่งกับรถยนต์ยี่ห้องอื่นซึ่งเป็นเพียงนโยบายทางการค้าเท่านั้น จึงหาใช่ราคาที่ซื้อขายกันโดยปกติไม่ นอกจากนี้ยังปรากฏจากเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 28 ว่า การขายรถยนต์บรรทุกเล็กในเดือนมกราคม 2530 รถยนต์ยี่ห้อนิสสันบิกเอ็มราคาขายคันละ 214,000 บาท รถยนต์ยี่ห้องโตโยต้าขายคันละ 219,000 บาท รถยนต์ยี่ห้องอีซูซุขายคันละ 216,000 บาทรถยนต์ยี่ห้อมาสด้า ขายคันละ 216,000 บาท แสดงให้เห็นว่า ราคาขายรถยนต์ของโจทก์ถูกกว่ารถยนต์ยี่ห้ออื่น ฉะนั้นการขายรถยนต์ของโจทก์ต่ำกว่าเป้าหมายจึงหาใช่เรื่องราคาไม่ ความปรากฏต่อไปตามคำเบิกความของนายปรีชา พงษ์เพ็ชร์ พยานโจทก์ประกอบเอกสารหมาย จ.1แผ่นที่ 29 และ 30 ว่า ในระยะที่นำของเข้านั้นเงินเยนมีราคาสูงขึ้นทำให้โจทก์ต้องชำระราคาชิ้นส่วนเป็นเงินเยนแพงขึ้น แสดงว่าราคาทุนของสินค้าจะต้องสูงขึ้น การลดราคาลงมาจากเดิมจึงมิใช่ราคาต้นทุนที่จะนำมาคำนวณเป็นราคาอันแท้จริงในท้องตลาด ทั้งยังปรากฏด้วยว่าโจทก์เองหาได้ลดราคาขายลงมาไม่ ดังปรากฏจากเอกสารหมายจ.1 แผ่นที่ 28 ว่า ราคาขายรถยนต์ของโจทก์ในเดือนมกราคม 2530 คันละ214,000 บาท เดือนกุมภาพันธ์ คันละ 216,000 บาท เดือนพฤษภาคมคันละ 225,000 บาท เดือนมิถุนายน คันละ 228,000 บาท เดือนกันยายนคันละ 234,000 บาท ดังนี้แสดงว่าราคาต้นทุนหาได้ลดลงไม่ ราคาที่บริษัทนิสสันมอเตอร์ จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ลดให้แก่โจทก์จึงมิใช่ราคาอันแท้จริงในท้องตลาด หากเป็นการลดให้เป็นพิเศษตามคำขอของโจทก์เพื่อนโยบายทางการค้าของโจทก์เท่านั้น ฉะนั้นการที่จำเลยถือเอาราคานำเข้าของโจทก์เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2529 เป็นเกณฑ์ในการคำนวณประเมินราคาเพื่อเก็บอากรขาเข้าสำหรับชิ้นส่วนรถยนต์กระบะตามใบขนสินค้าทั้ง 8 ฉบับ จึงชอบแล้ว ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้วินิจฉัยประเด็นอื่นด้วยนั้นไม่เป็นสาระแก่คดีจึงไม่จำเป็นต้องวินิจฉัยต่อไป ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาชอบแล้วอุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.