แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 นำรถยนต์ของกลางไปกระทำความผิดมาครั้งหนึ่งแล้วซึ่งผู้ร้องเคยติดต่อขอรถยนต์ของกลางคืนจากพนักงานสอบสวน แสดงว่าผู้ร้องทราบเรื่องแล้ว แต่หาได้บอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์ของกลางคืนทันทีไม่กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับรถยนต์ของกลางกลับไปครอบครองใช้สอยและรับเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1ต่อมาจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ของกลางมา กระทำความผิดคดีนี้อีกซึ่งความข้อนี้อาจเป็นเพราะว่าตามสัญญาเช่าซื้อมีกำหนดให้จำเลยที่ 1ต้องรับผิดต่อผู้ร้องในทุกกรณีอยู่แล้วนั่นเอง ผู้ร้องจึงมิได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 พฤติการณ์แสดงว่าแม้จำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้กระทำความผิดผู้ร้องก็ไม่ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อการที่ผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลาง จึงเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต ไม่มีอำนาจที่จะร้องขอคืนของกลาง
ย่อยาว
คดีนี้สืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำเลยทั้งสองตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ และสั่งริบรถยนต์คันหมายเลขทะเบียนผ-6532 เชียงใหม่และไม้ของกลาง
ผู้ร้องยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลาง ได้ให้จำเลยที่ 1 เช่าซื้อไป โดยผู้ร้องมิได้รู้เห็นเป็นใจในการกระทำความผิด ขอให้สั่งคืนรถยนต์แก่ผู้ร้อง
โจทก์คัดค้านว่า ผู้ร้องไม่ได้เป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางและรู้เห็นกับจำเลยทั้งสองในการกระทำความผิด ขอให้ยกคำร้อง
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกคำร้อง
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า รถยนต์ของกลางเป็นของผู้ร้อง เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2533 จำเลยที่ 1ได้เช่าซื้อรถยนต์ของกลางไปจากผู้ร้อง ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อเอกสารหมาย ร.1 ปัญหาว่าผู้ร้องมีอำนาจร้องขอคืนรถยนต์ของกลางหรือไม่เห็นว่า ตามสัญญาเช่าซื้อ นอกจากจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เช่าซื้อจะต้องไม่นำรถยนต์ของกลางไปใช้ในทางที่ขัดต่อกฎหมายแล้วยังมีข้อความทำนองให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดเกี่ยวกับการที่รถยนต์ของกลางต้องสูญหายหรือเสียหายไปในทุกกรณีอีกด้วย แต่ก็ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 27 กันยายน 2533 จำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ของกลางไปกระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 2675/2533ของศาลจังหวัดเชียงใหม่มาครั้งหนึ่งแล้ว ซึ่งในคดีนั้นผู้ร้องก็เคยติดต่อขอรถยนต์ของกลางคืนจากพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ปรากฏตามเอกสารหมาย ร.6 แสดงว่าผู้ร้องได้ทราบเรื่องดังกล่าวแล้ว แต่ผู้ร้องก็หาได้บอกเลิกสัญญาและติดตามยึดรถยนต์ของกลางคืนทันทีไม่ กลับปล่อยให้จำเลยที่ 1เป็นผู้รับรถยนต์ของกลางกลับไปครอบครองใช้สอยและรับเงินค่าเช่าซื้อจากจำเลยที่ 1 ต่อมาจนกระทั่งจำเลยที่ 1 ได้นำรถยนต์ของกลางมา กระทำความผิดต่อพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ ในคดีนี้อีก ซึ่งความข้อนี้อาจเป็นเพราะว่าตามสัญญาเช่าซื้อมีข้อกำหนดให้จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อผู้ร้องในทุกกรณีอยู่แล้วนั่นเอง ผู้ร้องจึงมิได้รับความเสียหายจากการกระทำของจำเลยที่ 1 และไม่จำต้องถือปฏิบัติตามสัญญาเช่าซื้อกับจำเลยที่ 1 โดยเคร่งครัดแต่อย่างใด พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าแม้จำเลยที่ 1 จะนำรถยนต์ของกลางไปใช้ในการกระทำความผิด ผู้ร้องก็ไม่ประสงค์จะบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ การที่ผู้ร้องมาร้องขอคืนของกลางในลักษณะเช่นนี้ จึงเป็นการกระทำไปเพื่อประโยชน์ของจำเลยที่ 1 ซึ่งเท่ากับเป็นการกระทำแทนจำเลยที่ 1นั่นเอง การกระทำของผู้ร้องจึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต แม้ผู้ร้องจะเป็นเจ้าของรถยนต์ของกลางก็ไม่มีอำนาจที่จะร้องขอคืนของกลาง คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 2 ชอบแล้ว ฎีกาของผู้ร้องฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน