คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1833/2532

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยกู้เงินจาก ส.สามีอ. จำเลยสั่งจ่ายเช็คพิพาทชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่ ส.โดยมอบให้อ. เป็นผู้รับไปต่อมาก่อนเช็คดังกล่าวถึงกำหนดชำระ ส. ขอร้องให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้ใหม่โดยบอกว่า อ. มิได้นำเช็คที่ยังไม่ได้ขึ้นเงินที่ธนาคาร ไปมอบให้แก่ ส. จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คให้ใหม่แทนเช็คพิพาท เช็คพิพาทจึงเป็นเช็คที่ปราศจากมูลหนี้ เมื่อปรากฏว่าโจทก์รับโอนเช็คพิพาทมาจาก อ. โดยรู้ว่าเป็นเช็คที่ไม่มีมูลหนี้ต่อกันระหว่างจำเลยกับ ส.แล้วนำไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร ซึ่งเท่ากับโจทก์กระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าโจทก์กับ อ. คบคิดกันฉ้อฉลจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจนำเช็คพิพาทมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลย.
ในการวินิจฉัยในประเด็นตามข้อต่อสู้ของจำเลยว่าการโอนเช็คพิพาทระหว่างโจทก์กับ อ. ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยหรือไม่ ศาลจำต้องพิจารณา ถึงมูลฐานซึ่งเป็นต้นเหตุให้โจทก์รับสลักหลังเช็คพิพาทจาก อ. เมื่อพิจารณา จากทางนำสืบของจำเลยแล้วปรากฏว่า ต้นเหตุที่โจทก์รับสลักหลังเช็คพิพาทจาก อ.ก็เนื่องมาจากโจทก์กับอ.เป็นญาติ กัน และโจทก์ประกอบวิชาชีพทนายความ อ. ซึ่งทราบเรื่องที่จำเลยออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็คพิพาทแล้วไปปรึกษากับโจทก์เพื่อหาทางให้ได้รับเงินตามเช็คพิพาทโดยให้โจทก์รับสลักหลังเช็คนั้นแล้วนำมาฟ้องจำเลย เพราะหากให้ อ.ฟ้องเองจำเลยย่อมต่อสู้อ. โดยอาศัยความเกี่ยวพันระหว่างจำเลยกับ อ. ได้ เช่นนี้ ตามรูปเรื่องถือได้ว่าอยู่ในประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย ศาลย่อมนำข้อเท็จจริงดังกล่าวมาวินิจฉัยได้ ไม่เป็นการวินิจฉัยนอกสำนวน.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้สั่งจ่ายเช็คลงวันที่ 20 มกราคม 2526จำนวนเงิน 50,000 บาทให้แก่ผู้ถือ ต่อมาโจทก์รับสลักหลังเช็คดังกล่าวจากนางอรพรรณ หล่อสำราญ เพื่อชำระหนี้แก่โจทก์ โจทก์นำเช็คไปเข้าบัญชีของโจทก์เพื่อเรียกเก็บเงินธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน โดยให้เหตุผลว่า “มีคำสั่งระงับการจ่าย”โจทก์ให้นางอรพรรณไปทวงถามจำเลย จำเลยไม่ยอมชำระให้ ขอให้จำเลยชำระเงิน 53,750 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีในต้นเงิน 50,000 บาทนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า จำเลยได้กู้ยืมเงินจากนายสนิท หล่อสำราญซึ่งเป็นสามีนางอรพรรณ หล่อสำราญ เป็นเงิน 100,000 บาท โดยกำหนดชำระหนี้บางส่วนภายในเดือนตุลาคม 2525 ส่วนที่เหลือจะชำระในเดือนมีนาคม 2526 ต่อมาจำเลยชำระหนี้ให้นายสนิทเป็นเงิน38,472 บาท ยังคงค้างชำระอยู่ 61,528 บาท ครั้นเดือนตุลาคม 2525นางอรพรรณได้หลอกลวงจำเลยว่านายสนิทให้มาทวงหนี้จากจำเลยเพราะนายสนิทป่วยมีความจำเป็นต้องใช้เงิน จำเลยจึงออกเช็ค 2 ฉบับฉบับหนึ่งลงวันที่ 4 มกราคม 2526 สั่งจ่ายเงิน 11,528 บาท อีกฉบับหนึ่งลงวันที่ 20 มกราคม 2526 สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาทแล้วมอบให้นางอรพรรณเป็นผู้รับเช็คทั้งสองไปเพื่อชำระหนี้เงินกู้ยืมให้แก่นายสนิท เมื่อเช็คถึงกำหนด นางอรพรรณนำเช็คฉบับลงวันที่4 มกราคม 2526 ไปรับเงินจากธนาคารแล้ว แต่ไม่นำเงินไปมอบให้นายสนิท นายสนิทให้จำเลยไปพบแล้วให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คลงวันที่20 มกราคม 2526 จำนวนเงิน 50,000 บาท ชำระหนี้เงินกู้ที่ค้างชำระแทนเช็คเดิมที่จำเลยมอบให้นางอรพรรณไป ต่อมาจำเลยได้ชำระเงินตามเช็คที่ออกใหม่ให้นายสนิทแล้ว เช็คเดิมตามฟ้องจึงไม่มีมูลหนี้ต่อกัน โจทก์ไม่เป็นผู้ทรงโดยชอบด้วยกฎหมาย เพราะโจทก์กับนางอรพรรณทราบดีว่าจำเลยได้ชำระเงินกู้ที่ค้างชำระให้นายสนิทเรียบร้อยแล้ว โจทก์กับนางอรพรรณคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยจำเลยจึงไม่มีหน้าที่ชำระหนี้ตามเช็คดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยใช้เงิน 50,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันที่ 24 มกราคม 2526เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “…ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่าเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2525 จำเลยได้กู้ยืมเงินไปจากนายสนิทหล่อสำราญ สามีนางอรพรรณ หล่อสำราญ หรือ ณ นคร ไปเป็นเงิน100,000 บาท ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.4 จำเลยชำระหนี้เงินกู้ดังกล่าวให้แก่นายสนิทไปแล้ว 38,472 บาท ยังคงค้างชำระอยู่อีกเป็นเงิน 61,528 บาท ต่อมาเมื่อเดือนตุลาคม2525 นางอรพรรณมาทวงหนี้ที่ค้างชำระอยู่จากจำเลย จำเลยจึงชำระหนี้ดังกล่าวด้วยเช็คธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขา ตลาดน้อยรวม 2 ฉบับ คือ ฉบับลงวันที่ 4 มกราคม 2526 สั่งจ่ายเงิน11,528 บาท และฉบับเลขที่ 0727444 ลงวันที่ 20 มกราคม 2526สั่งจ่ายเงิน 50,000 บาท ให้แก่นายสนิท โดยมอบเช็คดังกล่าวให้นางอรพรรณเป็นผู้รับไป เมื่อเช็คฉบับแรกถึงกำหนดสั่งจ่ายนางอรพรรณนำไปขึ้นเงินที่ธนาคารกรุงเทพ จำกัด สาขาตลาดน้อยและได้รับเงินไปแล้ว แต่นางอรพรรณไม่นำเงินไปมอบให้นายสนิทสามีซึ่งเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลมิชชั่น ต่อมาเมื่อวันที่ 5มกราคม 2526 นายสนิทให้นางพรพิมล มาริโน บุตรสาวของนายสนิทโทรศัพท์เรียกให้จำเลยไปพบที่โรงพยาบาลดังกล่าว จำเลยจึงไปพบนายสนิทในวันเดียวกันนั้นเอง นายสนิทขอร้องให้จำเลยสั่งจ่ายเช็คให้ใหม่โดยบอกว่านางอรพรรณมิได้นำเช็คที่ยังไม่ได้ขึ้นเงินที่ธนาคารไปมอบให้แก่นายสนิท จำเลยจึงสั่งจ่ายเช็คธนาคารกรุงเทพจำกัด สาขาตลาดน้อย เลขที่ 0727447 ลงวันที่ 20 มกราคม 2526จำนวนเงิน 50,000 บาท แทนเช็คเลขที่ 0727444 คือเช็ครายพิพาทที่จำเลยมอบให้แก่นางอรพรรณไป ทั้งนี้ เพราะนายสนิทมีความจำเป็นต้องใช้เงินค่ารักษาในโรงพยาบาล นายสนิทได้ทำหนังสือเกี่ยวกับเรื่องการออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็ครายพิพาทแล้วมอบหนังสือให้จำเลยไว้เป็นหลักฐานตามเอกสารหมาย ล.3
