แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องการคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 กรณีที่ นายจ้าง ไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้าง นอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการด้วย จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์โดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนก่อนประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับแต่จำเลยเลิกจ้างโจทก์เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวสิ้นสุดลงในขณะที่ประกาศดังกล่าวมีผลใช้บังคับแล้ว ผลการเลิกจ้างจึงต้องบังคับตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานลงวันที่ 16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ที่แก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 เมื่อจำเลยไม่ได้จ้าง โจทก์เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นการครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นลูกจ้างจำเลยได้รับค่าจ้างวันละ 78 บาทกำหนดจ่ายทุกวันที่ 13 และวันที่ 28 ของเดือน จำเลยให้โจทก์หยุดงานเกินกว่า 7 วัน โดยไม่จ่ายค่าจ้าง ถือว่าเป็นการเลิกจ้างและเป็นการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายรวม 18,892 บาทพร้อมดอกเบี้ย กับจ่ายค่าจ้างในวันหยุดพักผ่อนประจำปี ค่าจ้างในวันหยุดตามประเพณีพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นลูกจ้างซึ่งมีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน โดยทำสัญญาจ้างวันที่ 5 กรกฎาคม 2532 และสัญญาสิ้นสุดวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 จำเลยเลิกจ้างเมื่อสัญญาสิ้นสุด จึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยและเงินอื่นตามฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
วันนัดพิจารณาโจทก์จำเลยแถลงรับข้อเท็จจริงว่า จำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์เข้าทำงานกับจำเลยรวม 6 ครั้ง แต่ละครั้งมีกำหนดระยะเวลาการจ้างแน่นอน สัญญาฉบับสุดท้ายคือฉบับพิพาทนี้ศาลแรงงานกลางงดสืบพยาน
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์ทำสัญญาจ้างขณะประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานฉบับลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 46 ยังมีผลบังคับ แม้จะเลิกจ้างเมื่อมีประกาศกระทรวงกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11)ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ออกมายกเลิกความในข้อ 46 และมีผลใช้บังคับแล้ว แต่โจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาจ้างกันในขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิมมีผลบังคับ จึงต้องบังคับไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทยฯ ฉบับเดิม จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า ค่าจ้างสำหรับวันหยุดพักผ่อนประจำปีพิพากษาให้จำเลยจ่ายค่าจ้างสำหรับวันหยุดตามประเพณีพร้อมดอกเบี้ย
โจทก์และจำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงได้ความตามที่ศาลแรงงานกลางฟังเป็นยุติว่า จำเลยรับโจทก์เข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำงานในโรงงานปั่นด้ายของจำเลย โดยจำเลยทำสัญญาจ้างโจทก์รวม 6 ฉบับ สัญญาจ้างแต่ละฉบับมีกำหนดระยะเวลาการจ้าง 120 วัน ซึ่งเมื่อครบกำหนดตามสัญญาก็เลิกจ้าง แล้วให้หยุดงาน 3-4 วัน จึงมาทำสัญญากันใหม่ ซึ่งตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้ายตามเอกสารหมาย ล.1 ระบุไว้ว่า นายจ้างตกลงจ้างและลูกจ้างตกลงรับจ้างทำงานในตำแหน่งหน้าที่ชั่วคราว มีกำหนดระยะเวลา 120 วันตั้งแต่วันที่ 5 กรกฎาคม 2532 ถึงวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532 และเมื่อครบกำหนดระยะเวลาดังกล่าว สภาพการจ้างตามสัญญานี้เป็นอันสิ้นสุดลง จากข้อเท็จจริงที่ได้ความว่าดังกล่าวเห็นว่า สัญญาจ้างดังกล่าวแต่ละฉบับเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้า รวมทั้งวันที่เริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งสัญญาไว้ จึงเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน คือมีกำหนดระยะเวลาการจ้างครั้งละ 120 วันอายุการทำงานของโจทก์ต้องถือตามระยะเวลาการจ้างที่ระบุไว้ในสัญญาจ้างแต่ละฉบับ มิใช่ถือเอากำหนดระยะเวลาการจ้างโดยเริ่มนับแต่วันที่โจทก์เข้าทำงานตามสัญญาจ้างฉบับแรก ปัญหาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่โจทก์เมื่อเลิกจ้างหรือไม่ เพียงใด เห้นว่าแม้สัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยจะเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอน จำเลยไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้างตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่16 เมษายน 2515 ข้อ 46 แต่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทยข้อดังกล่าวได้มีการแก้ไขใหม่ตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน(ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 13 ตุลาคม 2532 ว่า กรณีที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อเลิกจ้างนั้นนอกจากสัญญาจ้างระหว่างนายจ้างและลูกจ้างและลูกจ้างจะเป็นสัญญาที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนแล้ว ต้องเป็นการจ้างเพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาลหรือเป็นงานตามโครงการด้วย คดีนี้จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2532ในขณะที่ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 มีผลใช้บังคับ ผลของการที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ตามสัญญาจ้างฉบับนี้จึงต้องบังคับและเป็นไปตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ 16เมษายน 2515 ข้อ 46 ซึ่งแก้ไขใหม่โดยประกาศกระทรวง เรื่องการคุ้มครองแรงงาน (ฉบับที่ 11) ลงวันที่ 11 ตุลาคม 2532 ข้อ 7เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยจ้างโจทก์เพื่อทำงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวเป็นการจร เป็นไปตามฤดูกาล หรือเป็นงานตามโครงการ จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเมื่อเลิกจ้าง โจทก์ทำงานกับจำเลยตามสัญญาฉบับสุดท้ายมีอายุการทำงาน 120 วัน จำเลยต้องจ่ายค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้างอัตราสุดท้ายสามสิบวันเป็นเงิน 1,340 บาท
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยจำนวน 2,340 บาทแก่โจทก์ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง.