แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 มีผู้เป็นหุ้นส่วนสองคน คือโจทก์ซึ่งเป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิด และจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ โจทก์กล่าวหาว่าจำเลยที่ 2 ยักยอกทรัพย์ ของห้างหุ้นส่วน และจำเลยที่ 2 กล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ของห้างหุ้นส่วน จนโจทก์และจำเลยที่ 2 ต่างถูกพนักงานอัยการฟ้องคดีอาญาในความผิดที่ต่างฝ่ายต่างกล่าวหาซึ่งกันและกัน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ปรองดองกันไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน จึง เป็นกรณีที่มีเหตุทำให้ห้างหุ้นส่วนเหลือวิสัยที่จะดำรง คงอยู่ต่อไปได้ ศาลย่อมพิพากษาให้ห้างหุ้นส่วนเลิกกัน
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์และจำเลยที่ 2 ตกลงเข้าหุ้นส่วนกันก่อตั้งห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 ขึ้น โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 ได้ยักยอกเงินและทรัพย์สินของห้างและลงบัญชีทรัพย์สินของห้างเป็นเท็จ ขอให้พิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1 เสีย
จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นผู้ลงทุนในห้างจำเลยที่ 1 แต่ผู้เดียวที่จดทะเบียนว่าโจทก์เป็นหุ้นส่วนด้วยนั้นเป็นเพียงนิติกรรมอำพราง โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้เลิกห้างหุ้นส่วนจำกัดจำเลยที่ 1
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าห้างจำเลยที่ 1 มีผู้เป็นหุ้นส่วนเพียง 2 คน คือโจทก์และจำเลยที่ 2 และได้เกิดกรณีพิพาทเกี่ยวกับการเงินของห้างจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ได้แจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีแก่จำเลยที่ 2 ในข้อหาความผิดต่อพระราชบัญญัติกำหนดความผิดเกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจดทะเบียน ห้างหุ้นส่วนจำกัด ฯลฯ และยักยอกทรัพย์ ซึ่งต่อมาพนักงานอัยการได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยที่ 2 ในความผิดดังกล่าวต่อศาล คดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลอาญา และโจทก์ถูกพนักงานอัยการฟ้องเป็นจำเลยในข้อหาลักทรัพย์ของห้างจำเลยที่ 1 แม้กรณีพิพาทกันนี้จะยังไม่ปรากฏผลเป็นที่ยุติว่าจำเลยที่ 2 และโจทก์จะมีความผิดตามข้อกล่าวหาหรือไม่ แต่จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า ผู้เป็นหุ้นส่วนไม่ปรองดองกัน ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังเป็นคู่พิพาทในคดีอาญากันอีกเช่นนี้ย่อมเป็นที่ประจักษ์ชัดว่าผู้เป็นหุ้นส่วนของห้างจำเลยที่ 1 ไม่สามารถที่จะดำเนินกิจการกันต่อไปได้อีก กรณีจึงมีเหตุทำให้ห้างจำเลยที่ 1 เหลือวิสัยที่จะดำรงคงอยู่ต่อไปได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1057(3) ประกอบกับมาตรา 1080
พิพากษายืน