ประเด็นข้อแรกที่ต้องวินิจฉัยมีว่า โจทก์รับโอนเช็ครายพิพาทจากนางอรพรรณโดยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลยหรือไม่ เห็นว่า จำเลยมีตัวจำเลยเบิกความว่าหลังจากที่จำเลยสั่งจ่ายเช็คฉบับใหม่ให้แก่นายสนิทแทนเช็ครายพิพาทที่จำเลยมอบให้แก่นางอรพรรณไปแล้วประมาณ1 สัปดาห์ นางอรพรรณโทรศัพท์มาหาจำเลย เนื่องจากทราบว่าจำเลยสั่งเพื่อนที่รู้จักกับนางอรพรรณให้ช่วยทวงถามเช็ครายพิพาทคืนจำเลยได้พูดทางโทรศัพท์ขอให้นางอรพรรณนำเช็ครายพิพาทมาคืนให้แก่จำเลย เพราะเช็ครายพิพาทไม่มีมูลหนี้ต่อกันระหว่างจำเลยกับนายสนิทแล้ว ทั้งจำเลยได้บอกด้วยว่าจำเลยได้อายัดเช็ครายพิพาทไว้แล้ว แต่นางอรพรรณไม่นำเช็ครายพิพาทมาคืนให้แก่จำเลย ต่อมาจำเลยถูกโจทก์คดีนี้ฟ้องต่อศาลอาญาว่าออกเช็ครายพิพาทตามคดีหมายเลขดำที่ 1627/2526 นางอรพรรณพยานโจทก์เบิกความยอมรับว่าตนเคยโทรศัพท์ไปหาจำเลยเกี่ยวกับเช็ครายพิพาทจริง จึงมีเหตุให้น่าเชื่อว่าจำเลยได้แจ้งให้นางอรพรรณทราบถึงเรื่องที่จำเลยได้ออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็ครายพิพาท แล้วนำไปชำระหนี้ให้แก่นายสนิทแล้ว ฉะนั้น เช็ครายพิพาทจึงเป็นอันไม่มีมูลหนี้ต่อกันระหว่างจำเลยกับนายสนิท นอกจากนี้ยังได้ความจากนางเยาวภา เชยรสพยานจำเลยซึ่งเป็นภรรยาคนเดิมของนายสนิทว่า นางอรพรรณเป็นญาติกับโจทก์ นางอรพรรณก็เบิกความรับว่าตนเองเป็นญาติกับโจทก์จริงพฤติการณ์แห่งคดีจึงน่าเชื่อต่อไปว่า นางอรพรรณได้นำเรื่องราวที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับเช็ครายพิพาทไปปรึกษากับโจทก์ซึ่งมีอาชีพเป็นทนายความที่สำนักงานนิตินัยทนายความ เพื่อหาทางให้จำเลยชำระเงินตามเช็ครายพิพาท และส่อแสดงว่าโจทก์ยอมรับโอนเช็ครายพิพาทมาโดยรู้จากนางอรพรรณว่า เช็ครายพิพาทเป็นเช็คที่ปราศจากมูลหนี้ที่จะต้องชำระให้แก่นายสนิทแล้ว ฉะนั้นการที่โจทก์กลับรับโอนเช็ครายพิพาทแล้วนำไปเข้าบัญชีที่ธนาคาร จึงเท่ากับโจทก์กระทำโดยไม่สุจริต ถือได้ว่าโจทก์กับนางอรพรรณคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย โจทก์ไม่มีอำนาจนำเช็ครายพิพาทมาฟ้องเรียกเงินจากจำเลยได้ ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ส่วนประเด็นที่โจทก์ฎีกาว่า จำเลยต่อสู้ว่าการโอนเช็ครายพิพาทระหว่างโจทก์กับนางอรพรรณ ได้มีขึ้นด้วยคบคิดกันฉ้อฉลจำเลย แต่จำเลยสืบไม่ถึงในประเด็นข้อนี้ศาลอุทธรณ์สันนิษฐานเอาในเรื่องฉ้อฉล จึงเป็นการวินิจฉัยนอกสำนวนนั้น ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้วเห็นว่า ในการที่จะวินิจฉัยในประเด็นดังกล่าวจำต้องพิจารณาถึงมูลฐาน ซึ่งเป็นต้นเหตุให้โจทก์รับสลักหลังเช็ครายพิพาทจากนางอรพรรณ เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่า ต้นเหตุที่โจทก์รับสลักหลังเช็ครายพิพาทจากนางอรพรรณก็เนื่องมาจากโจทก์กับนางอรพรรณเป็นญาติกัน และโจทก์ประกอบวิชาชีพทนายความนางอรพรรณซึ่งทราบถึงเรื่องที่จำเลยได้ออกเช็คฉบับใหม่แทนเช็ครายพิพาทแล้ว น่าจะนำเช็ครายพิพาทไปปรึกษากับโจทก์เพื่อหาทางให้ได้รับเงินตามเช็ครายพิพาท โจทก์จึงรับสลักหลังเช็ครายพิพาทจากนางอรพรรณ แล้วนำเช็ครายพิพาทมาฟ้องจำเลย เพราะถ้าให้นางอรพรรณเป็นโจทก์ฟ้องเอง จำเลยย่อมต่อสู้นางอรพรรณโดยอาศัยความเกี่ยวพันกันระหว่างจำเลยกับนางอรพรรณได้ ดังนั้นตามรูปเรื่องถือได้ว่าอยู่ในประเด็นข้อต่อสู้ของจำเลย ตลอดจนข้อเท็จจริงที่จำเลยนำสืบ มิใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยนอกสำนวนแต่อย่างใด ฎีกาของโจทก์ในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์ ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share