คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1850/2544

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้อำนาจนายจ้างที่จะกำหนดวันหยุดตามประเพณีได้เองปีละไม่น้อยกว่าสิบสามวัน โดยไม่ต้องไปทำความตกลงกับลูกจ้าง จึงมิใช่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 18, 20 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถกำหนด วันหยุดตามประเพณีได้ตามกฎหมาย
จำเลยออกประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีตามบทกฎหมายดังกล่าว แม้ไม่มีวันที่ประกาศใช้และไม่มี ลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยก็ไม่ทำให้ประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณี ตกเป็นโมฆะเนื่องจากกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ประกาศดังกล่าวจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลย ให้ต้องปฏิบัติตาม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างค้างจ่าย ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณี และค่าชดเชย
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยชำระค่าจ้างค้างจ่ายเป็นเงิน 3,866 บาท พร้อมดอกเบี้ย ร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันถูกเลิกจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขอของโจทก์นอกนั้นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิจารณาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์ละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควรหรือไม่ และโจทก์มีสิทธิได้ค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีจากจำเลยหรือไม่ เห็นว่า ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 9 วรรคหนึ่งและวรรคสอง บัญญัติว่า “ให้นายจ้างประกาศกำหนดวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่าปีละสิบสามวันโดยรวมวันแรงงานแห่งชาติด้วย
ถ้าวันหยุดตามประเพณีวันใดตรงกับวันหยุดประจำสัปดาห์ให้เลื่อนวันหยุดตามประเพณีวันนั้นไปหยุด ในวันทำงานถัดไป”
บทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวให้อำนาจนายจ้างที่จะกำหนดวันหยุดตามประเพณีได้เองปีละไม่น้อยกว่าสิบสามวัน โดยไม่ต้องไปทำความตกลงกับลูกจ้าง จึงมิใช่เป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างตาม พ.ร.บ. แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 18, 20 จำเลยซึ่งเป็นนายจ้างสามารถกำหนดวันหยุดตามประเพณีได้ตามกฎหมาย จำเลยประกาศวันหยุดงานตามประเพณีปี 2541 โดยไม่ได้กำหนดวันวิสาขบูชาเป็นวันหยุดตามประเพณีด้วยซึ่งโจทก์ทราบประกาศดังกล่าวแล้ว แม้จะไม่มีวันที่ประกาศใช้และไม่มีลายมือชื่อกรรมการผู้จัดการหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลยก็ไม่ทำให้ ประกาศดังกล่าวตกเป็นโมฆะ เนื่องจากการกำหนดวันหยุดตามประเพณีนั้นกฎหมายมิได้กำหนดแบบไว้ ประกาศจึงมีผลผูกพันโจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยให้ต้องปฏิบัติตาม เมื่อจำเลยไม่ได้กำหนดให้วันที่ 10 พฤษภาคม 2541 เป็นวันหยุดตามประเพณี วันที่ 11 พฤษภาคม 2541 จึงมิใช่วันหยุดชดเชยวันหยุดตามประเพณีแต่เป็นวันทำงาน โจทก์ไม่มาทำงานตั้งแต่วันที่ 11 ถึงวันที่ 13 พฤษภาคม 2541 จึงเป็นการละทิ้งหน้าที่เป็นเวลาสามวันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 47 (5) จำเลยมีสิทธิเลิกจ้างโจทก์ได้โดยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปี และค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีที่ศาลแรงงานกลางพิพากษามานั้นชอบแล้ว
พิพากษายืน .

Share