แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยได้รับยกให้ที่ดินภายหลังจากประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 เมื่อหนังสือยกให้ไม่ได้ระบุว่าให้เป็นสินสมรสจึงต้องถือว่าที่ดินของจำเลยเป็นสินส่วนตัว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1471(3) จำเลยจึงมีอำนาจจัดการ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1473 จำเลยทำสัญญาประนีประนอมยอมความให้มีทางภารจำยอมเพื่อประโยชน์แก่โจทก์ในที่ดินดังกล่าวโดยมิได้รับความยินยอมจากภริยา จึงมีผลผูกพันจำเลย สัญญาประนีประนอมยอมความ มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนที่ดินเป็นภารจำยอมให้โจทก์เป็นสัญญาก่อตั้งภารจำยอมในที่พิพาท เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญา โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความมีข้อตกลงคือ จำเลยซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินยินยอมให้โจทก์และบริวารเดินผ่านที่ดินของจำเลยทางทิศตะวันตกเพื่อออกสู่ถนนสาธารณประโยชน์โดยยินยอมให้โจทก์ถมดินเป็นถนนและฝังท่อระบายน้ำตลอดแนวจนกว่าจะถึงถนนสาธารณประโยชน์ระยะทางยาวประมาณ 3 เส้น โดยโจทก์เป็นผู้เสียหายค่าใช้จ่ายเอง และจำเลยตกลงจะจดทะเบียนให้ถนนดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมแก่โจทก์โดยจำเลยเป็นผู้ชำระค่าธรรมเนียม แต่โจทก์ไม่สามารถดำเนินการก่อสร้างทำถนนได้ เนื่องจากจำเลยขัดขวางอีกทั้งยังไม่จดทะเบียนภารจำยอมให้แก่โจทก์อีกด้วย เป็นการผิดสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้พิพากษาว่าทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมและให้จำเลยไปจดทะเบียนเป็นทางภารจำยอมที่ดินแก่โจทก์ภายใน 30 วันนับแต่มีคำพิพากษา หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย และห้ามมิให้จำเลยกับบริวารขัดขวางในการที่โจทก์จะดำเนินการสร้างถนนบนที่พิพาท
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความตามเอกสารท้ายฟ้องเป็นนิติกรรมที่ไม่สมบูรณ์และไม่อาจนำมากล่าวอ้างบังคับจำเลยได้ กล่าวคือที่ดินของจำเลยตามฟ้อง เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับนางเฉลียว ปิ่นเงิน ภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายของจำเลยนางเฉลียวมิได้ร่วมรู้เห็นยินยอมและมิได้ลงลายมือชื่อในนิติกรรมด้วย อีกทั้งนางเฉลียวก็มิได้ให้สัตยาบันในการที่จำเลยทำนิติกรรมดังกล่าวแต่อย่างใด จำเลยบอกเลิกสัญญาแก่โจทก์แล้ว จึงไม่มีผลผูกพันจำเลยตามกฎหมายอีกต่อไป ทั้งสัญญาดังกล่าวเป็นเพียงบุคคลสิทธิโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้จดทะเบียนภารจำยอมได้ ขอให้ยกฟ้อง
นางเฉลียว ปิ่นเงิน ภรรยาจำเลย ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่พิพาทเป็นภารจำยอมและให้จำเลยจดทะเบียนที่พิพาทดังกล่าวเป็นทางภารจำยอมแก่โจทก์ หากจำเลยไม่ปฏิบัติก็ให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาของจำเลย ห้ามมิให้จำเลยกับบริวารขัดขวางในการที่โจทก์จะดำเนินการสร้างถนนบนทางพิพาท
