คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1831/2536

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

เมื่อการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายผู้คัดค้านที่ 1 จึงต้องมีภาระพิสูจน์ว่าได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้คัดค้านที่ 1 สนิทสนมกับจำเลยเป็นอย่างดี และได้ประกอบกิจการค้าอยู่ด้วยกัน 4-5 ปี ก่อนจำเลยถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลายจำเลยได้ถูกฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คและถูกฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค และในระหว่างระยะเวลานั้นผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลย เมื่อผู้ร้องเรียกผู้คัดค้านที่ 1 มาสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการรับโอนหุ้นพิพาท ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่ยอมมา ส่อให้เห็นถึงความไม่สุจริตผู้คัดค้านที่ 1 จึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 114 ส่วนการโอนหุ้นพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 เป็นการโอนกันภายหลังจากโจทก์ฟ้องจำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายฯ มาตรา 116 การเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทเป็นไปโดยผลของคำพิพากษา ตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากโจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลาย ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาดแล้ว ผู้ร้องยื่นคำร้อง ขอให้ศาลมีคำสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านทั้งสองโอนหุ้นกลับคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลย หากไม่โอนขอให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาการโอน
ผู้คัดค้านทั้งสองยื่นคำคัดค้านว่า ผู้คัดค้านที่ 1 เป็นบุคคลภายนอกที่รับซื้อหุ้นโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทนก่อนที่จำเลยจะถูกฟ้องล้มละลาย ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลายพ.ศ. 2483 มาตรา 114, 116 และการที่ผู้คัดค้านที่ 1 ขายหุ้นพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 หลังจากที่โจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลายผู้คัดค้านทั้งสองก็ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัวและถูกฟ้องล้มละลาย การซื้อขายหุ้นระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 จึงเป็นการโอนหุ้นด้วยความสุจริตและเสียค่าตอบแทน ผู้ร้องจะร้องขอให้เพิกถอนการโอนหุ้นไม่ได้ ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนหุ้น ระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114 กับให้เพิกถอนการโอนหุ้นดังกล่าวระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 114, 116 ให้กลับคืนสู่ฐานะเดิม โดยให้ผู้คัดค้านทั้งสองโอนหุ้นดังกล่าวคืนสู่กองทรัพย์สินของจำเลย หากไม่โอนให้ถือเอาคำสั่งของศาลแทนการแสดงเจตนาการโอนของผู้คัดค้านทั้งสอง ในกรณีไม่สามารถกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้ให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้เงิน 300,000 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
ผู้คัดค้านทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ผู้คัดค้านทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมในศาลชั้นต้นแทนผู้ร้องโดยไม่กำหนดค่าทนายความให้ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งศาลชั้นต้น
ผู้คัดค้านทั้งสองฎีกา
ศาลวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติว่า โจทก์ฟ้องจำเลยให้เป็นบุคคลล้มละลายเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน2529 ศาลมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยเด็ดขาด เมื่อวันที่ 29กันยายน 2529 และพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย เมื่อวันที่ 29พฤษภาคม 2530 จำเลยโอนหุ้นพิพาทให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2528 ซึ่งเป็นการโอนในระหว่างระยะเวลา 3 ปี ก่อนที่จะมีการขอให้จำเลยล้มละลาย ผู้คัดค้านที่ 1 ได้โอนหุ้นพิพาทต่อให้ผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 ซึ่งเป็นการโอนภายหลังจากที่โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยล้มละลายแล้ว มีปัญหาจะต้องวินิจฉัยว่าผู้ร้องจะขอให้ศาลสั่งเพิกถอนนิติกรรมการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 และระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 ได้หรือไม่ สำหรับการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 นั้น ได้กระทำขึ้นในระหว่างระยะเวลา 3 ปีก่อนมีการขอให้จำเลยล้มละลายซึ่งมีมาตรา 114 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483 บัญญัติไว้ว่า “การโอนทรัพย์สิน หรือการกระทำใด ๆ เกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ ซึ่งลูกหนี้ได้กระทำหรือยินยอมให้กระทำในระหว่างระยะเวลาสามปีก่อนมีการขอให้ล้มละลาย และภายหลังนั้น ถ้าเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์มีคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ศาลมีอำนาจสั่งเพิกถอนการโอนหรือการกระทำนั้นได้ เว้นแต่ผู้รับโอนหรือผู้รับประโยชน์จะแสดงให้พอใจศาลว่าการโอนหรือการกระทำนั้นได้กระทำโดยสุจริตและมีค่าตอบแทน” ผู้คัดค้านที่ 1 อ้างว่าได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลยโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน ภาระการพิสูจน์จึงตกอยู่แก่ฝ่ายผู้คัดค้านที่ 1 ที่จะต้องนำพยานมาสืบให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโอนหุ้นพิพาทมาโดยสุจริตและมีค่าตอบแทนนางสาวศิริพร วัชรินทร์ พยานผู้ร้อง ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เบิกความว่าพยานเป็นผู้ทำการสอบสวนคดีนี้เกี่ยวกับกรณีที่ลูกหนี้ (จำเลย) โอนหุ้นพิพาทจำนวน 3,000 หุ้น ของบริษัทโอเรียนทัลไดแคสทิ่ง จำกัด ให้แก่ผู้คัดค้านที่ 1 เมื่อวันที่ 1พฤษภาคม 2528 และต่อมาวันที่ 2 มีนาคม 2530 ผู้คัดค้านที่ 1โอนต่อให้แก่ผู้คัดค้านที่ 2 พยานได้ออกหมายนัดผู้คัดค้านทั้งสองกับเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มาสอบสวน บุคคลดังกล่าวได้รับหมายนัดโดยชอบแล้ว ครั้นถึงวันนัด ผู้คัดค้านที่ 2 กับผู้รับมอบอำนาจของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์มาให้สอบสวนแต่ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่มาโดยไม่แจ้งเหตุขัดข้อง พยานได้ออกหมายนัดเป็นครั้งที่สองผู้คัดค้านที่ 1 ได้รับโดยชอบแล้ว ตามเอกสารหมาย ร.2 ถึง ร.5แต่ผู้คัดค้านที่ 1 ก็ไม่ยอมมา พยานได้ทำการสอบสวนพยานของเจ้าหนี้ผู้เป็นโจทก์ได้ความว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับจำเลยได้ร่วมกันประกอบธุรกิจการค้าโดยร่วมกันก่อตั้งบริษัทโอเรียนทัลไดแคสทิ่ง จำกัดผลิตซิปไนล่อน และผู้คัดค้านทั้งสองกับจำเลยยังได้ร่วมกันประกอบธุรกิจการทอผ้า และก่อตั้งบริษัทขึ้นอีกหลายบริษัท ดังปรากฏรายละเอียดตามสำเนาคำให้การของนายกนก อนัคกุล เอกสารหมาย ร.6พยานเห็นว่าผู้คัดค้านที่ 1 ได้ประกอบธุรกิจการค้าร่วมอยู่กับจำเลย ผู้คัดค้านที่ 1 จึงน่าจะทราบถึงฐานะของจำเลยดีว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พยานจึงได้ทำคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทระหว่างจำเลยกับผู้คัดค้านที่ 1 เสีย ส่วนผู้คัดค้านที่ 1 นำสืบพยานโดยผู้คัดค้านที่ 1 เบิกความอย่างลอย ๆ ว่าขณะรับซื้อหุ้นพิพาทไว้จากจำเลยนั้น ผู้คัดค้านที่ 1 ไม่ทราบว่าจำเลยมีหนี้สินล้นพ้นตัว พิจารณาแล้วเห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1มีความใกล้ชิดสนิทสนมกับจำเลยเป็นอย่างดีโดยรู้จักกันมาก่อนที่จะมาร่วมประกอบธุรกิจการค้าด้วยกันประมาณ 5 ปี ต่อจากนั้นก็ได้ประกอบธุรกิจการค้าอยู่ด้วยกันอีก 4-5 ปี โดยก่อตั้งบริษัทโอเรียนทัลไดแคสซิ่ง จำกัด ผลิตซิปไนลอน และยังได้ร่วมทำธุรกิจการทออีกด้วย นอกจากนี้ยังได้ก่อตั้งบริษัทขึ้นอีกหลายบริษัทจากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้คัดค้านที่ 1 กับจำเลยมีความสนิทสนมใกล้ชิดกันอย่างลึกซึ้ง ก่อนจำเลยจะถูกฟ้องให้เป็นบุคคลล้มละลาย จำเลยได้ถูกฟ้องคดีแพ่งเรียกเงินตามเช็คและถูกฟ้องคดีอาญาเกี่ยวกับความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คอีกหลายคดีสิ่งเหล่านี้ย่อมบ่งชี้ให้เห็นว่า จำเลยเริ่มมีปัญหาขาดแคลนเกี่ยวกับการเงิน และในระหว่างระยะเวลานั้นผู้คัดค้านที่ 1 ก็ได้รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลย จากเหตุผลดังกล่าวเชื่อได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 ต้องรู้อย่างชัดแจ้งว่าจำเลยกำลังมีหนี้สินล้นพ้นตัว เมื่อผู้ร้องเรียกผู้คัดค้านที่ 1 มาเพื่อจะทำการสอบสวนเกี่ยวกับเรื่องการรับโอนหุ้นพิพาทไว้จากจำเลย ผู้คัดค้านที่ 1จึงไม่ยอมมาให้ผู้ร้องทำการสอบสวน พฤติการณ์อันนี้ก็ส่อพิรุธให้เห็นถึงความไม่สุจริตของผู้คัดค้านที่ 1 ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงฟังได้ว่าผู้คัดค้านที่ 1 รับโอนหุ้นพิพาทมาจากจำเลยโดยไม่สุจริต ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. 2483มาตรา 114 ผู้ร้องมีอำนาจยื่นคำร้องขอให้ศาลสั่งเพิกถอนได้ส่วนการโอนหุ้นพิพาทระหว่างผู้คัดค้านที่ 1 กับผู้คัดค้านที่ 2 เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2530 เป็นการโอนกันภายหลังจากโจทก์ฟ้องให้จำเลยเป็นบุคคลล้มละลายแล้วจึงไม่ได้ความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติ ล้มละลาย พ.ศ. 2483 มาตรา 116 ฎีกาของผู้คัดค้านทั้งสองฟังไม่ขึ้น แต่ที่ศาลล่างทั้งสองให้ผู้คัดค้านทั้งสองร่วมกันชดใช้ราคาพร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันยื่นคำร้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนั้น เห็นว่า การเพิกถอนการโอนหุ้นพิพาทเป็นไปโดยผลของคำพิพากษาตราบใดที่ยังไม่มีคำสั่งหรือคำพิพากษาให้เพิกถอนการโอน ก็ยังถือเป็นการโอนโดยชอบอยู่ กรณียังถือไม่ได้ว่ามีการผิดนัดนับแต่วันยื่นคำร้อง ผู้ร้องคงมีสิทธิเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนการโอนเป็นต้นไป”
พิพากษาแก้เป็นว่า ในส่วนดอกเบี้ยให้ผู้คัดค้านทั้งสองชำระนับตั้งแต่วันที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งเพิกถอนการโอน (วันที่ 13กรกฎาคม 2533) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share