แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
วันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิดเป็นเพียงรายละเอียดของฟ้องมิใช่ข้อสารสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5)หากจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ก็มิใช่เหตุอันจะพึงยกฟ้อง
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า มีคนร้ายลักรถจักรยานยนต์ของผู้เสียหายไป พร้อมทั้งเอกสารการซื้อขายรถดังกล่าว และเอกสารที่นายจำลอง ธรรมกุล กับนายเฉลียว โคตรมา ลงชื่อไว้เพื่อจะกรอกข้อความรับรองการซื้อขายรถ แล้วจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมแปลงเอกสารสิทธิ โดยกรอกข้อความลงในเอกสารที่นายจำลองกับนายเฉลียวลงชื่อไว้นั้น ว่า นายเฉลียวได้ขายรถจักรยานยนต์ดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้เขียนข้อความ และจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้นำเอกสารดังกล่าวไปใช้และอ้างสิทธิต่อพนักงานสอบสวน โดยจำเลยที่ 1 รู้ว่าเป็นเอกสารปลอม เจ้าพนักงานจับจำเลยทั้งสองได้ และได้รถจักรยานยนต์กับเอกสารสัญญาซื้อขายและเอกสารที่จำเลยทำปลอมเป็นของกลางโดยจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันลักทรัพย์ดังกล่าวซึ่งอยู่ในความครอบครองของนายจ้าง หรือมิฉะนั้นจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันรับทรัพย์ดังกล่าวไว้โดยรู้ว่าเป็นทรัพย์ที่ได้มาจากการกระทำผิดฐานลักทรัพย์ ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 265, 268, 334, 335(7)(11), 357, 83 ขอให้คืนรถกับสัญญาซื้อขาย และริบสัญญาซื้อขายปลอมของกลาง
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วฟังว่า พยานโจทก์ไม่น่าเชื่อ และวินิจฉัยว่า ทางพิจารณาได้ความว่าเกิดการกระทำผิดก่อนวันที่โจทก์บรรยายฟ้องคนละเดือน เป็นการผิดเดือน ซึ่งเป็นข้อสารสำคัญพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยในข้อกฎหมายว่า โจทก์บรรยายฟ้องว่า เวลาใดไม่ปรากฏชัดระหว่างวันที่ 20 มิถุนายน 2510 ถึงวันที่ 24 มิถุนายน 2510 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานลักทรัพย์หรือมิฉะนั้นวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันเวลาดังกล่าวถึงวันที่ 29 มิถุนายน 2510 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำผิดฐานรับของโจร และวันเวลาใดไม่ปรากฏชัด ระหว่างวันเวลาดังกล่าวข้างต้นถึงวันที่ 27 มิถุนายน 2510 จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ แต่ทางพิจารณาได้ความว่า ระหว่างวันที่ 20 พฤษภาคม 2510 ถึงวันที่ 24 เดือนเดียวกันจำเลยได้ร่วมกันลักรถและเอกสาร หรือระหว่างวันดังกล่าวถึงวันที่ 29 พฤษภาคม 2510 จำเลยร่วมกันทำผิดฐานรับของโจรและร่วมกันปลอมเอกสารสิทธิ ข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาต่างกับฟ้องไป 1 เดือน ถือว่าข้อเท็จจริงที่ปรากฏในทางพิจารณาแตกต่างกับข้อเท็จจริงที่กล่าวในฟ้องในข้อสารสำคัญ จำเลยหลงข้อต่อสู้ด้วยหรือไม่ ไม่สำคัญ พิพากษายืนให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยนำสืบต่อสู้โดยมิได้หลงเข้าใจผิดอย่างใดในการที่เกิดสับสนเกี่ยวกับวันเวลาที่เกิดเหตุ การที่ผิดวันเวลาไปคนละเดือนเกิดจากผู้เสียหายเบิกความคลาดเคลื่อนซึ่งอาจเกิดจากความเข้าใจผิด วันเวลาที่อ้างว่าจำเลยกระทำผิด เป็นเพียงรายละเอียดของฟ้องมิใช่ข้อสารสำคัญตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158(5) และจำเลยมิได้หลงข้อต่อสู้ จึงมิใช่เหตุอันจะพึงยกฟ้อง และเห็นว่าพยานหลักฐานของโจทก์ไม่มั่นคงพอ ไม่น่าเชื่อว่าจำเลยกระทำผิด
พิพากษายืนในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ยกฎีกาโจทก์