คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1846/2540

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยได้บรรยายถึงหลักเกณฑ์ข้อตกลงตามสัญญาเกี่ยวกับอัตราและระยะเวลาการชำระดอกเบี้ยในกรณีปกติและในกรณีผิดนัดผิดสัญญาไว้โดยละเอียดครบถ้วน จึงเป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหาคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้วส่วนกรณีที่ว่าจำเลยชำระดอกเบี้ยไปแล้วจำนวนเท่าใด ในอัตราเท่าใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่เคลือบคลุม ตามข้อสัญญากู้เงินระบุว่าถ้าจำเลยไม่ชำระหนี้ก็ดีหรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องก็ดี โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จากต้นเงินกู้ที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกรณีมีการชำระหนี้ถูกต้องตามสัญญา ดอกเบี้ยที่กำหนดให้มีอัตราสูงขึ้นดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่โจทก์และจำเลยตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยจะต้องชดใช้เมื่อจำเลยไม่ชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามสัญญาจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยตามสัญญาในกรณีปกตินั้นมีอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี เป็นอย่างสูง การที่โจทก์กำหนดเบี้ยปรับไว้ในลักษณะเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปีซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติเกือบเท่าตัวนับว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรคืออัตราร้อยละ 18 ต่อปีได้

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า วันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 50,000,000 บาท ดอกเบี้ยในอัตราขั้นต่ำที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ประกาศใช้สำหรับเงินกู้ที่มีกำหนดชำระคืนเกิน 1 ปี ซึ่งในขณะทำสัญญาเท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปีแต่ต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ บวกด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปีสำหรับ 1 ปีแรกนับแต่วันเบิกเงินกู้ ในปีต่อไปบวกด้วยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี ชำระดอกเบี้ยในวันทำการสิ้นเดือนแต่ละเดือนส่วนเงินต้นชำระงวดละ 1,000,000 บาท โดยเริ่มชำระงวดแรกวันที่ 1 มีนาคม 2533 งวดต่อไปทุกวันที่ 1 ของเดือนถัดไปจนกว่าจะครบ หากจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่าจะเป็นดอกเบี้ยหรือเงินต้นงวดใดงวดหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดในจำนวนหนี้ทั้งหมดและหนี้ทั้งหมดถึงกำหนดชำระทันทีและยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยของเงินต้นที่ค้างชำระได้ในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนสามารถเรียกเก็บจากลูกค้าเงินกู้ได้ซึ่งเท่ากับอัตราร้อยละ 21 ต่อปี จำเลยที่ 1 ได้รับเงินไปจากโจทก์ครบถ้วนแล้ว จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างของจำเลยที่ 2 รวม 8 แปลง มาจดทะเบียนจำนองไว้ต่อโจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ทุกชนิดของผู้จำนองและจำเลยที่ 1 ในวงเงิน50,000,000 บาท ดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี และหากมีการฟ้องร้องบังคับจำนองได้เงินสุทธิน้อยกว่าหนี้ที่ค้างชำระจำเลยที่ 2ยอมให้ยึดทรัพย์สินอื่นออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนครบจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ไว้ต่อโจทก์โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม จำเลยที่ 1 ไม่ได้ชำระเงินต้นแก่โจทก์ ส่วนดอกเบี้ยนั้นชำระครั้งสุดท้ายเพียงวันที่ 19 มิถุนายน2534 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระอีก จำเลยที่ 1 ค้างชำระเงินต้น50,000,000 บาท และดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนนี้นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534 จนถึงวันฟ้องรวม 491 วันคิดเป็นเงิน 14,124,657.53 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 64,124,657.53บาท ก่อนฟ้องโจทก์ให้ทนายความมีหนังสือทวงถามและบอกกล่าวบังคับจำนองแล้ว แต่จำเลยทั้งสี่เพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน 64,124,657.53 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของต้นเงิน 50,000,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ หากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างโฉนดเลขที่ 8734, 8735,22844, 22845, 22846 และ 24771 ตำบลศรีภูมิ (ช้างเผือก)อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และตราจองเลขที่ 29, 191ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์ หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
