แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
หนี้ตามเช็คพิพาท โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18.5 ต่อปีรวมเข้าด้วย แต่หนี้ดังกล่าวเกิดจากมูลหนี้เดิมที่ห้างจำเลยที่ 1 ซื้ออาหารสัตว์ไปจากโจทก์แล้วค้างชำระ และห้างจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยอัตราดังกล่าวในเงินที่ค้างชำระนั้นรวมเข้าไปด้วย กรณีมิใช่เป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน จึงไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 654 โจทก์นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาทมาฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ล้มละลายได้
ห้างจำเลยที่ 1 เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารฯ โดยระบุผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินไว้คือ จำเลยที่ 2 ที่ 3 ที่ 4 ลงลายมือชื่อร่วมกัน 2 คน พร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีดังกล่าวได้ จำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นหุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ 1 ได้ลงชื่อสั่งจ่ายเช็คพิพาทพร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ 1 สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาทต่อโจทก์ด้วย
ตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 มาตรา 14 ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาดได้นั้น จะต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ มาตรา 9 หรือมาตรา 10 หากไม่ได้ความจริงตามมาตราดังกล่าว หรือจำเลยนำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด หรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้จำเลยล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้องเมื่อเอกสารหมาย ล.1 ถึง ล.16 เป็นพยานเอกสารที่อาจแสดงได้ว่าจำเลยจะชำระหนี้ให้โจทก์ได้ทั้งหมดหรือไม่ เอกสารดังกล่าวจึงเป็นเอกสารที่เกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี และเมื่อศาลเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานนั้นตามมาตรา 87 (2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ประกอบกับมาตรา 153 แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ.2483 ให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานเอกสารเช่นว่านั้นได้ แม้จะมิได้ส่งสำเนาเอกสารให้อีกฝ่ายหนึ่งภายในระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดก็ตาม
เมื่อพยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่นำสืบมามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ยังอยู่ในฐานะที่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด แม้จำเลยที่ 4 จะไม่มีทรัพย์สินเลย แต่เมื่อจำเลยที่ 4 เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 กรณีก็มีเหตุไม่ควรให้จำเลยที่ 4 ล้มละลาย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์จำเลยทั้งสี่เด็ดขาดและพิพากษาให้เป็นบุคคลล้มละลาย
จำเลยทั้งสี่ไม่ยื่นคำให้การ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว มีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ห้างจำเลยที่ ๑ เด็ดขาด และเมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่าจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ ๑ ประกอบกับโจทก์ได้ฟ้องขอให้จำเลยที่ ๒ เป็นบุคคลล้มละลายจึงมีคำสั่งให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๒ เด็ดขาดด้วย ส่วนจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ให้ยกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ขอให้พิทักษ์ทรัพย์จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เด็ดขาด
จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ อุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้โต้เถียงกันในชั้นฎีกาฟังได้ว่า ห้างจำเลยที่ ๑ ได้ออกเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ ให้แก่โจทก์เพื่อชำระหนี้ค่าอาหารสัตว์ที่ห้างจำเลยที่ ๑ ซื้อไปจากโจทก์ เมื่อเช็คดังกล่าวถึงกำหนด โจทก์นำไปเข้าบัญชีเพื่อเรียกเก็บเงิน ธนาคารตามเช็คได้ปฏิเสธการจ่ายเงินทุกฉบับ มีปัญหาประการแรกว่าโจทก์นำมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ มาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลายได้หรือไม่ จำเลยทั้งสี่แก้ฎีกาว่า มูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๑๘.๕ ต่อปี รวมเข้าด้วยจึงตกเป็นโมฆะ โจทก์ไม่อาจนำเอามูลหนี้ดังกล่าวมาฟ้องขอให้จำเลยทั้งสี่ล้มละลาย เห็นว่า มูลหนี้เดิมเกิดขึ้นจากการที่ห้างจำเลยที่ ๑ ซื้ออาหารสัตว์ไปจากโจทก์แล้วค้างชำระ ห้างจำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในเงินที่ค้างชำระนั้นรวมเข้าไปด้วยได้ตามอัตราที่โจทก์เรียกร้อง กรณีมิใช่เป็นเรื่องการกู้ยืมเงิน จึงไม่ชัดต่อบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๔ โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเอาเงินตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี นับแต่วันที่ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คแต่ละฉบับจากผู้ต้องรับผิดได้ดังนั้นโจทก์จึงมีสิทธินำเอามูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ มาฟ้องจำเลยทั้งสี่ขอให้ล้มละลายได้
