คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18412/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การคุ้มครองแรงงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนนั้น พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดไว้ว่ามิให้ใช้ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู ดังนั้นการคุ้มครองแรงงานของครูของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ซึ่งขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้คือ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตามบทกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนดังกล่าวได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานในส่วนที่เกี่ยวกับครูไว้ในมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานและวรรคสองบัญญัติว่า การคุ้มครองการทำงาน การจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ คณะกรรมการดังกล่าวซึ่งหมายถึงคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยังมิได้ ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงกำหนดรับรองไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 166 ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตาม พ.ร.บ.นี้ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ. นี้ ระเบียบดังกล่าวที่ว่าคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนนานาชาติตามความหมายของโรงเรียนนานาชาติที่ถือเป็นโรงเรียนในระบบประเภทหนึ่งตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง กำหนดประเภทและระดับของโรงเรียนในระบบที่ออกตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 17 และถือเป็นโรงเรียนในระบบตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 4 ดังนั้น กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 4 การเลิกสัญญาการเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ 35 (2) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แสดงว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่า พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นการไม่สอดคล้องกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อจำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากการเป็นครูเพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้างเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2552 ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกระทำผิดใดอันจะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุข้ออื่นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามข้อ 32 และข้อ 33 จำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 เนื่องจาก พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบมีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียนและการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก ดังนั้นจึงต้องบังคับตาม ป.พ.พ. มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสองและมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 4 ได้กำหนดความในคำนิยามว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ครูเมื่อเลิกสัญญาการเป็นครู ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดนับแต่วันเลิกสัญญาโจทก์ทั้งเจ็ดคือ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายนับแต่วันดังกล่าวถือว่าผิดนัด จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์แต่ละคนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอเงินเพิ่มนั้น เมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยอ้างเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง และข้อ 35 (2) ไม่ถือว่าจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่ม
เมื่อกิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูของจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการที่เป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน อยู่ภายใต้บังคับตาม พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครู ซึ่งแยกต่างหากจากการคุ้มครองแรงงานของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของคำว่า “วันหยุด” ในข้อ 4 ว่า หมายความว่า วันที่กำหนดให้ครูหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันปิดภาคเรียน วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือวันที่กำหนดให้หยุด และได้กำหนด ให้ความคุ้มครองไว้ในข้อ 15 ว่า ในปีการศึกษาหนึ่ง ครูมีวันหยุดทำงานดังนี้ (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่ได้รับอนุญาต (2) วันหยุดภาคเรียน (3) วันหยุดตามประเพณี (4) วันหยุดตามประกาศหรือคำสั่งของทางราชการ และ (5) วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุด ซึ่งการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดของลูกจ้างที่เป็นครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจะมีสิทธิใดอันจะได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครูเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดตามระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนด ให้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ครู ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเช่นแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้นั้น หากเปรียบเทียบถึงการคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิในวันหยุดของโจทก์ทั้งเจ็ดกับการคุ้มครองแรงงานทั่วไปตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ต่างก็มีสิทธิหยุดประจำสัปดาห์และหยุดตามประเพณีเช่นกัน ส่วนที่แตกต่างในสิทธิคือการที่แรงงานทั่วไปได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี แม้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามการคุ้มครองแรงงานสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก็ตาม แต่ตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ก็กำหนด ให้ครูมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียน ซึ่งแรงงานทั่วไปไม่มีสิทธิดังกล่าว รวมทั้งให้สิทธิหยุดในวันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือในวันที่ราชการกำหนดให้หยุดอีกด้วย ดังที่ปรากฏว่าปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในวันเปิดภาคเรียนหรือเรียกว่า Student Days จำนวนไม่เกิน 188 วัน และมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียนด้วย จึงมิได้เป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่ พ.ร.บ.โรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้แต่อย่างใด
สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยทั้งสองระหว่างปีการศึกษา 2550 ถึง 2551 และปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 เรื่องการเติบโตในอาชีพ กำหนดทำนองว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการเติบโตทางอาชีพ ปีละ 20,000 บาท และสะสมต่อได้ถึง 80,000 บาท ค่าตอบแทนสะสมจากปีก่อนจะต้องใช้ก่อนเริ่มต้นปีสุดท้ายของสัญญาและค่าตอบแทนปีสุดท้ายจะต้องใช้ภายในภาคการศึกษาแรกของปีสุดท้ายที่สัญญาจ้างสิ้นสุด เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดตกลงยินยอมลงชื่อต่ออายุสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยให้ใช้เงื่อนไขตามสัญญาจ้างข้างต้น โจทก์ทั้งเจ็ดชอบที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงการเบิกค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพตามสัญญาจ้าง ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดเกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าว จึงย่อมสิ้นสิทธิและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาในค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพแล้ว
โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 รับทราบข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ทำกับจำเลยทั้งสองแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองจะจ่ายค่าที่พักให้ถึงเดือนมิถุนายนของปีที่ยกเลิกสัญญาจ้างหรือถึงวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดแล้วแต่ว่าอย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ยินยอมต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสองเรื่อยมาและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวมาก่อน ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวเอาเปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างดังกล่าวจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อตามข้อตกลงในสัญญาจ้างดังกล่าวมีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับค่าที่พักถึงเดือนมิถุนายนของปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่มีสิทธิได้รับและเรียกร้องเอาค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552

ย่อยาว

คดีทั้งเจ็ดสำนวนนี้ศาลแรงงานภาค 2 สั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 7
โจทก์ทั้งเจ็ดสำนวนฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันจ่ายค่าชดเชยและค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี และเงินเพิ่มร้อยละ 15 ทุกระยะเวลาเจ็ดวันนับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด ค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด และค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552 พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัดจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคน
จำเลยทั้งสองทั้งเจ็ดสำนวนให้การและแก้ไขคำให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดประการแรกว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าชดเชยจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า ไม่เห็นด้วยกับที่ศาลแรงงานภาค 2 วินิจฉัยว่า พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ และมาตรา 119 บัญญัติตัดสิทธิค่าชดเชยกรณีลูกจ้างกระทำความผิดและกรณีเลิกจ้างเมื่อครบกำหนดสัญญาจ้าง ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ที่ไม่จ่ายค่าชดเชยให้แก่ครูชาวต่างประเทศที่ออกจากงานเพราะสัญญาจ้างครบกำหนด จึงขัดต่อพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติฉบับนี้ให้ความคุ้มครองครูไทยและครูชาวต่างประเทศเท่ากัน และมาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดให้ผู้ปฏิบัติงานของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการที่ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าดังกรณีตัดสิทธิค่าชดเชยครูชาวต่างประเทศ จึงใช้บังคับไม่ได้ การเทียบเคียงพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 118 วรรคสามและวรรคสี่ ว่าเป็นเช่นเดียวกับกรณีตัดสิทธิค่าชดเชยครูชาวต่างประเทศไม่ถูกต้อง เห็นว่า การคุ้มครองแรงงานเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนนั้น พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 มาตรา 4 และมาตรา 6 ประกอบกฎกระทรวง (พ.ศ.2541) ออกตามความในพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ลงวันที่ 19 สิงหาคม 2541 กำหนดไว้ว่ามิให้ใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 บังคับแก่นายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับครูใหญ่และครู ดังนั้นการคุ้มครองแรงงานของครูของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจึงอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชน ซึ่งขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้คือ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 ตามบทกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานในส่วนเกี่ยวกับครูไว้ในมาตรา 86 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า กิจการของโรงเรียนในระบบเฉพาะในส่วนของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาไม่อยู่ภายใต้บังคับกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน กฎหมายว่าด้วยแรงงานสัมพันธ์ กฎหมายว่าด้วยการประกันสังคมและกฎหมายว่าด้วยเงินทดแทน แต่ผู้อำนวยการครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนต้องได้รับประโยชน์ตอบแทนไม่น้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน และวรรคสองบัญญัติว่า การคุ้มครองการทำงาน การจัดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองการทำงานและประโยชน์ตอบแทนขั้นต่ำของผู้อำนวยการ ครูและบุคลากรทางการศึกษาของโรงเรียนในระบบ ให้เป็นไปตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนดและขณะเกิดเหตุพิพาทคดีนี้ คณะกรรมการซึ่งหมายถึงคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนยังมิได้ออกระเบียบดังกล่าวมาใช้บังคับ พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 จึงกำหนดรับรองไว้ในบทเฉพาะกาล มาตรา 166 ว่า ในระหว่างที่ยังมิได้ออกกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ให้นำกฎกระทรวง ระเบียบ และประกาศที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2525 มาใช้บังคับโดยอนุโลม เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้ ระเบียบดังกล่าวที่ว่าคือ ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 จำเลยที่ 1 เป็นโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งจัดการศึกษาโดยใช้หลักสูตรต่างประเทศหรือหลักสูตรต่างประเทศที่ปรับรายละเอียดเนื้อหารายวิชาใหม่ หรือหลักสูตรที่จัดทำขึ้นเองที่ไม่ใช่หลักสูตรของกระทรวงศึกษาธิการและใช้ภาษาต่างประเทศเป็นสื่อในการเรียนการสอนให้กับนักเรียนโดยไม่จำกัดเชื้อชาติ ศาสนา และไม่ขัดต่อศีลธรรมและความมั่นคงของประเทศ ตามความหมายของโรงเรียนนานาชาติที่ถือเป็นโรงเรียนในระบบประเภทหนึ่งตามประกาศคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน เรื่อง กำหนดประเภทและระดับของโรงเรียนในระบบที่ออกตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 