คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1820/2537

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นข้อพิพาทในข้อ (1) ว่าโจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ โดยมิได้ระบุเจาะจงว่าเหตุฟ้องหย่าดังกล่าวคือเหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516เมื่อการฟ้องคดีเพื่อหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยานอกจากเหตุตามมาตรา 1516 แล้วยังมีกรณีตามมาตรา 1515 อีกด้วย ฉะนั้นเมื่อมีการหย่าโดยความยินยอมแล้วแต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมยังไม่สมบูรณ์ตามนัยมาตรา 1515 อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีเหตุฟ้องให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ โจทก์ได้บรรยายฟ้องไว้แล้วว่า โจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่าและแบ่งทรัพย์สินกันต่อหน้าพยาน 2 คน นอกเหนือไปจากเหตุตามมาตรา 1516 ดังนั้น การที่ศาลยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยมาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอมแล้วพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์ จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 สิทธิฟ้องร้องที่ระงับสิ้นไปเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปีตามมาตรา 1529คือ สิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามมาตรา 1516(1)(2)(3) หรือ (6)หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนการหย่าโดยความยินยอมตามมาตรา 1514 วรรคสองและมาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปีนับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกตกลงการหย่าฉะนั้นเมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้องยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์จำเลยเป็นสามีภริยาโดยชอบด้วยกฎหมายโจทก์รับราชการเป็นอาจารย์ที่โรงเรียนชุมชนบ้านโคกปรง จำเลยกระทำให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าถูกดูถูกและเกลียดชังโดยจำเลยชอบที่จะไปหาเรื่องทะเลาะกับโจทก์ที่โรงเรียน เป็นการไม่ให้เกียรติโจทก์ กล่าวถ้อยคำเหยียดหยามโจทก์ว่า “ครูหมา โคตรพ่อโคตรแม่มึงเป็นหมา จะเอาชีวิตมึงให้ได้” การกระทำของจำเลยถือเป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีภริยาอย่างร้ายแรง เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม2530 โจทก์จำเลยได้ทำบันทึกยินยอมหย่าและแบ่งทรัพย์สินกันแล้วแต่จำเลยบ่ายเบี่ยงและหลบเลี่ยงไม่ไปจดทะเบียนหย่ากับโจทก์ขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากไม่ไป ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยกล่าวคำหมิ่นประมาทหรือเหยียดหยามโจทก์หากจำเลยกล่าวจริง ก็ต้องกล่าวก่อนวันที่ 17 ธันวาคม 2530ซึ่งเป็นวันทำบันทึกยินยอมหย่า และนับจากวันทำบันทึกดังกล่าวจนถึงวันฟ้องเป็นเวลาพ้นกำหนดหนึ่งปีแล้ว สิทธิฟ้องร้องเพราะเหตุหย่าขาดอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ที่จำเลยฎีกาว่าศาลชั้นต้นกำหนดประเด็นว่า (1) โจทก์มีเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้หรือไม่ และ(2) สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วหรือไม่ ดังนี้ เหตุฟ้องหย่าตามประเด็นข้อ (1) จึงเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516(2) (ก)(ข) หรือ (ค) และ (6) ส่วนตามประเด็นข้อ (2) เป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 แต่การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2พิจารณาเฉพาะหนังสือมอบทรัพย์สินตามเอกสารหมาย จ.2 จึงเป็นการพิจารณานอกประเด็นข้อพิพาทและขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 142 นั้น เห็นว่า ตามประเด็นข้อ (1) ศาลชั้นต้นมิได้ระบุเจาะจงไว้ว่า เหตุฟ้องหย่าดังกล่าวคือ เหตุตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 การฟ้องคดีเพื่อหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยา นอกจากกรณีที่ต้องมีเหตุฟ้องหย่าได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1516 แล้ว ยังมีกรณีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515 ที่บัญญัติว่าการหย่าโดยความยินยอมจะสมบูรณ์ต่อเมื่อสามีภริยาได้จดทะเบียนหย่านั้นแล้วฉะนั้น ถ้ามีการหย่าโดยความยินยอมตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสอง แล้ว แต่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ยินยอมไปจดทะเบียนหย่า การหย่าโดยความยินยอมดังกล่าวย่อมยังไม่สมบูรณ์ ตามนัยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1515อีกฝ่ายหนึ่งจึงมีเหตุฟ้อง เพื่อให้ศาลพิพากษาให้มีผลเป็นการหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันตามหนังสือยินยอมได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 และคดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องไว้แล้วว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกด้วยความยินยอมของทั้งสองฝ่ายตกลงหย่ากันและแบ่งทรัพย์สินกันต่อหน้าพยาน 2 คน เมื่อโจทก์แจ้งให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าตามบันทึกที่ตกลงกัน จำเลยบ่ายเบี่ยงไม่มีทางใดที่จะบังคับจำเลยได้จึงต้องฟ้องเป็นคดีนี้ ทั้งโจทก์ระบุไว้ในคำขอท้ายฟ้องว่าขอให้จำเลยจดทะเบียนหย่ากับโจทก์หากจำเลยไม่ไปจดทะเบียนหย่าก็ขอให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ดังนั้น การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ยกเอาบันทึกข้อตกลงของโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มาวินิจฉัยว่าเป็นหลักฐานการหย่าโดยความยินยอม โจทก์จึงฟ้องเพื่อบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนหย่าได้ และพิพากษาให้จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากับโจทก์นั้น จึงไม่เป็นการวินิจฉัยนอกประเด็นและไม่ขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 ดังจำเลยกล่าวอ้าง
ส่วนข้อที่จำเลยฎีกาว่า การกระทำของจำเลยไม่ถึงขนาดให้โจทก์ได้รับความอับอายขายหน้าอย่างร้ายแรง หรือได้รับความดูถูกเกลียดชังเพราะเหตุที่คงเป็นสามีของจำเลย และไม่เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายหรือเดือดร้อนเกินควร ทั้งไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อการเป็นสามีหรือภริยาอย่างร้ายแรง โจทก์ไม่อาจอ้างมาเป็นเหตุฟ้องหย่าจำเลยได้ และสิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1529 นั้น เห็นว่า เมื่อประมวลความประสงค์ของโจทก์ที่ปรากฏตามคำฟ้องและคำขอท้ายฟ้องเห็นได้อย่างชัดแจ้งว่าโจทก์ฟ้องจำเลยเพื่อขอให้บังคับตามบันทึกข้อตกลงการหย่าที่โจทก์จำเลยทำไว้ต่อกันตามเอกสารหมาย จ.2ส่วนข้อที่โจทก์บรรยายเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516 มาด้วย เป็นเพียงส่วนประกอบที่ทำให้เห็นว่าเมื่อเกิดเหตุตามมาตรา 1516 แล้วโจทก์จำเลยจึงทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งในการนำสืบของจำเลย จำเลยก็เบิกความยอมรับว่าโจทก์จำเลยทำบันทึกข้อตกลงกันไว้ตามเอกสารหมาย จ.2แต่อ้างว่าเป็นการตกลงเฉพาะเรื่องทรัพย์สินมิได้กล่าวถึงการหย่า ดังนั้น จึงต้องวิเคราะห์ว่าเอกสารหมาย จ.2 มีผลเป็นการตกลงเกี่ยวกับการหย่าหรือไม่ ศาลฎีกาตรวจข้อความในเอกสารหมายจ.2 แล้ว นอกจากมีข้อตกลงระหว่างโจทก์จำเลยเกี่ยวกับการแบ่งทรัพย์สินและการดูแลบุตร ยังมีข้อความระบุว่า “ผู้เป็นภรรยาพอใจไม่เรียกร้องสิทธิใด ๆ ทั้งสิ้น นอกจากสิ่งที่ได้ตกลงกันมาแล้วเพื่อเป็นหลักฐานการหย่าร้าง ครั้งนี้จึงให้มีพยานหลักฐานไว้เป็นสำคัญ” ซึ่งมีข้อความระบุถึงการหย่าไว้แล้ว นอกจากนี้โจทก์ยังมีนายสนิท พวงเพชร อาจารย์ใหญ่โรงเรียนชุมชนบ้านโคกปรง และนายจรัญ สิงห์ช่างชัย กำนันตำบลโคกปรงมาเป็นพยาน โดยนายสนิทเบิกความว่าจำเลยได้ร้องเรียนต่อพยานว่าโจทก์มีความสัมพันธ์ทางชู้สาวกับหญิงอื่น ขอให้ช่วยไกล่เกลี่ย ต่อมาโจทก์จำเลยทำบันทึกยินยอมหย่ากันที่บ้านนายจรัญโดยพยานและนายจรัญลงนามเป็นพยานซึ่งนายจรัญก็เบิกความสนับสนุนในเรื่องการทำบันทึกดังกล่าวและการลงนามเป็นพยาน เห็นว่า พยานโจทก์ทั้งสองปากไม่มีผลประโยชน์หรือส่วนได้เสียกับฝ่ายใดจึงเป็นพยานคนกลาง คำเบิกความของพยานโจทก์สองปากนี้มีน้ำหนักให้เชื่อได้ เมื่อบันทึกข้อตกลงในการหย่ากันระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 มีผู้ลงนามเป็นพยาน2 คน จึงครบถ้วนเป็นข้อตกลงหย่าด้วยความยินยอมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1514 วรรคสองและที่จำเลยโต้แย้งในฎีกาว่า สิทธิฟ้องหย่าระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1529 นั้น เห็นว่าสิทธิฟ้องร้องที่ระบุไว้ในมาตรา 1529คือสิทธิฟ้องร้องโดยอาศัยเหตุตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1516(1)(2)(3) หรือ (6) หรือมาตรา 1523 เป็นคนละกรณีกับการฟ้องขอให้จดทะเบียนหย่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1514 วรรคสอง มาตรา 1515 ซึ่งมีอายุความฟ้องร้องภายในสิบปี นับแต่วันที่ทั้งสองฝ่ายทำบันทึกข้อตกลงการหย่า เมื่อนับแต่วันดังกล่าวจนถึงวันที่โจทก์นำคดีมาฟ้อง ยังไม่เกินสิบปี จึงไม่ขาดอายุความ ประกอบกับจำเลยมิได้ดำเนินการอย่างใดเพื่อให้บันทึกข้อตกลงดังกล่าวไม่มีผลบังคับ และไม่ปรากฏพฤติการณ์ที่แสดงว่าคู่กรณีตกลงยกเลิกบันทึกข้อตกลงดังกล่าวแล้ว ดังนั้น บันทึกข้อตกลงหย่าขาดจากกันและแบ่งทรัพย์สินระหว่างโจทก์จำเลยตามเอกสารหมาย จ.2 จึงมีผลตามกฎหมายโจทก์มีสิทธิฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามข้อตกลงดังกล่าวได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาให้โจทก์จำเลยหย่าขาดจากการเป็นสามีภริยากันชอบแล้ว ฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share