คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1818/2505

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทในต่างประเทศ มีบริษัทโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในการประกอบกิจการในประเทศไทย ซึ่งเป็นเหตุให้ได้รับเงินได้หรือผลกำไรในประเทศไทยแล้ว กรณีภาษีเงินได้ย่อมต้องปรับบทตามประมวลรัษฎากรมาตรา 76 ทวิ ซึ่งบัญญัติให้ถือว่า บริษัทในต่างประเทศนั้นประกอบกิจการในประเทศไทยและให้ถือว่าบริษัทโจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทในต่างประเทศนั้นและบริษัทโจทก์ย่อมมีหน้าที่ และความรับผิดในการยื่นรายการและเสียภาษีตามความที่บัญญัติไว้นั้น แต่จะนำมาตรา 76 ทวินี้ไปใช้กับกรณีภาษีการค้าหาได้ไม่ เพราะอยู่ต่างส่วนต่างหมวดกัน เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าบริษัทโจทก์ เป็นแต่เพียงผู้ติดต่อแทน บริษัทในต่างประเทศเฉพาะในกิจการลงนามในสัญญาการทวงถามให้จ่ายเงินตามสัญญา การจัดให้มีการออกใบรับเงินและการรับส่งวัสดุเครื่องอุปกรณ์ตามสัญญาซึ่ง เป็นการกระทำเป็นผู้ติดต่อในกิจการเฉพาะรายตามสัญญาเท่านั้น จะถือว่าได้มีการประกอบหรือดำเนินการค้าเป็นปกติธุระอันมีบริษัทโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนยังไม่ได้ บริษัทโจทก์จึงไม่ต้องรับผิดในภาษีการค้า

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าบริษัท เยนเนอร์รัลอีเลกตริค จำกัดในประเทศอังกฤษ ได้ตกลงขายเครื่องโทรศัพท์กับองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การส่งสิ่งของก็ส่งโดยตรงต่อองค์การโทรศัพท์ การจ่ายเงินก็จ่ายในประเทศอังกฤษตรงต่อบริษัทเยนเนอร์รัลอีเล็คตริค จำกัด หนังสือสัญญาก็ทำในนามของบริษัทเยนเนอร์รัล อีเล็คตริค จำกัด เพียงแต่ บริษัทเยนเนอรัลฯ ให้โจทก์เซ็นสัญญาในนามของบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ เท่านั้น โจทก์ไม่มีอำนาจกระทำการใด ๆ บริษัทเยนเนอร์รัล ฯ กับองค์การโทรศัพท์ ฯ ติดต่อกันโดยตรงตัวต่อตัว โจทก์ไม่ได้รับทราบและไม่ได้ผ่านมือโจทก์เลย
วันที่ ๔ มี.ค. ๒๕๐๑ เจ้าพนักงานประเมินแจ้งว่าโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัท เยนเนอร์รัล ฯ ไม่ได้ยื่นรายการเพื่อเสียภาษีการค้าประจำเดือนมกราคม ๒๔๙๗ ถึงเดือนธันวาคม ๒๕๐๐ เป็นจำนวนภาษีที่จะชำระหรือชำระเพิ่มเป็นเงิน ๗๕๐,๓๙๖ บาท ๙๙ สตางค์ ให้โจทก์นำไปชำระ และ
เมื่อวันที่ ๓๑ มี.ค. ๒๕๐๑ เจ้าพนักงานประเมินภาษีแจ้งมายังโจทก์ว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนในการประมูลติดต่อทำสัญญา จำหน่ายและติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลขและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย เป็นเหตุให้บริษัทเยนเนอร์รัล ฯ ได้รับเงินในประเทศไทยรอบระยะบัญชี ปี พ.ศ. ๒๔๙๘ เป็นเงิน ๑,๖๙๘,๔๘๐ บาท โจทก์มีความรับผิดในการยื่นรายการเสียภาษีเฉพาะส่วนที่เกี่ยวกับเงินได้ตามมาตรา ๗๖ ทวิ ประมวลรัษฎากร แต่โจทก์มิได้ยื่นทำรายการและเสียภาษีเงินได้ ซึ่งโจทก์จะต้องเสียภาษีรวม ๓ รายการ รวมเป็นเงิน ๒๗๕,๓๕๑.๑๐ บาท
โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมสรรพากรๆชี้ขาดตามคำสั่งที่ ๑๕๖๒๖/๒๕๐๑ ให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีเงินได้นิติบุคคลตามคำสั่งของเจ้าพนักงานประเมิน
โจทก์เห็นว่าคำสั่งของอธิบดีกรมสรรพากรไม่ชอบ จึงขอให้ศาลยกเลิกเพิกถอนเสีย
จำเลยให้การต่อสู้คดีว่า คำสั่งอธิบดีกรมสรรพากรที่ยกอุทธรณ์ของโจทก์นั้นชอบแล้ว
ศาลชั้นต้นฟังว่า ในเรื่องภาษีการค้า บริษัทโจทก์มิได้เป็นผู้ทำการแทนบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ เพราะไม่มีสถานการค้าเพื่อประกอบการค้าอันจะต้องเสียภาษีการค้า โจทก์จึงไม่ต้องรับผิด แต่ในเรื่องภาษีเงินได้ บริษัทโจทก์เป็นผู้ทำการแทนบริษัทเยนเนอร์รับ ฯ ๆ ได้รับผลกำไรในประเทศไทย ต้องเสียภาษีเงินได้ พิพากษาว่า คำชี้ขาดอุทธรณ์ที่ให้บริษัทโจทก์เสียภาษีเงินได้ ๒๗๕,๓๕๑.๑๐ บาท ถูกต้อง ให้ยกฟ้อง ส่วนคำชี้ขาดอุทธรณ์ที่ให้โจทก์เสียภาษีการค้า ๗๕๐,๓๙๖.๙๙ บาท ไม่ชอบให้ยกเลิกเพิกถอนเสีย
