แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 6 กระทำละเมิดต่อ โจทก์ในทางการจ้าง ของจำเลยที่ 2 ถึง ที่ 6 ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยที่ 1 กระทำละเมิดต่อ โจทก์ในทางการที่จ้าง ของจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 6 ส่วนจำเลยที่ 2 พิพากษายกฟ้อง จำเลย ที่ 3 ถึง ที่ 6 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียง คำพิพากษาศาลชั้นต้นใน ปัญหาข้อนี้ ดังนั้น จำเลยที่ 3ถึง ที่ 6 ซึ่ง เป็นนายจ้างย่อมต้อง ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ตาม ป.พ.พ.มาตรา 425 การที่จำเลยที่ 2 จะครอบครองรถยนต์ คันที่จำเลยที่ 1 ขับอยู่ในขณะเกิดเหตุ หรือไม่ จึงมิใช่สาระสำคัญในการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3 ถึง ที่ 6.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-5207 กรุงเทพมหานคร โดยเช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด จำเลยที่ 1 เป็นผู้ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2331 สุโขทัย และเป็นลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 2 ถึงที่ 6เป็นผู้ครอบครองใช้ประโยชน์รถยนต์บรรทุกคันดังกล่าว และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 3 เป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัดมีวัตถุประสงค์ในการรับเหมาก่อสร้าง มีจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการไม่จำกัดความรับผิด เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2527 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 6โดยประมาทเลี้ยวตัดหน้ารถยนต์โดยสารของโจทก์คันหมายเลขทะเบียน10-5207 กรุงเทพมหานคร ในระยะกระชั้นชิดที่บริเวณหลักกิโลเมตร598-599 ถนนพหลโยธิน ตำบลสบตุ๋ย อำเภอเมืองลำปาง จังหวัดลำปางทำให้ชนรถโจทก์เสียหายในระหว่างนำรถเข้าทำการซ่อม 25,000 บาทค่าเช่ารถวันละ 820 บาท รวม 25 วัน เป็นเงิน 20,500 บาท รวม140,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งหกร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายพร้อมด้วยดอกเบี้ย
จำเลยทั้งหกให้การทำนองเดียวกันว่า โจทก์เป็นเพียงผู้เช่าจึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างจำเลยที่ 2 กระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ขณะเกิดเหตุรถอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซื้อรถคันดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 เมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2527 เหตุละเมิดเกิดจากการขับรถโดยประมาทเลินเล่อของนายอุดม อิ่มสมบูรณ์ คนขับรถของโจทก์ โจทก์เรียกค่าเสียหายสูงเกินสมควร ค่าซ่อมรถโจทก์ไม่เกิน 35,000 บาท รายได้สุทธิจากการใช้รถยนต์โดยสารไม่เกินวันละ 200 บาท รวม 25 วัน ไม่เกิน5,000 บาท โจทก์มิได้เช่ารถยนต์คันเกิดเหตุมาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด หากเช่าจริงก็มีค่าเช่าไม่เกิน 12,500 บาท
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า โจทก์เป็นผู้เช่ารถยนต์โดยสารคันเกิดเหตุจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด โจทก์ในฐานะผู้เช่ามีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายที่เกิดแก่รถต่อผู้ให้เช่าโจทก์จึงมีอำนาจฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้กระทำละเมิดได้ จำเลยที่ 3 เป็นเจ้าของและครอบครองรถบรรทุกคันเกิดเหตุร่วมกับจำเลยที่ 4 ถึงที่ 6 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ มิใช่รถของจำเลยที่ 2เหตุละเมิดเกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1 ลูกจ้างกระทำในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 แต่ฝ่ายเดียวค่าเสียหายของโจทก์ทั้งหมดเป็นเงิน 140,500 บาท จำเลยที่ 3ถึงที่ 6 ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดที่จำเลยที่ 1กระทำไปในทางการที่จ้างนั้นด้วย พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ที่ 3ถึงที่ 6 ร่วมกันชำระเงิน 150,560 บาท พร้อมดอกเบี้ย
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 14เมษายน 2527 เวลาประมาณ 2 นาฬิกา จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 80-2331สุโขทัย ในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 โดยประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้ชนรถยนต์โดยสารหมายเลขทะเบียน 10-5207 กรุงเทพมหานครซึ่งโจทก์เช่ามาจากบริษัทธนบุรีประกอบรถยนต์ จำกัด ได้รับความเสียหายตามฟ้อง
ที่จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ฎีกาว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุ จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จึงไม่ต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1 ชอบที่จะให้จำเลยที่ 2 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1ใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์นั้น พิเคราะห์แล้ว เห็นว่าจำเลยที่ 3ถึงที่ 6 มิได้อุทธรณ์ฎีกาโต้เถียงในประเด็นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 1 ลูกจ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 ได้กระทำละเมิดในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6ซึ่งเป็นนายจ้างย่อมจะต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 ในผลแห่งละเมิดซึ่งจำเลยที่ 1 ได้กระทำไปในทางการที่จ้าง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 425 อยู่แล้ว ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุหรือไม่จึงมิใช่ข้อสาระสำคัญในการวินิจฉัยความรับผิดของจำเลยที่ 3ถึงที่ 6 ถึงแม้จะฟังว่าจำเลยที่ 2 ครอบครองรถยนต์บรรทุกคันดังกล่าวอยู่ในขณะเกิดเหตุ ก็ไม่ทำให้จำเลยที่ 3 ถึงที่ 6 พ้นจากความรับผิดในฐานะนายจ้างของจำเลยที่ 1 ไปได้…”
พิพากษายืน.