แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้ใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวไม่ปรากฏว่าจำเลยอื่นมีหรือใช้อาวุธปืนด้วยจำเลยอื่นจึงไม่มีความผิดฐานทำการปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามมาตรา 340ตรีที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่21พฤศจิกายนพ.ศ.2514 ข้อ15 ด้วยและเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์
และเมื่อปรากฏจากฎีกาของโจทก์ว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1,2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 546/2518 นั้น จำเลยที่ 1,2 ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้วปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 764/2518 ของศาลชั้นต้นศาลฎีกาให้นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อกันได้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้ง 6 คนร่วมกันมีมีดและปืนเป็นอาวุธติดตัวไปทำการปล้นทรัพย์ของนายแฝง ปัดเพชร นายบุญมี แจ่มสุวรรณ และนายบุญรอดผุย ทรัพย์เหล่านี้อยู่ในความครอบครองของนายแฝง ปัดเพชรไปโดยทุจริตโดยจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนตีทำร้ายนายแฝง ปัดเพชรและนางจำลอง ปัดเพชร จนเป็นเหตุให้บุคคลทั้งสองเกิดอันตรายแก่กายและขู่เข็ญบังคับเอาตัวนายแฝง ปัดเพชร ไปเป็นประกัน เพื่อให้ความสะดวกแก่การปล้นทรัพย์ พาเอาทรัพย์นั้นไป เพื่อยึดถือทรัพย์นั้น และเพื่อให้พ้นจากการจับกุม ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340,340 ตรี 83ประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ข้อ 14, 15 และนับโทษจำเลยที่ 1, 2, 6ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 546/2518 และหมายเลขแดงที่ 420/2518ของศาลชั้นต้น เพราะจำเลยเป็นบุคคลคนเดียวกันในคดีเหล่านี้ ให้คืนกระบือของกลางแก่เจ้าของ ของกลางอื่นให้ริบ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาวิทยุ1 เครื่อง อาวุธปืนแก๊ปยาว 1 กระบอก พระเครื่อง 1 ห่อ ธนบัตรชนิดต่าง ๆ 600 บาท รวมราคา 1,950 บาท ที่ยังไม่ได้คืนแก่เจ้าของ
จำเลยทุกคนต่างให้การรับสารภาพตามฟ้องทุกประการ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วเห็นว่า จำเลยได้กระทำผิดจริง โดยมีอาวุธปืนเข้าทำการปล้นทรัพย์ พิพากษาว่าจำเลยทั้ง 6 คนมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340, 340 ตรี ซึ่งได้แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14, 15 จำคุกคนละ 18 ปี ลดฐานรับสารภาพตามมาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 9 ปี นับโทษจำเลยที่ 6 ต่อคดีหมายเลขแดงที่ 420/2518 ของศาลชั้นต้น ส่วนจำเลยที่ 1,2 ไม่นับโทษต่อเพราะคดีที่ขอให้นับโทษต่อยังมิได้พิพากษาคืนกระบือของกลางแก่เจ้าของของกลางอื่นให้ริบ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาวิทยุ 1 เครื่อง อาวุธปืนแก๊ปยาว 1 กระบอก พระเครื่อง 1 ห่อ ธนบัตร 600 บาท รวม 1,950 บาทแก่เจ้าของ
จำเลยที่ 6 อุทธรณ์ว่า โจทก์สืบพยานไม่พอฟังว่าจำเลยที่ 6 กระทำผิดตามฟ้อง ควรยกประโยชน์ความสงสัยให้แก่จำเลย
ศาลอุทธรณ์พิจารณาแล้วฟังว่า จำเลยที่ 6 ได้กระทำผิดจริง ลงโทษจำเลยที่ 6 ได้ แต่ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยที่ 1 คนเดียวมีอาวุธปืนไปในการปล้นทรัพย์ จำเลยอื่นจึงไม่ผิดฐานทำการปล้นทรัพย์โดยมีอาวุธปืน และเป็นเหตุในลักษณะคดี มีผลถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ด้วย พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า จำเลยที่ 2, 3, 4, 5 และ 6 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 340 วรรค 2 แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2514 ข้อ 14 จำคุกจำเลยคนละ 12 ปีลดฐานรับสารภาพตามมาตรา 78 คนละกึ่งหนึ่ง คงจำคุกคนละ 6 ปีนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยทุกคนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 6 ฎีกาเช่นเดียวกับที่อุทธรณ์
ศาลฎีกาเห็นว่า พยานหลักฐานโจทก์นำสืบฟังได้ว่า จำเลยที่ 6 ได้กระทำผิดจริง ส่วนจำเลยที่ 1 ปรากฏว่าเป็นผู้ใช้อาวุธปืนในการปล้นทรัพย์แต่เพียงผู้เดียวไม่ปรากฏว่าจำเลยอื่นมีหรือใช้อาวุธปืนด้วย จำเลยอื่นจึงไม่มีความผิดฐานทำการปล้นทรัพย์โดยมีหรือใช้อาวุธปืนตามมาตรา 340 ตรี ที่แก้ไขโดยประกาศของคณะปฏิวัติฉบับที่ 11 ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514ข้อ 15 ด้วย และเป็นเหตุในลักษณะคดีศาลอุทธรณ์มีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยอื่นที่มิได้อุทธรณ์ได้ ส่วนการนับโทษต่อนั้นเมื่อปรากฏจากฎีกาของโจทก์ว่า คดีที่โจทก์ขอให้นับโทษจำเลยที่ 1,2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขดำที่ 546/2518 นั้น จำเลยที่ 1 ที่ 2 ถูกศาลพิพากษาลงโทษจำคุกแล้ว ปรากฏตามคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 764/2518 ของศาลชั้นต้น ศาลฎีกาจึงให้นับโทษจำเลยที่ 1 ที่ 2 ต่อกันได้ตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์
จึงพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ เฉพาะให้นับโทษจำเลยที่ 1ที่ 2 ต่อจากคดีอาญาหมายเลขแดงที่ 764/2518 ของศาลชั้นต้น นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์