คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1811/2515

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

คดีมีประเด็นหลายข้อ แต่คู่ความขอสืบพยานในประเด็นเพียงข้อเดียว เท่ากับคู่ความท้าสืบพยานกันในประเด็นนั้นเพียงข้อเดียว สละประเด็นอื่นๆ ไม่ติดใจโต้แย้งกันแล้วไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยข้ออื่นต่อไป ศาลจะต้องวินิจฉัยและชี้ขาดตัดสินไปตามประเด็นข้อนำสืบนี้เท่านั้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ได้ทำสัญญาขายกิจการโรงภาพยนตร์เฉลิมราษฎร์พร้อมด้วยสิทธิทั้งหลายและเครื่องอุปกรณ์ต่าง ๆ ให้แก่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เป็นเงิน 110,000 บาท จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินค่าซื้อ 44,600 บาทแก่โจทก์ ส่วนงวดที่ 2 จำเลยที่ 1 ที่ 2 จะต้องชำระให้โจทก์อีก 33,400 บาท และงวดต่อ ๆ ไปอีกงวดละ 5,000 บาท โดยตกลงกันตามสัญญาข้อ 2, 3 ว่า โจทก์จะต้องจัดการขอใบอนุญาตควบคุมอาคารมหรสพและใบอนุญาตให้เปิดฉายภาพยนตร์จากกรมโยธาเทศบาลให้จำเลยภายใน 60 วัน ในการนี้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ให้จำเลยที่ 3 ลงนามสั่งจ่ายเช็คเลขที่ เอฟ 1759444 จำนวนเงิน 33,400 บาท กับเช็คอีก 6 ฉบับ ๆ ละ 5,000 บาท ให้โจทก์ ๆ นำเช็คฉบับเลขที่ 1759444 ไปขึ้นเงินธนาคารแล้ว ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามแจ้งงดการจ่ายเงินจึงขอให้บังคับให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 33,400 บาทตามเช็คเลขที่เอฟ 1759444 และชำระเงินที่เหลืออีก 30,000 บาทให้โจทก์

จำเลยทั้งสามให้การและฟ้องแย้งว่า ฟ้องโจทก์เคลือบคลุม จำเลยที่ 3 มิได้เป็นคู่สัญญาด้วย โจทก์ไม่สามารถนำใบอนุญาตเกี่ยวกับการควบคุมอาคารและใบอนุญาตให้เปิดฉายภาพยนตร์มาให้จำเลยภายใน 60 วัน โจทก์ผิดสัญญา ทำให้จำเลยเปิดทำการฉายภาพยนตร์ไม่ได้ขอเรียกค่าเสียหาย 3,000 บาท กับค่าเสียหายต่อไปอีกวันละ 1,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าโจทก์จะนำใบอนุญาตมาให้จำเลย

โจทก์ให้การฟ้องแย้งว่า โจทก์ปฏิบัติถูกต้องตามสัญญาแล้วไม่ต้องรับผิดในความเสียหาย

ก่อนสืบพยาน คู่ความแถลงรับกันว่า สำเนาสัญญาซื้อขายท้ายฟ้องถูกต้อง จำเลยอายัดเช็คตามฟ้องจริง และโจทก์ไปขอจัดการขอใบอนุญาตเกี่ยวกับการควบคุมอาคารมหรสพและใบอนุญาตให้เปิดฉายภาพยนตร์จากกรมโยธาเทศบาลให้แก่จำเลยภายในกำหนด 60 วันตามสัญญาแล้วแต่เจ้าหน้าที่บอกว่าต้องให้จำเลยมาขออนุญาตเอง

คงมีข้อเท็จจริงที่คู่ความโต้แย้งกัน คือ หลังจากโจทก์ทราบจากเจ้าหน้าที่ว่าจำเลยต้องมาขออนุญาตเองแล้ว โจทก์ได้แจ้งเรื่องนี้ให้จำเลยทราบแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธว่าไม่เคยได้รับแจ้งเรื่องนี้จากโจทก์เลย

คู่ความขอสืบพยานในประเด็นเดียวว่า โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทราบหรือไม่ว่า เจ้าหน้าที่ผู้ออกใบอนุญาตบอกให้จำเลยไปขออนุญาตเอง

ส่วนประเด็นค่าเสียหาย คู่ความตกลงกันว่า ในกรณีที่ศาลพิพากษาว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญา จำเลยยอมใช้เงินให้โจทก์ตามฟ้อง กรณีที่ศาลพิพากษาว่าโจทก์ผิดสัญญา โจทก์ยอมใช้ค่าเสียหายให้จำเลยวันละ 300 บาทนับแต่วันผิดสัญญาเป็นต้นไป จนกว่าโจทก์จะชำระให้จำเลยหมดสิ้น

ศาลชั้นต้นเห็นว่า ตามสัญญาข้อ 2 เป็นหน้าที่โจทก์จะต้องนำใบอนุญาตให้เปิดฉายภาพยนตร์มามอบให้จำเลย มิใช่เพียงแต่ยื่นขอใบอนุญาตภายใน 60 วัน โจทก์ผิดสัญญา พิพากษายกฟ้อง

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสามชำระเงิน 33,400 บาทตามเช็คเลขที่ เอฟ 1759444 ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ชำระเงินที่เหลืออีก 30,000 บาทให้โจทก์ และยกฟ้องแย้งของจำเลย

จำเลยทั้งสามฎีกา

ศาลฎีกาเห็นว่า คู่ความรับกันแล้วว่าโจทก์ได้จัดการขอใบอนุญาตจากกรมโยธาเทศบาลให้แก่จำเลยภายในกำหนด 60 วันตามสัญญาแล้ว และรับกันด้วยว่าเจ้าหน้าที่บอกว่าต้องให้จำเลยมาขออนุญาตเอง คงโต้แย้งข้อเท็จจริงกันแต่เพียงว่าโจทก์ได้แจ้งเรื่องนี้ให้จำเลยทราบแล้วหรือไม่ คู่ความขอสืบพยานในประเด็นข้อนี้เพียงข้อเดียว ซึ่งหมายความว่าคู่ความสละประเด็นอื่น ๆ ไม่ติดใจโต้แย้งกันต่อไป เช่น ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมหรือไม่ จำเลยจะต้องรับผิดด้วยหรือไม่ และโจทก์จะต้องนำใบอนุญาตฉายภาพยนตร์มาให้จำเลยหรือไม่ ไม่มีประเด็นที่ศาลจะวินิจฉัยต่อไปได้ เท่ากับคู่ความนำสืบพยานกันในประเด็นข้อนี้เพียงข้อเดียวเท่านั้น ซึ่งศาลจะต้องวินิจฉัยและชี้ขาดไปตามประเด็นนำสืบข้อนี้เท่านั้น

โจทก์ได้ไปขออนุญาตเกี่ยวกับการควบคุมอาคารมหรสพและใบอนุญาตให้เปิดฉายภาพยนตร์จากกรมโยธาเทศบาลให้แก่จำเลยภายใน 60 วันแล้วแต่โจทก์ไม่มีหนังสือรับรองของการไฟฟ้านครหลวงว่าได้เดินสายไฟกรมโยธาเทศบาลไม่อนุญาตให้ใช้สถานที่แสดงมหรสพ นายณรงค์ฤทธิ์ผู้อำนวยการกองบริการผู้ใช้ไฟฟ้าแจ้งด้วยว่า ในกรณีที่โจทก์ขายกิจการให้จำเลยแล้ว หน้าที่ขอใบรับรองนี้ตกอยู่กับจำเลย มีความหมายหรือมีผลว่าจำเลยต้องเป็นผู้ขอนั่นเอง จึงไม่มีเหตุผลที่โจทก์จะไม่บอกเรื่องการขอใบอนุญาตนี้แก่จำเลยทันที ที่เจ้าหน้าที่กรมโยธาเทศบาลแจ้งแก่โจทก์เพื่อโจทก์จะได้นำเช็คฉบับ 33,400 บาทไปขึ้นเงินตามสัญญาข้อ 3 จำเลยที่ 1 ที่ 3 ยอมรับว่าวันที่ 13 มกราคม 2510 เคยพบนายสมบัติกับนางประภาศรี สมจริงตามคำพยานโจทก์ทั้งสองคนนี้ที่ได้ไปบอกจำเลยเรื่องนี้ในวันที่ 13 มกราคม 2510 อันเป็นวันที่ยังอยู่ในกำหนด 60 วันตามสัญญา

พิพากษายืน

Share