จำเลยและจำเลยร่วมอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลยและจำเลยร่วมฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว คดีมีปัญหามาสู่ศาลฎีกาตามฎีกาของจำเลยและจำเลยร่วมว่า โจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความตามฟ้องหรือไม่ เห็นว่าตามสัญญาประนีประนอมยอมความ เอกสาร จ.1 เป็นเรื่องที่โจทก์กล่าวอ้างว่า โจทก์ได้สิทธิในทางภารจำยอมบนที่ดินของจำเลยโดยผลของนิติกรรม ที่จำเลยฎีกาว่าที่ดินของจำเลยซึ่งเป็นภารยทรัพย์เป็นสินสมรสระหว่างจำเลยกับจำเลยร่วม จำเลยทำนิติกรรมก่อให้เกิดภารจำยอมในภารยทรัพย์โดยจำเลยร่วมไม่รู้เห็นยินยอมด้วย นิติกรรมดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ตามกฎหมายไม่มีผลบังคับนั้น พยานหลักฐานที่โจทก์จำเลยนำสืบได้ความว่า ที่ดินของจำเลยที่เป็นภารยทรัพย์เดิมเป็นของนางทองดี ปิ่นเงิน มารดาจำเลยนางทองดี ได้จดทะเบียนยกที่ดินดังกล่าวให้แก่จำเลยเมื่อ พ.ศ. 2521… ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยได้รับยกให้ที่ดินภารยทรัพย์ในวันที่จดทะเบียนเมื่อพ.ศ. 2521 อันเป็นเวลาภายหลังจากการประกาศใช้พระราชบัญญัติให้ใช้บทบัญญัติ บรรพ 5 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่ได้ตรวจชำระใหม่ พ.ศ. 2519 แล้วที่ดินที่ได้รับยกให้จะเป็นสินสมรสหรือสินส่วนตัวจึงต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายดังกล่าว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5 ที่ได้ตรวจชำระใหม่ มาตรา 1471สินส่วนตัวได้แก่ ทรัพย์สิน (3) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยการรับมรดกหรือโดยการให้โดยเสน่หา มาตรา 1474 สินสมรสได้แก่ทรัพย์สิน (2) ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้มาระหว่างสมรสโดยพินัยกรรมหรือโดยการให้เป็นหนังสือเมื่อพินัยกรรมหรือหนังสือยกให้ระบุว่าเป็นสินสมรสข้อเท็จจริงปรากฏว่า นางทองดีได้ทำหนังสือยกให้ที่ดินแก่จำเลยแต่ฝ่ายเดียวตามเอกสารหมาย จ.3 โดยไม่ได้ระบุไว้ในหนังสือยกให้ว่าให้เป็นสินสมรส จึงต้องถือว่าที่ดินภารยทรัพย์ของจำเลยเป็นสินส่วนตัวของจำเลยตามบทกฎหมายดังกล่าวข้างต้นมาตรา 1473 บัญญัติว่าสินส่วนตัวของคู่สมรสฝ่ายใดให้ฝ่ายนั้นเป็นผู้จัดการ ดังนั้นจำเลยจึงมีสิทธิทำนิติกรรมก่อให้เกิดภารจำยอมในที่ดินภารยทรัพย์อันเป็นสินส่วนตัวของจำเลยได้เองตามลำพังโดยไม่ต้องได้รับความยินยอมจากจำเลยร่วม สัญญาประนีประนอมยอมความจึงมีผลผูกพันจำเลย ส่วนที่จำเลยและจำเลยร่วมอ้างว่า การได้ทางภารจำยอมโดยนิติกรรมไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่จึงไม่สมบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 โจทก์ไม่สามารถนำนิติกรรมดังกล่าวมาฟ้องบังคับให้ไปจดทะเบียนภารจำยอมได้นั้น เห็นว่าสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 เป็นสัญญาก่อตั้งภารจำยอมในทางพิพาท โดยมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนภารจำยอมให้โจทก์ใช้เป็นทางออกสู่ทางสาธารณประโยชน์ เมื่อจำเลยไม่ปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องบังคับจำเลยซึ่งเป็นคู่สัญญาให้ไปจดทะเบียนทางพิพาทเป็นทางภารจำยอมได้ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาประนีประนอมยอมความเอกสารหมาย จ.1 ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาจำเลยและจำเลยร่วมฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน