แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ทนายความฟ้องเรียกเงินค่าจ้างว่าความมีอายุความ 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(15)
สัญญาจ้างว่าความมีว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วจำเลยจะให้ค่าจ้างแก่โจทก์ สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงเกิดขึ้นนับแต่นั้น
คู่ความทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันต่อศาล และไม่มีการอุทธรณ์ต่อไป ถือว่าคดีถึงที่สุด เมื่อสิ้นกำหนดระยะอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 147 วรรคสอง ถึงหากโจทก์ในคดีดังกล่าวซึ่งโจทก์ในคดีนี้รับเป็นทนายให้ได้อุทธรณ์ฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นเกี่ยวกับเรื่องตีความสัญญาประนีประนอมยอมความนั้นก็ตามแต่โจทก์ (คดีนี้) ก็มิได้เข้ามาเกี่ยวข้องกับอุทธรณ์ฎีกาในเรื่องนั้นคดีที่จำเลยในคดีนี้ (โจทก์ในคดีก่อน) จ้างโจทก์ว่าความถึงที่สุดเมื่อสิ้นกำหนดระยะอุทธรณ์ มิใช่ถึงที่สุดในวันอ่านคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับการตีความในสัญญาประนีประนอมยอมความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นทนายฟ้องนางเหลี่ยม บู่หาดกับพวก 3 คน และเป็นทนายในคดีที่นางเหลี่ยม บู่หาด ฟ้องจำเลยรวม2 คดีเป็นเงิน 80,000 บาท ในวันที่ 29 กรกฎาคม 2508 คู่ความในคดีทั้งสองสำนวนตกลงทำสัญญาประนีประนอมยอมความกัน ศาลพิพากษาตามยอม คดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว จำเลยผิดนัดไม่ยอมชำระค่าจ้างว่าความแก่โจทก์ ขอให้ศาลบังคับ
จำเลยให้การว่า ได้ว่าจ้างโจทก์เป็นทนายจริง แต่ไม่ได้ทำสัญญาตามสำเนาท้ายฟ้อง สัญญาตามสำเนาท้ายฟ้องทำขึ้นใหม่โดยไม่สุจริตคดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลชั้นต้นสั่งงดสืบพยานโจทก์จำเลยและวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 165(8)(15)พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า การที่โจทก์ซึ่งเป็นทนายความฟ้องเรียกเงินค่าจ้างว่าความจะมีอายุความ 2 ปีตามมาตรา 165(15) แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ หรือไม่นั้นศาลฎีกาได้พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ศาลฎีกาได้เคยวินิจฉัยปัญหานี้มาแล้วในคำพิพากษาฎีกาที่ 480/2506 ว่า กรณีเช่นนี้มีอายุความ 2 ปี ตามมาตรา 165(15)แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
ตามสำเนาสัญญาจ้างท้ายฟ้องมีข้อความว่า เมื่อคดีถึงที่สุดแล้วไม่ว่าจะชั้นศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา หรือตกลงกันเองก็ตามจำเลยจะให้ค่าจ้างแก่โจทก์ จึงเห็นได้ว่าสิทธิเรียกร้องของโจทก์อาจเริ่มบังคับได้เมื่อคดีถึงที่สุด
คดีทั้งสองสำนวนนี้ศาลพิพากษาตามยอม เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม2508 คดีไม่มีการอุทธรณ์ ต่อมาคู่ความอีกฝ่ายในคดีดังกล่าวยื่นคำร้องขอให้ศาลตีความในสัญญายอมความ จำเลยไม่พอใจจึงอุทธรณ์คำสั่งศาลอุทธรณ์ ซึ่งเป็นการอุทธรณ์ในการตีความเพื่อประโยชน์ในการบังคับคดีเท่านั้น แต่จำเลยก็ได้จ้างทนายคนใหม่ดำเนินคดีชั้นอุทธรณ์ฎีกา โจทก์หาได้เข้าไปเกี่ยวข้องไม่ คดีที่โจทก์รับว่าความ2 เรื่องดังกล่าว ถึงที่สุดตั้งแต่วันที่ 29 สิงหาคม 2508 อันเป็นวันที่สิ้นกำหนดระยะอุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 147 วรรค 2 มิใช่ในวันที่อ่านคำพิพากษาฎีกาเกี่ยวกับเรื่องการตีความในสัญญาประนีประนอมยอมความ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่25 กันยายน 2511 จึงเป็นการเกินกำหนด 2 ปีเสียแล้ว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ
พิพากษายืน