คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1853/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยลงพิมพ์บทความหมิ่นประมาทโจทก์และ ป. ในครั้งเดียวกันเป็นการกระทำกรรมเดียว เมื่อ ป. ได้ฟ้องจำเลยในความผิดกรรมนี้จนมีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา39(4).

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นนักเขียนคอลัมน์ประจำในหนังสือพิมพ์รายวัน จำเลยที่ 2 เป็นบรรณาธิการ ผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์ฉบับดังกล่าว จำเลยทั้งสองร่วมกันกระทำความผิดหลายกรรม กล่าวคือ จำเลยที่ 1 ใส่ความโจทก์ต่อบุคคลที่สามด้วยการโฆษณาในเอกสารว่า ‘ข่าวใหญ่ของสังคมเมืองหลวงวันนี้น่าจะได้แก่ข่าวจิรภาบุตรีพลโทจวน วรรณรัตน์ กับเจ้าโฉมชบากำลังหาทนายความทำเรื่องขอหย่าขาดกับประมุท สูตะบุตร ผู้สามีซึ่งมีความสนิทชิดชอบไม่คลายต่อสุภาพสตรีชื่อสุรีย์ พันธ์เจริญขณะเดียวกันมาดามจิรภาตัดสินใจแน่นอนแล้วว่าจะสมรสใหม่กับนักธุรกิจหนุ่มแห่งนครลอสแองเจลิส ชื่อเชาวน์ บูรณสมบัติผู้เพิ่งถูกภรรยาชื่อกัณหาประกาศขอหย่าแยกทางเดิน’ ซึ่งมีความมุ่งหมายให้ผู้อื่นหรือบุคคลที่สามเข้าใจว่าโจทก์มีความแตกแยกในครอบครัวถึงขั้นจะหย่าขาดจากสามีเพราะสามีโจทก์ไปติดพันผู้หญิงชื่อสุรีย์ พันธ์เจริญ และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกับจำเลยที่1 ด้วยการนำเอาข้อความดังกล่าวลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์’ดาวสยาม’ ประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2524 หลายครั้ง ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83, 91, 326, 328, 332 ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยามประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน 2524ให้โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดลงในหนังสือพิมพ์
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ว คดีมีมูล ให้ประทับฟ้องไว้พิจารณา
ก่อนสืบพยานโจทก์ โจทก์ถอนฟ้องคดีเฉพาะจำเลยที่ 2ศาลชั้นต้นอนุญาต
จำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยที่ 1 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326, 328 ให้ลงโทษตามมาตรา 328 จำคุก 3 เดือน และปรับ 4,000 บาท แต่ให้รอการลงโทษจำคุกไว้ 2 ปี ตามมาตรา56, 58 โทษปรับให้บังคับตามมาตรา 29, 30 ให้ยึดและทำลายหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยามฉบับประจำวันพฤหัสบดีที่ 12 พฤศจิกายน2524 กับให้จำเลยที่ 1 โฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดลงในหนังสือพิมพ์รายวันดาวสยามเป็นเวลา 7 วันติดต่อกัน ข้อหาและคำขออื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย
จำเลยที่ 1 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้ว วินิจฉัยว่าการกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ลงพิมพ์บทความดังกล่าวในหนังสือพิมพ์ในคราวเดียวกัน แม้จะเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และนายประมุท สูตะบุตร สามีโจทก์ด้วย การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นกรรมเดียว ไม่ใช่แยกเป็นต่างกรรมต่างวาระกัน เมื่อนายประมุทฟ้องจำเลยที่ 1 ต่อศาลแขวงธนบุรี ขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ฐานหมิ่นประมาทในคราวเดียวกันนี้ และศาลแขวงธนบุรีได้พิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 ไปแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5487/2525 โจทก์จะฟ้องจำเลยในความผิดอันเป็นกรรมเดียวกันนั้นอีกหาได้ไม่สิทธินำคดีมาฟ้องย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกาว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นการหมิ่นประมาทโจทก์และนายประมุท สูตะบุตร แม้จะได้กระทำในครั้งเดียวกัน ก็เป็นความผิดหลายกรรมขอให้ลงโทษจำเลยที่ 1 ตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า จำเลยที่ 1ได้ลงพิมพ์บทความในหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ ประจำวันพฤหัสบดีที่12 พฤศจิกายน 2524 หมิ่นประมาทโจทก์และนายประมุท สูตะบุตร นายประมุทได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดฐานหมิ่นประมาทดังกล่าวต่อศาลแขวงธนบุรี ศาลแขวงธนบุรีพิพากษาลงโทษจำเลยที่ 1 แล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5487/2525 ของศาลแขวงธนบุรี คดีถึงที่สุดแล้วก่อนที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาคดีนี้
คดีคงมีปัญหาในชั้นนี้เพียงว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดกรรมเดียวหรือหลายกรรม ศาลฎีกาเห็นว่า แม้บทความของจำเลยที่ 1 ที่ลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ ‘ดาวสยาม’ ประจำวันพฤหัสบดีที่12 พฤศจิกายน 2524 เป็นข้อความที่หมิ่นประมาทโจทก์และนายประมุทสูตะบุตร ก็ตาม แต่โจทก์และนายประมุทต่างก็ถูกหมิ่นประมาทเพราะการกระทำของจำเลยที่ 1 ในครั้งเดียวกัน จึงเป็นการกระทำอันเป็นกรรมเดียว และหาได้ทำให้เกิดผลเป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตามที่โจทก์ยกขึ้นเป็นข้อฎีกาไม่ การกระทำผิดดังกล่าว โจทก์และนายประมุทผู้เสียหายมีสิทธิฟ้องคดีร่วมกันหรือเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีเดียวกันหรือแยกกันฟ้องเป็นรายคดีก็ได้ตราบใดที่ศาลยังไม่ได้พิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดนั้น แต่ข้อเท็จจริงปรากฏว่านายประมุทได้ฟ้องจำเลยที่ 1 ในความผิดซึ่งเกิดจากการกระทำของจำเลยที่ 1 อันเป็นกรรมเดียวกันนี้ต่อศาลแขวงธนบุรี และได้มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดในความผิดซึ่งได้ฟ้องนั้นแล้วตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 5487/2525 ของศาลแขวงธนบุรี ดังนั้น สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์ย่อมระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4) ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.

Share