จำเลยที่ 1 และที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 1 มิได้ผิดนัดชำระเงินต้นและดอกเบี้ย จำเลยที่ 1 ชำระเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์แล้วกว่า 15,000,000 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 21 ต่อปี แต่มีสิทธิคิดได้ไม่เกินร้อยละ 13.5 ต่อปีจำเลยที่ 1 และที่ 3 ไม่เคยได้รับคำบอกกล่าวและประกาศเรื่องอัตราดอกเบี้ยจากโจทก์ ฟ้องเรื่องดอกเบี้ยของโจทก์เป็นฟ้องเคลือบคลุม ขณะที่จำเลยที่ 3 ลงชื่อในสัญญาค้ำประกันหนี้ระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 ยังไม่เกินและไม่มีผลบังคับ จำเลยที่ 3ไม่ต้องรับผิดในฐานะส่วนตัวหรือในฐานะผู้ค้ำประกัน ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ผิดนัดหรือผิดสัญญาโจทก์จึงบังคับเอาแก่หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 2 ไม่ได้ หากจำเลยที่ 1ต้องรับผิดจำเลยที่ 1 มีหลักทรัพย์พอที่โจทก์จะบังคับได้โจทก์ต้องบังคับเอาแก่หลักทรัพย์ของจำเลยที่ 1 ก่อน โจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยที่ 2 ทราบมาก่อนว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดโจทก์ผ่อนระยะเวลาชำระหนี้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2หาได้รู้เห็นยินยอมไม่ จำเลยที่ 2 จึงพ้นความรับผิด หากศาลเห็นว่าจำเลยที่ 2 ต้องรับผิดร่วมด้วย จำเลยที่ 2 จะรับผิดไม่เกินวงเงินที่ประกันเท่านั้น ขอให้ยกฟ้อง
จำเลยที่ 4 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันชำระเงินจำนวน50,000,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปีนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จหากจำเลยทั้งสี่ไม่ยอมชำระหนี้ให้ยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างบนที่ดินโฉนดเลขที่ 8734, 8735, 22844, 22845, 22846 และ 24771ตำบลศรีภูมิ (ช้างเผือก) อำเภอเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่และตราจองเลขที่ 29 และ 191 ตำบลช้างเผือก อำเภอเมืองเชียงใหม่จังหวัดเชียงใหม่ ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้โจทก์หากได้เงินไม่พอชำระหนี้ให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสี่ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้ให้แก่โจทก์จนครบ
โจทก์และจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดใช้ดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 21 ต่อปี นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จจากต้นเงิน50,000,000 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่าวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2532 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 50,000,000 บาท โดยจำเลยที่ 1 ได้รับเงินครบถ้วนแล้วมีจำเลยที่ 2 จดทะเบียนจำนองที่ดินรวม 8 แปลง เป็นประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ไว้แก่โจทก์ ในวงเงิน 50,000,000 บาท ดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปี หากบังคับจำนองได้เงินไม่พอชำระหนี้ ยินยอมให้โจทก์บังคับเอาจากทรัพย์สินอื่นของจำเลยที่ 2 นอกจากนี้จำเลยที่ 3 และที่ 4 ทำสัญญาค้ำประกันการชำระหนี้ของจำเลยที่ 1ไว้ต่อโจทก์ในวงเงินคนละ 50,000,000 บาท โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ข้อแรกว่าฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเคลือบคลุมหรือไม่ความหมายตามปัญหาคือการบรรยายฟ้องของโจทก์เกี่ยวกับอัตราดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเก็บจากจำเลยที่ 1 นั้น โจทก์บรรยายมาเพียงพอให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เข้าใจหรือไม่ว่าโจทก์คิดดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 เท่าใด ฟ้องโจทก์ข้อ 2 บรรยายว่าจำเลยที่ 1ทำสัญญากู้เงินโจทก์ไป ฯลฯ และยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่เบิกใช้และค้างชำระในอัตราขั้นต่ำสำหรับเงินกู้ที่มีกำหนดการชำระคืนเกิน 1 ปี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัดสำนักงานใหญ่ ประกาศใช้ซึ่งขณะทำสัญญากู้เท่ากับอัตราร้อยละ 12 ต่อปี แต่ต่อไปอาจเปลี่ยนแปลงได้ บวกด้วยอัตราร้อยละ 1 ต่อปี สำหรับระยะเวลา 1 ปีแรกนับแต่วันเบิกเงินกู้ส่วนในปีต่อ ๆ ไปจำเลยที่ 1 ยินยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราขั้นต่ำสำหรับเงินกู้ที่มีกำหนดการชำระคืนเกิน 1 ปี ที่ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สำนักงานใหญ่ประกาศใช้ บวกด้วยอัตราร้อยละ 1.5 ต่อปี โดยจำเลยที่ 1 สัญญาว่าจะชำระดอกเบี้ยของเงินกู้ที่เบิกถอนไปและยังค้างชำระให้แก่โจทก์เป็นรายเดือน โดยจะชำระภายในวันทำการสิ้นเดือนแต่ละเดือนของโจทก์ เริ่มชำระตั้งแต่เดือนแรกที่ทำการเบิกถอนเงินกู้เป็นต้นไปและฟ้องโจทก์ข้อ 4 บรรยายว่าหลังจากจำเลยที่ 1 ได้รับเงินกู้ไปจากโจทก์แล้ว จำเลยที่ 1 ก็มิได้ชำระหนี้ให้แก่โจทก์ตามที่ตกลงในสัญญากู้ ฯลฯ ส่วนดอกเบี้ยนั้นจำเลยที่ 1 ได้ชำระให้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายถึงเพียงวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หลังจากนั้นก็ไม่ได้ชำระให้แก่โจทก์อีกเลย จำเลยที่ 1 จึงมีหนี้เฉพาะดอกเบี้ยในการที่ผิดนัดในอัตราเท่ากับอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนเรียกเก็บจากผู้กู้ได้ ปัจจุบันเท่ากับอัตราร้อยละ 21 ต่อปี ของยอดเงินต้น 50,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534 จนถึงวันฟ้องคือวันที่ 22 ตุลาคม 2535รวม 491 วัน เป็นเงิน 14,124,657.53 บาท เห็นว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยได้บรรยายถึงหลักเกณฑ์ข้อตกลงตามสัญญาเกี่ยวกับอัตราและระยะเวลาการชำระดอกเบี้ยในกรณีปกติและในกรณีผิดนัดผิดสัญญาไว้โดยละเอียดครบถ้วน จึงเป็นการบรรยายโดยชัดแจ้งซึ่งสภาพแห่งข้อหา คำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาแล้ว ส่วนกรณีที่จำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยไปแล้วจำนวนเท่าใด ในอัตราเท่าใดเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณาฟ้องโจทก์ในเรื่องนี้จึงไม่เคลือบคลุม
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ข้อต่อไปว่า อัตราดอกเบี้ยที่จำเลยทั้งสี่จะต้องรับผิดต่อโจทก์ในกรณีผิดนัดเป็นเบี้ยปรับหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญากู้เงินเอกสารหมาย จ.15 ข้อ 2.4 ระบุว่าในกรณีผู้กู้ผิดนัดชำระดอกเบี้ยหรือต้นเงินกู้ ผู้กู้ยอมเสียดอกเบี้ยสำหรับต้นเงินกู้ที่ค้างชำระในอัตราสูงสุดเท่าที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้บริษัทเงินทุนเรียกเก็บได้จากลูกค้าเงินกู้ตลอดระยะเวลาที่ผิดนัดโดยผู้ให้กู้มิต้องบอกกล่าวก่อนและตามประกาศธนาคารแห่งประเทศไทยเอกสารหมาย จ.10ข้อ 6 ระบุว่าให้บริษัทเงินทุนเรียกดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมได้ในอัตราไม่เกินร้อยละ 21 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2533เป็นต้นไป และตามข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ชำระดอกเบี้ยจนถึงวันที่ 19 มิถุนายน 2534 หลังจากนั้นมิได้ชำระดอกเบี้ยอีกเลยแสดงว่าจำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระดอกเบี้ยนับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534ตลอดมาจนถึงวันฟ้อง ดังนั้นตามข้อสัญญาดังกล่าวมาถ้าจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องก็ดี โจทก์มีสิทธิเรียกดอกเบี้ยจากจำเลยที่ 1 ได้ในอัตราร้อยละ 21 ต่อปีจากต้นเงินกู้ที่ค้างชำระซึ่งเป็นอัตราดอกเบี้ยสูงกว่าที่กำหนดไว้ในกรณีมีการชำระหนี้ถูกต้องตามสัญญา ดอกเบี้ยที่กำหนดให้มีอัตราสูงขึ้นดังกล่าวเป็นค่าเสียหายที่โจทก์และจำเลยที่ 1ตกลงกันไว้ล่วงหน้าว่าจำเลยที่ 1 จะต้องชดใช้เมื่อจำเลยที่ 1ไม่ชำระหนี้ในกำหนดเวลาตามสัญญาจึงมีลักษณะเป็นเบี้ยปรับ
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยที่ 1 ถึงที่ 3ข้อสุดท้ายว่า ดอกเบี้ยที่กำหนดให้จำเลยทั้งสี่ชำระแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์สูงเกินส่วนหรือไม่เห็นว่า ดอกเบี้ยที่โจทก์เรียกเอาจากจำเลยที่ 1 ตามสัญญาในกรณีปกตินั้นมีอัตราร้อยละ 13.5 ต่อปี เป็นอย่างสูง การที่โจทก์กำหนดเบี้ยปรับไว้ในลักษณะเป็นอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 21 ต่อปีซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติเกือบเท่าตัวนับว่าเป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วน ศาลย่อมลดลงเป็นจำนวนพอสมควรได้และเห็นว่าเบี้ยปรับที่ศาลชั้นต้นกำหนดไว้อัตราร้อยละ 18 ต่อปี เป็นจำนวนพอสมควรแล้ว
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสี่ร่วมกันรับผิดชดใช้ดอกเบี้ยแก่โจทก์ในระหว่างผิดนัดในอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ในต้นเงิน50,000,000 บาท นับแต่วันที่ 20 มิถุนายน 2534 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share