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่าบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ รับเงินในต่างประเทศไม่ได้รับเงินในประเทศไทย โจทก์ไม่ต้องรับผิดตามประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๐ พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกเลิกเพิกถอนคำสั่งประเมินภาษีการค้า และเงินได้ตามที่เจ้าพนักงานประเมินมาและคำสั่งชั้นอุทธรณ์ของอธิบดีกรมสรรพากรนั้นเสีย
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามมาตรา ๗๐ แห่งประมวลรัษฎากรอันเป็นกฎหมายที่ใช้อยู่ในเวลาที่เกิดกรณีพิพาทนี้ (คือ ก่อนฉบับแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๑๖) ๒๕๐๒) ความสำคัญไม่ใช่อยู่ที่การรับ กฎหมายบ่งระบุไว้สำหรับในเรื่องการจ่าย คือ ที่จ่ายในประเทศไทย ถ้าบริษัทต่างประเทศได้รับเงินนั้นแล้ว จะรับในที่ใดไม่สำคัญ บริษัทต่างประเทศนั้นก็ต้องเสียภาษีดังศาลฎีกา ได้วินิจฉัยไว้แล้วในฎีกาที่ ๗๗๓/๒๕๐๔ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฏว่า เงินค่าขายและติดตั้งเครื่องโทรศัพท์ นั้น กรมไปรษณีย์โทรเลขและองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทยเป็นผู้จ่าย ต้องถือว่าเป็นการจ่ายในประเทศไทย แม้การส่งเงินนั้นไปให้บริษัทเยนเนอร์รัล ฯ ในประเทศอังกฤษ เป็นเงินปอนด์และสะเตอร์ลิง ก็เป็นการจ่ายในประเทศไทยอยู่นั่นเอง และที่ศาลอุทธรณ์ยกมาตรา ๗๐ ขึ้นปรับบทกับกรณีนี้ ศาลฎีกาเห็นว่ายังไม่ถูกต้อง เพราะมาตรา ๗๐ เป็นบทบังคับในกรณีที่บริษัทต่างประเทศมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย กรณีนี้เป็นเรื่องที่บริษัทต่างประเทศประกอบกิจการในประเทศไทย กรณีต้องด้วยมาตรา ๗๖ ทวิมากกว่า ประเด็นจึงมีว่า บริษัทเยนเนอร์รัล ฯ
ซึ่งประกอบกิจการค้าขายและติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์ให้แก่กรมไปรษณีย์โทรเลข และองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย นั้นได้ประกอบกิจการโดยโจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทยหรือไม่ ศาลฎีกาได้วินิจฉัยถึงพฤติการณ์ต่าง ๆ ของโจทก์ อันเกี่ยวกับสัญญาติดตั้งเครื่องชุมสายโทรศัพท์รายนี้แล้วเห็นว่า บริษัทโจทก์ได้แสดงออกโดยชัดแจ้งแล้วว่า โจทก์เป็นผู้ทำการแทนหรือผู้ทำการติดต่อในประเทศไทยของบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ แล้ว จึงต้องถือว่าโจทก์เป็นตัวแทนของบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ ที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศ มีหน้าที่และความรับผิดในการยื่นรายการและการเสียภาษีตามความในประมวลรัษฎากร มาตรา ๗๖ ทวิแล้ว
สำหรับกรณีภาษีการค้านั้น กรณีเกิดระหว่าง พ.ศ. ๒๔๙๗ ถึง พ.ศ. ๒๕๐๐ ต้องบังคับตามประมวลรัษฎากรหมวด ๔ ว่าด้วยภาษีการค้า มาตรา ๗๘ และมาตรา ๗๙ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติม ฯ (ฉบับที่ ๑๐) พ.ศ. ๒๔๙๖ ศาลฎีกาเห็นว่า จะนำมาตรา ๗๖ ทวิมาใช้บังคับกรณีภาษีการค้าหาได้ไม่ เพราะอยู่ต่างส่วนต่างหมวดกัน ศาลฎีกาวินิจฉัยและสรุปว่า พฤติกรรมของโจทก์ที่ปรากฏในคดีนี้ บริษัทโจทก์เป็นแต่เพียงผู้ติดต่อแทนบริษัทเยนเนอร์รัล ฯ เฉพาะในกิจการลงนามในสัญญาระหว่างรัฐบาลไทยหรือองค์การโทรศัพท์แห่งประเทศไทย การทวงถามให้จ่ายเงินตามสัญญา การจัดให้มีการออกใบรับเงิน และการรับส่งวัสดุอุปกรณ์ชุมสายโทรศัพท์ เป็นการกระทำเป็นผู้ติดต่อในกิจการเฉพาะรายตามสัญญาเท่านั้น ซึ่งกิจการเหล่านี้จะถือว่าได้มีการประกอบหรือดำเนินการค้าเป็นปกติธุระอันมีโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้าแทนยังไม่ได้ โจทก์ไม่ต้องรับผิดในภาษีการค้าในจำนวนเงินที่พิพาท
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share