แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
บทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่ง ป.วิ.พ. แก้ไขเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ภายหลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่มีผลใช้บังคับแล้ว คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของวรรคหนึ่งแห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีความหมายแต่เพียงว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในครั้งถัดๆ มานั้น หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดในครั้งก่อนที่มีผู้เสนอซื้อไว้ และเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในครั้งหลังนี้ไปได้ โดยไม่จำต้องฟังว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะคัดค้านว่าราคาต่ำไปหรือไม่อีก ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้โดยไม่ชักช้า หาได้มีความหมายว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวในครั้งถัดๆ มา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อในครั้งก่อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าราคาที่ผู้เสนอซื้อครั้งหลังเป็นราคาที่สมควรหรือไม่และไม่มีอำนาจเคาะไม้ขายหากเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่มีผู้เสนอซื้อในครั้งก่อน การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะเนิ่นช้าไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่น่าจะประสงค์ให้เกิดผลเช่นนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทรัพย์จำนองรายนี้ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาที่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้ซื้อทรัพย์เสนอไว้ในครั้งก่อนแต่สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 คัดค้านในการขายครั้งที่ 6 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดครั้งพิพาทให้จำเลยที่ 2 และ ส. ผู้ซื้อทรัพย์เดิมทราบ เพื่อเข้ามาดูแลการขายทอดตลาดและรักษาสิทธิในการขายทอดตลาดครั้งพิพาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย ทำให้ได้ราคาต่ำเกินสมควรนั้น จำเลยที่ 2 มิได้ยื่นคำร้องในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็นและเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ย่อยาว
คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 5,771,204.18 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีของต้นเงิน 5,573,903.27 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยผ่อนชำระเป็นรายเดือนเดือนละไม่น้อยกว่า 85,000 บาท ชำระงวดแรกภายในเดือนมกราคม 2542 และชำระส่วนที่ค้างทั้งหมดภายในเดือนธันวาคม 2544 จำเลยทั้งสองผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ โจทก์ขอบังคับคดีและนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินโฉนดเลขที่ 186282 ตำบลตลาดขวัญ (บางซื่อ) อำเภอเมืองนนทบุรี (ตลาดขวัญ) จังหวัดนนทบุรี พร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 ออกขายทอดตลาด บริษัทเบต้าแคปปิตอล จำกัด เป็นผู้ซื้อที่ดินได้จากการขายทอดตลาดในราคา 6,000,000 บาท
จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องขอให้เพิกถอนการขายทอดตลาด
โจทก์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำคัดค้านขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน ให้จำเลย (ที่ถูก จำเลยที่ 2) ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 1,500 บาท แทนโจทก์และผู้ซื้อทรัพย์
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ข้อแรกว่า การขายทอดตลาดทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทอดตลาดทรัพย์จำนองให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาต่ำกว่าราคาที่นายสุริยะเสนอซื้อไว้ในการขายทอดตลาดครั้งก่อนและมีราคาต่ำกว่าร้อยละ 80 ของราคาประเมินของเจ้าพนักงานบังคับคดี โดยการขายทอดตลาดเริ่มต้นในราคาร้อยละ 50 ของราคาประเมิน เป็นการฝ่าฝืนต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง (เดิม) หรือไม่ เห็นว่า บทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ 21) พ.