คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1842/2523

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นลูกจ้างของการรถไฟแห่งประเทศไทยจำเลยที่ 1 โจทก์ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรงอันเป็นความผิดซึ่งมีโทษถึงไล่ออกเมื่อมีการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหาดังกล่าวและจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่าโจทก์ทำความผิดจริงก็มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานได้ตามที่ได้รับมอบอำนาจ โดยมิต้องนำเรื่องเสนอที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานให้พิจารณาเสียก่อนไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการและคำสั่งของจำเลยที่ 1 แต่อย่างใด

ย่อยาว

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานจำเลยทั้งสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “ในชั้นนี้คงมีปัญหาตามอุทธรณ์ของจำเลยแต่เพียงว่า การที่จำเลยที่ 2 มีคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานโดยมิได้เสนอเรื่องการสอบสวนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหานี้ให้ที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานพิจารณาเสียก่อนนั้นเป็นการชอบหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า โจทก์ซึ่งเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 ถูกกล่าวหาว่ากระทำผิดวินัยอย่างร้ายแรงฐานทุจริตต่อหน้าที่และประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง อันเป็นความผิดซึ่งมีโทษถึงไล่ออก แต่มิใช่เป็นกรณีความผิดปรากฏชัดแจ้ง จึงต้องมีการสอบสวนก่อนตามระเบียบการฉบับที่ 61 ว่าด้วยระเบียบวินัย การลงโทษ และการให้ออกจากงานของลูกจ้าง ที่ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยให้ไว้” ฯลฯ

“ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมอบอำนาจตามความในเอกสาร ล.9 ข้อ 22ให้แก่จำเลยที่ 3 ตามเอกสาร ล.10 และจำเลยที่ 3 ก็มอบอำนาจต่อให้แก่จำเลยที่ 2ตามเอกสาร ล.11 ดังนั้น จำเลยที่ 2 จึงเป็นผู้มีอำนาจสั่งการในกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหานี้ได้ และการที่คำสั่ง ล.10 กล่าวถึงผู้ปฏิบัติงานของการรถไฟแห่งประเทศไทยทั้งประเภทที่เรียกว่า “พนักงาน” กับประเภทที่เรียกว่า “ลูกจ้าง” นั้น ก็ได้ความว่าคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกข้อบังคับใช้บังคับแก่พนักงานการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้ออกระเบียบการใช้บังคับแก่ลูกจ้าง แต่ทั้งข้อบังคับและระเบียบการดังกล่าวให้อำนาจผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นผู้มีอำนาจมอบการบริหารงานแก่ผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยจึงมีคำสั่งมอบอำนาจไว้ในคำสั่งฉบับเดียวกันคือ คำสั่งทั่วไปที่ บภบ.128/2518 ดังเอกสาร ล.10 นี้