17 และถือเป็นโรงเรียนที่จัดการศึกษาโดยกำหนดจุดมุ่งหมาย วิธีการศึกษา หลักสูตร ระยะเวลาของการศึกษา การวัดและประเมินผลซึ่งเป็นเงื่อนไขของการสำเร็จการศึกษาที่แน่นอน อันเป็นโรงเรียนในระบบตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 4 ดังนั้นกิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูจึงอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 มาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 การคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยจึงเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 4 การเลิกสัญญาการเป็นครูและค่าชดเชย เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 กำหนดให้การคุ้มครองการทำงานเกี่ยวกับค่าชดเชยตามข้อ 35 (2) ว่า ลูกจ้างที่เป็นครูชาวต่างประเทศที่ออกเพราะเหตุที่ครบกำหนดตามสัญญาจ้างจะไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย ซึ่งแตกต่างกับการคุ้มครองแรงงานเกี่ยวกับค่าชดเชยสำหรับลูกจ้างทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แสดงว่าระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 อันเป็นการไม่สอดคล้องกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง ระเบียบดังกล่าวเกี่ยวกับค่าชดเชยในส่วนนี้จึงใช้บังคับไม่ได้ เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเข้าทำงานเป็นครูสอนหนังสือ โดยทำสัญญาจ้างเป็นรายปีการศึกษาและโจทก์ทั้งเจ็ดออกจากการเป็นครูเพราะเหตุครบกำหนดตามสัญญาจ้าง ถือเป็นการถูกจำเลยทั้งสองเลิกสัญญาโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ทั้งเจ็ดกระทำผิดใดอันจะเข้าข้อยกเว้นที่ไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชยในเหตุข้ออื่นตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 35 โจทก์ทั้งเจ็ดจึงมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 32 และข้อ 33 เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังยุติว่า จำเลยทั้งสองทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งเจ็ดเป็นครูสอนหนังสือ ซึ่งจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคล โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้รับใบอนุญาตและเป็นผู้แทนของจำเลยที่ 1 ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 24 เนื่องจากพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 กำหนดให้ผู้รับใบอนุญาตให้จัดตั้งโรงเรียนเอกชนในระบบ มีฐานะเป็นผู้แทนของโรงเรียนและการดำเนินกิจการของโรงเรียนให้ผู้รับใบอนุญาตดำเนินการให้มีคณะกรรมการบริหารเพื่อบริหารกิจการโรงเรียนโดยที่ไม่ได้กำหนดเรื่องความรับผิดของผู้รับใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะต่างหาก ดังนั้นจึงต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 77 ประกอบมาตรา 820 เมื่อการกระทำของจำเลยที่ 2 เป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1 ในขอบอำนาจ จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 เมื่อค่าชดเชยตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสองและมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 4 ได้กำหนดความในคำนิยามใน ข้อ 4 ว่า เป็นเงินที่จ่ายให้ครูเมื่อเลิกสัญญาการเป็นครู ดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงมีหน้าที่ต้องจ่ายให้โจทก์ทั้งเจ็ดนับแต่วันเลิกสัญญาโจทก์ทั้งเจ็ดคือ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 อันเป็นวันครบกำหนดตามสัญญาจ้างเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่จ่ายนับแต่วันดังกล่าวถือว่าผิดนัด จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในต้นเงินค่าชดเชยของโจทก์ทั้งเจ็ดแต่ละคนในอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ให้แก่โจทก์ทั้งเจ็ดด้วย ตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคสอง และมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 13 วรรคหนึ่ง ทั้งนี้ นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 อันเป็นวันเลิกสัญญาจ้างเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ที่โจทก์ทั้งเจ็ดขอเงินเพิ่มนั้น เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ 1 ไม่จ่ายค่าชดเชยอ้างเหตุตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ข้อ 8 วรรคหนึ่ง และข้อ 35 (2) ไม่ถือว่าจงใจไม่จ่ายค่าชดเชยโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร จำเลยที่ 1 จึงไม่ต้องรับผิดจ่ายเงินเพิ่ม ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วยที่วินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิได้รับค่าชดเชย