ศ.2547 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 9 มกราคม 2548 คดีนี้จำเลยที่ 2 ยื่นฎีกาวันที่ 13 ธันวาคม 2548 ภายหลังจากบทบัญญัติมาตรา 309 ทวิ ที่แก้ไขใหม่มีผลบังคับใช้แล้ว คำร้องของจำเลยที่ 2 จึงตกอยู่ภายใต้บังคับของวรรคหนึ่ง แห่งบทบัญญัติมาตราดังกล่าวที่แก้ไขใหม่ ซึ่งบัญญัติเกี่ยวกับประเด็นตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า “…หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งต่อไปในจำนวนสูงกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในการขายทอดตลาดทรัพย์สินนั้น” ซึ่งเป็นบทบัญญัติในทำนองเดียวกับบทบัญญัติเดิมตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกา คือ “หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าจำนวนที่ผู้เสนอราคาสูงสุดได้เสนอในการขายทอดตลาดทรัพย์สินครั้งก่อน ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคานั้นได้” ทั้งตามบทบัญญัติเดิมและบทบัญญัติที่แก้ไขใหม่ดังกล่าว ย่อมมีความหมายแต่เพียงว่า ในการขายทอดตลาดทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาในครั้งถัด ๆ มานั้น หากมีผู้เสนอราคาสูงสุดไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดในครั้งก่อนที่มีผู้เสนอซื้อไว้และเจ้าพนักงานบังคับคดีเห็นว่าเป็นราคาที่สมควรขายได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็ชอบที่จะเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในครั้งหลังนี้ไปได้เลยโดยไม่จำต้องฟังว่าเจ้าหนี้ตามคำพิพากษา ลูกหนี้ตามคำพิพากษาหรือผู้มีส่วนได้เสียในการบังคับคดีจะคัดค้านว่าราคาต่ำไปหรือไม่อีก ทั้งนี้ เพื่อให้การบังคับคดีดำเนินต่อไปได้โดยไม่ชักช้า หาได้มีความหมายว่าในการขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวในครั้งถัด ๆ มา เจ้าพนักงานบังคับคดีจะต้องเคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุดในจำนวนไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อในครั้งก่อนดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ หากแปลความบทบัญญัติดังกล่าวดังที่จำเลยที่ 2 ฎีกา ก็อาจเกิดข้อขัดข้องในการบังคับคดีตามคำพิพากษาคดีนี้ได้ เช่น ในกรณีที่เกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำลงอย่างต่อเนื่อง ย่อมมีผลกระทบต่อตลาดอสังหาริมทรัพย์ ทำให้ที่ดินมีราคาตกต่ำลงอย่างต่อเนื่องด้วยเช่นกัน ดังนั้น ในการขายทอดตลาดทรัพย์ในครั้งถัด ๆ มา จึงอาจไม่มีผู้ใดมาเสนอซื้อทรัพย์รายนี้ในราคาที่ไม่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อนได้ เจ้าพนักงานบังคับคดีก็จะไม่สามารถเคาะไม้ขายทรัพย์รายนี้ได้เลยไม่ว่าเวลาจะผ่านไปช้านานเท่าใด หากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ดีขึ้น หรือมิฉะนั้นหากลูกหนี้ตามคำพิพากษาต้องการประวิงการขายทอดตลาดทรัพย์ของตนก็อาจสมคบกับบุคคลภายนอกให้มาเสนอซื้อทรัพย์ไว้ในราคาที่สูงกว่าราคาปกติมาก ๆ ย่อมเป็นที่เห็นได้ว่าในการขายทอดตลาดครั้งถัด ๆ ไป เป็นการยากที่จะมีผู้เสนอซื้อทรัพย์ในราคาที่ไม่น้อยกว่าราคาทรัพย์ที่มีผู้สร้างราคาซื้อขายไว้ในครั้งก่อนได้ หากเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่มีอำนาจใช้ดุลพินิจพิจารณาว่าราคาที่ผู้เสนอซื้อครั้งหลังเป็นราคาที่สมควรหรือไม่ และไม่มีอำนาจเคาะไม้ขายหากเป็นราคาที่ต่ำกว่าราคาที่มีผู้เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อน การขายทอดตลาดทรัพย์ของลูกหนี้ตามคำพิพากษาก็จะเนิ่นช้าไปโดยไม่มีกำหนด ซึ่งตามเจตนารมณ์ของกฎหมายไม่น่าจะประสงค์ให้เกิดผลเช่นนั้น ดังนั้น การที่เจ้าพนักงานบังคับคดีเคาะไม้ขายทรัพย์จำนองรายนี้ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคาที่น้อยกว่าราคาสูงสุดที่มีผู้ซื้อทรัพย์เสนอซื้อไว้ในครั้งก่อนแต่สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 2 คัดค้านในการขายครั้งที่ 6 จึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นการกระทำที่ฝ่าฝืนต่อบทบัญญัติของมาตรา 309 ทวิ วรรคหนึ่ง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล
ปัญหาตามฎีกาของจำเลยที่ 2 ว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่แจ้งกำหนดวันขายทอดตลาดครั้งพิพาทให้จำเลยที่ 2 และนายสุริยะ ผู้ซื้อทรัพย์เดิมทราบเพื่อเข้ามาดูแลการขายทอดตลาดและรักษาสิทธิในการขายทอดตลาดครั้งพิพาท จึงเป็นการใช้ดุลพินิจโดยไม่ชอบด้วยกฎหมายทำให้ได้ราคาต่ำเกินสมควร เห็นว่า เลยที่ 2 มิได้ยื่นคำร้องในปัญหาดังกล่าว ฎีกาของจำเลยที่ 2 จึงเป็นฎีกานอกฟ้องนอกประเด็น และเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย ฎีกาข้อนี้ของจำเลยที่ 2
พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 2 ใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 1,500 บาท แทนโจทก์