เมื่อพิจารณาเอกสาร ล.10 โดยตลอดแล้ว ปรากฏว่า ข้อ 1 ถึงข้อ 5 เป็นคำสั่งเกียวแก่ “พนักงาน” คือข้อ 1. การบรรจุ ข้อ 2. การแต่งตั้ง ข้อ 3. การถอดถอน ซึ่งแบ่งเป็น ก. การสั่งให้ออก ข. การสั่งไล่ออกหรือปลดออก ข้อ 4. การลงโทษ ข้อ 5. การเลื่อนขั้นเงินเดือน แต่คำสั่งที่เกี่ยวแก่ “ลูกจ้าง” โดยเฉพาะมีอยู่เพียงข้อเดียวคือ ข้อ 6. เรื่องการจ้าง แต่งตั้ง ถอดถอน ลงโทษ การให้พักงาน กับเลื่อนและปรับค่าจ้างลูกจ้าง ข้อ 1, ข้อ 2, ข้อ 3 ก., ข้อ 4, ข้อ 5 ตลอดจน ข้อ 6 ล้วนแต่เป็นเรื่องที่ว่าผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมอบอำนาจให้ใครสั่งการเกี่ยวแก่กรณีของผู้ใดได้บ้าง แต่ข้อ 3 ข. เรื่องการสั่งไล่ออกหรือปลดออก ซึ่งแบ่งเป็น 2 วรรคนั้น วรรคสองมีข้อความเป็นการกำหนดกระบวนการเป็นพิเศษแตกต่างไปจากความในวรรคแรกและในข้ออื่น โดยให้ผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะบุคคลเพื่อเป็นการตรวจสอบความเห็นของผู้ได้รับมอบอำนาจให้สั่งไล่ออกหรือปลดออกด้วย รายละเอียดปรากฏดังที่ได้กล่าวแล้วข้างต้นจึงเป็นปัญหาว่า ในกรณีสั่งไล่ออกหรือปลดออกลูกจ้าง จะต้องนำวรรคสองของข้อ 3 ข. มาใช้บังคับโดยอนุโลมด้วยหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ข้อ 3 ข.วรรคสองจะกำหนดกระบวนการตรวจสอบไว้เป็นพิเศษ แต่ก็ยังอยู่ในเรื่องผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทยมอบอำนาจให้ใครสั่งการเกี่ยวแก่กรณีของผู้ใดได้บ้างอยู่นั่นเอง ถ้าคำสั่ง ล.10 นี้มีเจตนารมณ์ที่จะให้นำกระบวนการตรวจสอบตามข้อ 3 ข. วรรคสองมาใช้แก่ผู้รับมอบอำนาจให้สั่งการเกี่ยวแก่สั่งไล่หรือปลดลูกจ้างด้วย ก็น่าจะต้องมีข้อความระบุไว้ในข้อ 6 ว่าให้นำความในข้อ 3 ข. วรรคสองมาใช้ด้วยโดยอนุโลม แต่แทนที่จะมีข้อความดังกล่าวนี้ ในข้อ 6 ก. กลับมีข้อความว่า การจ้าง แต่งตั้ง ถอดถอน (ซึ่งได้แก่การสั่งให้ออก การสั่งไล่ออกหรือปลดออก) ลงโทษ และการให้พักงานให้ผู้ได้รับมอบอำนาจมีอำนาจสั่งการได้ทุกอัตราและทุกกรณี การที่ผู้ได้รับมอบอำนาจมีอำนาจสั่งการได้ “ทุกกรณี” เช่นนี้ ย่อมหมายความว่า ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจสั่งการไปตามความเห็นของตนได้เลย โดยไม่ต้องผ่านกระบวนการตรวจสอบเป็นพิเศษดังที่กำหนดไว้ในข้อ 3 ข. วรรคสองด้วย แม้ข้อ 5 ของระเบียบการฉบับที่ 61 ว่าด้วยระเบียบวินัย การลงโทษ และการให้ออกจากงานของลูกจ้าง (เอกสาร ล.9) จะกล่าวถึงการลงโทษไล่ออกในกรณีที่มิใช่เป็นความผิดอันปรากฏชัดแจ้งด้วยดังกล่าวแล้วข้างต้น แต่ความในข้อ 5นั้นก็บังคับแต่เพียงว่า จะต้องมีการสอบสวนก่อนเท่านั้น ทั้งยังมอบให้ผู้มีอำนาจตามความในข้อ 22 (คือผู้ได้รับมอบอำนาจจากผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย ให้เป็นผู้มีอำนาจสั่งไล่ออก) เป็นผู้พิจารณาว่าการสอบสวนสมควรจะดำเนินการโดยวิธีใดอีกด้วย ดังนั้น เมื่อได้มีการตั้งกรรมการสอบสวนกรณีที่โจทก์ถูกกล่าวหานี้แล้ว และจำเลยที่ 2 ได้พิจารณาพยานหลักฐานในสำนวนการสอบสวนแล้วเห็นว่า โจทก์ทำความผิดจริงดังที่ถูกกล่าวหาจำเลยที่ 2 ก็สั่งไล่โจทก์ออกโดยมิได้นำเรื่องนี้เสนอที่ประชุมผู้อำนวยการฝ่ายและหัวหน้าสำนักงานให้พิจารณาเสียก่อน ดังนี้ก็ไม่เป็นการฝ่าฝืนระเบียบการ ล.9 และคำสั่ง ล.10 แต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งไล่โจทก์ออกจากงานตามเอกสาร ล.17 เสีย โดยถือว่าเป็นการสั่งผิดขั้นตอนตามระเบียบการ ล.9 และคำสั่ง ล.10 นั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยอุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น

พิพากษายกคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง ให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยประเด็นข้ออื่นแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี”

Share