แต่เห็นพ้องด้วยในผลที่ยกฟ้องจำเลยที่ 2 อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดประการที่สองว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า เมื่อระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ที่ไม่ให้สิทธิหยุดพักผ่อนประจำปี เป็นการให้ประโยชน์ตอบแทนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน โจทก์ทั้งเจ็ดย่อมมีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงาน เห็นว่า เมื่อกิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 และการคุ้มครองการทำงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูอยู่ภายใต้บังคับตามพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 และมาตรา 166 ประกอบระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครู ซึ่งแยกต่างหากจากการคุ้มครองแรงงานของนายจ้างที่ประกอบกิจการทั่วไป ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 โดยตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ได้ให้คำนิยามของ “วันหยุด” ในข้อ 4 ว่า หมายความว่า วันที่กำหนดให้ครูหยุดประจำสัปดาห์ วันหยุดตามประเพณี วันปิดภาคเรียน วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือวันที่กำหนดให้หยุด และได้กำหนดให้ความคุ้มครองไว้ข้อ 15 ว่า ในปีการศึกษาหนึ่ง ครูมีวันหยุดทำงานดังนี้ (1) วันหยุดประจำสัปดาห์ตามที่ได้รับอนุญาต (2) วันหยุดภาคเรียน (3) วันหยุดตามประเพณี (4) วันหยุดตามประกาศหรือคำสั่งของทางราชการ และ (5) วันที่โรงเรียนสั่งให้หยุด เมื่อการคุ้มครองแรงงานของโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูของโรงเรียนจำเลยที่ 1 อันเป็นกิจการที่เป็นนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนได้กำหนดการคุ้มครองแรงงานแยกต่างหากจากการคุ้มครองแรงงานของนายจ้างซึ่งประกอบกิจการทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ซึ่งการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดที่ลูกจ้างที่เป็นครูสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนจะมีสิทธิใดอันจะได้รับการคุ้มครองจึงต้องเป็นไปตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 หมวด 2 เวลาทำการของครู เท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง เมื่อปรากฏว่าการคุ้มครองเกี่ยวกับวันหยุดตามระเบียบดังกล่าวมิได้กำหนดให้สิทธิวันหยุดพักผ่อนประจำปีแก่ครู ดังนั้นโจทก์ทั้งเจ็ดจึงไม่มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีหรือได้รับค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีเช่นแรงงานทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 ส่วนข้อที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างว่าเป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้นั้น เห็นว่า หากเปรียบเทียบถึงการคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิในวันหยุดของโจทก์ทั้งเจ็ดกับการคุ้มครองแรงงานทั่วไปตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 แล้ว ที่โจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นครูและแรงงานทั่วไปต่างก็มีสิทธิหยุดประจำสัปดาห์และหยุดตามประเพณีเช่นกัน ส่วนที่แตกต่างในสิทธิเกี่ยวกับวันหยุดที่เหลืออีกประการหนึ่งคือ การที่แรงงานทั่วไปได้รับสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีนั้น แม้โจทก์ทั้งเจ็ดไม่มีสิทธิดังกล่าวซึ่งเป็นไปตามการคุ้มครองแรงงานสำหรับนายจ้างซึ่งประกอบกิจการโรงเรียนเอกชนตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนก็ตาม แต่ก็ปรากฏตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการคุ้มครองการทำงานของครูใหญ่และครูโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2542 ก็กำหนดให้ครูมีสิทธิหยุดในวันปิดภาคเรียนซึ่งแรงงานทั่วไปไม่มีสิทธิ รวมทั้งให้สิทธิหยุดในวันที่โรงเรียนสั่งให้หยุดหรือในวันที่ราชการกำหนดให้หยุดอีกด้วย ดังที่ปรากฏข้อเท็จจริงที่รับฟังยุติว่า ในปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 กิจการในโรงเรียนของจำเลยที่ 1 กำหนดให้โจทก์ทั้งเจ็ดทำงานในวันเปิดภาคเรียนหรือเรียกว่า Student Days จำนวนไม่เกิน 188 วัน และโจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้หยุดในวันปิดภาคเรียนด้วย จึงมิได้เป็นการได้รับประโยชน์ตอบแทนเกี่ยวกับการหยุดที่น้อยกว่ากฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองแรงงานตามที่พระราชบัญญัติโรงเรียนเอกชน พ.ศ.2550 มาตรา 86 วรรคหนึ่ง กำหนดไว้ตามที่โจทก์ทั้งเจ็ดอ้างแต่อย่างใด ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดประการที่สามว่า โจทก์ทั้งเจ็ดมีสิทธิได้รับค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพจากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ทั้งเจ็ดอุทธรณ์ว่า กำหนดเวลาใช้สิทธิเบิกค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพสั้นมาก และเป็นช่วงเปิดภาคเรียนโจทก์ทั้งเจ็ดไม่สามารถใช้สิทธิพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพได้ ทำให้โจทก์ทั้งเจ็ดเสียเปรียบอย่างมากและเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า สัญญาจ้างระหว่างโจทก์ทั้งเจ็ดกับจำเลยทั้งสองระหว่างปีการศึกษา 2550 ถึง 2551 และปีการศึกษา 2551 ถึง 2552 เรื่องการเติบโตในอาชีพ กำหนดทำนองว่า ลูกจ้างมีสิทธิได้รับผลประโยชน์ตอบแทนการเติบโตทางอาชีพ ปีละ 20,000 บาท และสะสมต่อได้ถึง 80,000 บาท ค่าตอบแทนสะสมจากปีก่อนจะต้องใช้ก่อนเริ่มต้นปีสุดท้ายของสัญญาและค่าตอบแทนปีสุดท้ายจะต้องใช้ภายในภาคการศึกษาแรกของปีสุดท้ายที่สัญญาจ้างสิ้นสุด เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดตกลงยินยอมลงชื่อต่ออายุสัญญาจ้างครั้งสุดท้ายระหว่างปลายเดือนพฤษภาคม 2551 ถึงต้นเดือนมิถุนายน 2552 โดยให้ใช้เงื่อนไขตามสัญญาจ้างข้างต้น โจทก์ทั้งเจ็ดชอบที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขและข้อตกลงการเบิกค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพตามสัญญาจ้าง ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างเอาเปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดเกินสมควรแต่อย่างใด สัญญาจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ทั้งเจ็ดซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อโจทก์ทั้งเจ็ดไม่ได้ใช้สิทธิภายในกำหนดเวลาตามข้อตกลงในสัญญาจ้าง จึงย่อมสิ้นสิทธิและไม่มีสิทธิมาเรียกร้องเอาในค่าตอบแทนพัฒนาความก้าวหน้าในวิชาชีพแล้ว ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งเจ็ดข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 มีสิทธิได้รับค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552 จากจำเลยทั้งสองหรือไม่ เพียงใด โดยโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 อุทธรณ์ว่า สัญญาจ้างครบกำหนดเมื่อสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 และโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ต้องพักอาศัยในประเทศไทยถึงสิ้นเดือนกรกฎาคม 2552 แต่ข้อตกลงจ่ายค่าที่พักถึงเดือนมิถุนายน 2552 เท่านั้น ทำให้โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เสียเปรียบอย่างมากและไม่เป็นธรรม เห็นว่า โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 รับทราบข้อตกลงตามสัญญาจ้างที่ทำกับจำเลยทั้งสองแต่แรกว่า จำเลยทั้งสองจะจ่ายค่าที่พักให้ถึงเดือนมิถุนายนของปีที่ยกเลิกสัญญาจ้างหรือถึงวันที่สัญญาเช่าสิ้นสุดแล้ว แต่ว่าอย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ยินยอมต่ออายุสัญญาจ้างกับจำเลยทั้งสองเรื่อยมาและไม่เคยโต้แย้งคัดค้านข้อตกลงตามสัญญาจ้างมาก่อน ทั้งไม่มีเหตุแสดงให้เห็นว่าจำเลยทั้งสองได้ทำข้อตกลงตามสัญญาจ้างเอาเปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 เกินสมควรแต่อย่างใด ข้อตกลงตามสัญญาจ้างจึงไม่มีลักษณะทำให้จำเลยทั้งสองได้เปรียบโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ซึ่งเป็นลูกจ้างเกินสมควรถึงขนาดเป็นข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติว่าด้วยข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรม พ.ศ.2540 มาตรา 5 ข้อตกลงตามสัญญาจ้างจึงมีผลใช้บังคับ เมื่อกรณีของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ตามข้อตกลงในสัญญาจ้างมีข้อตกลงให้สิทธิโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ได้รับค่าที่พักถึงเดือนมิถุนายนของปี 2552 ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสัญญาจ้าง โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 จึงไม่มีสิทธิได้รับและเรียกร้องเอาค่าที่พักเดือนกรกฎาคม 2552 ที่ศาลแรงงานภาค 2 พิพากษามานั้นชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 7 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 จ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์ที่ 1 จำนวน 1,678,490 บาท โจทก์ที่ 2 จำนวน 1,624,080 บาท โจทก์ที่ 3 จำนวน 794,862 บาท โจทก์ที่ 4 จำนวน 1,438,160 บาท โจทก์ที่ 5 จำนวน 794,862 บาท โจทก์ที่ 6 จำนวน 1,624,080 บาท และโจทก์ที่ 7 จำนวน 1,153,536 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันที่ 31 กรกฎาคม 2552 อันเป็นวันเลิกสัญญาจ้างจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ทั้งเจ็ด นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลแรงงานภาค 2

Share