ปัญหาประการที่สองมีว่า จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ต้องร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ ต่อโจทก์ด้วยหรือไม่ ได้ความว่าจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดของห้างจำเลยที่ ๑ ห้างจำเลยที่ ๑ ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสระบุรี บัญชีเลขที่ ๔๔๒ โดยระบุผู้มีอำนาจสั่งจ่ายเงินไว้ คือ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ และที่ ๔ ลงลายมือชื่อร่วมกัน ๒ คน พร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันของห้างจำเลยที่ ๑ ดังกล่าวได้ เช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ ลงชื่อสั่งจ่ายพร้อมประทับตราของห้างจำเลยที่ ๑ สั่งจ่ายเงินจากบัญชีกระแสรายวันของห้างจำเลยที่ ๑ ดังกล่าว ถือได้ว่าเป็นการเข้าไปเกี่ยวข้องจัดการงานของห้างจำเลยที่ ๑ ดังนั้น จำเลยที่ ๓ และที่ ๔ จึงต้องร่วมรับผิดในมูลหนี้ตามเช็คพิพาททั้ง ๔ ฉบับ ต่อโจทก์ด้วย
ปัญหาประการที่สามมีว่า จำเลยทั้งสี่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่เห็นสมควรวินิจฉัยเสียก่อนว่า การที่จำเลยทั้งสี่ระบุพยานเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๖ เพิ่มเติม ซึ่งศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับ กับไม่ได้ส่งสำเนาเอกสารดังกล่าวให้แก่โจทก์ก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าสามวัน เช่นนี้ จะรับฟังเอกสารดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานได้หรือไม่ เห็นว่าตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๘๗ (๒) ประกอบด้วยพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๕๓ บัญญัติให้ศาลมีอำนาจรับฟังพยานหลักฐานดังกล่าวได้ เมื่อเห็นว่า เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจำเป็นจะต้องสืบพยานหลักฐานอันสำคัญซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดี ทั้งตามพระราชบัญญัติล้มละลาย พ.ศ. ๒๔๘๓ มาตรา ๑๔ ก็ได้บัญญัติไว้ว่า การที่ศาลจะมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ของลูกหนี้เด็ดขาดนั้น ศาลจะต้องพิจารณาเอาความจริงตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๙ หรือมาตรา ๑๐ แต่ถ้าไม่ได้ความจริงหรือลูกหนี้นำสืบได้ว่าอาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือมีเหตุอื่นที่ไม่ควรให้ลูกหนี้ล้มละลาย ให้ศาลยกฟ้อง ฉะนั้น พยานเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๖ จึงเป็นพยานหลักฐานอันสำคัญ ซึ่งเกี่ยวกับประเด็นข้อสำคัญในคดีที่ว่า จำเลยทั้งสี่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมดหรือไม่ ศาลจึงมีอำนาจรับฟังเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๑๖ เป็นพยานหลักฐานได้ ข้อเท็จจริงได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ประกอบเอกสารหมาย ล.๑๓ ล.๑๔ ว่า จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๔๗๐๕๓ ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร มีราคาตามที่เจ้าพนักงานที่ดิน จังหวัดสมุทรสาครประเมินไว้เป็นเงินทั้งสิ้น ๔๖๕,๐๐๐ บาท และไม่มีการผูกพันแต่อย่างใด สำหรับจำเลยที่ ๒ ซึ่งต้องรับผิดในบรรดาหนี้ของห้างจำเลยที่ ๑ ไม่มีจำกัดจำนวนนั้น ก็ได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ประกอบเอกสารหมาย ล.๑๖ ว่า จำเลยที่ ๒ เป็นผู้ถือหุ้นธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด จำนวน ๑๐๐ หุ้น ได้ชำระเงินค่าหุ้นแล้ว หุ้นละ ๑๐๐ บาท คิดเป็นเงินอย่างน้อยที่สุด ๑๐,๐๐๐ บาท ในเบื้องต้นจึงฟังได้ว่า จำเลยที่ ๒ และที่ ๓ มีทรัพย์สินที่ไม่มีภาระผูกพันอยู่เป็นเงิน ๔๗๕,๐๐๐ บาท เมื่อนำไปหักกับหนี้ที่โจทก์ฟ้องแล้ว คงเหลือหนี้จำนวน ๒๗๗,๙๒๗.๒๖ บาท จำเลยที่ ๒ เบิกความว่า เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๘๖๙๕ ตำบลบ้านสำ อำเภอวิหารแดง (หนองแค) จังหวัดสระบุรี เนื้อที่ ๓๒ ไร่ ๓ งาน ๘๐ ตารางวา กับที่ดินโฉนดที่ ๖๗๗๖, ๖๗๗๕, ๘๔๗๗, ๖๖๔๙, ๑๑๐๔๓, ๖๗๗๓ ตำบลหนองหมู อำเภอวิหารแดง (หนองแค) จังหวัดสระบุรี จำนวนเนื้อที่รวม ๒๓๓ ไร่ ๑ งาน ๔๑ ตารางวา ซึ่งที่ดินทั้ง ๗ โฉนดดังกล่าวติดจำนองธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ปรากฏตามเอกสารหมาย ล.๑ ถึง ล.๙ และ จำเลยที่ ๓ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๘๐๕๒ ตำบลบ้านแพ้ว อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร เนื้อที่ ๔๘ ไร่ ๓ งาน ๓๒ ตารางวา ซึ่งติดจำนองธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด อยู่ตามเอกสารหมาย ล.๑๑, ล.๑๒ ได้ความจากคำเบิกความของนายพนมพร อารียาพันธุ์ พยานโจทก์ซึ่งเป็นสมุห์บัญชีธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด สาขาสระบุรีว่าห้างจำเลยที่ ๑ เป็นหนี้ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด อยู่เป็นเงินประมาณ ๖,๓๐๐,๐๐๐ บาท ทรัพย์สินที่จำนองไว้กับธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด น่าจะเพียงพอกับจำนวนหนี้ และยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ อีกว่าจำเลยที่ ๒ เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดที่ ๕๖๙๖๕ ตำบลลาดยาว (บางซื่อฝั่งเหนือ) อำเภอบางเขน (บางซื่อ) กรุงเทพมหานคร พร้อมตึกแถว ๔ ชั้น ๑ คูหา ราคาประมาณ ๒,๐๐๐,๐๐๐ บาท คิดจำนองธนาคารกรุงเทพ จำกัด เป็นเงิน ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ย ตามเอกสารหมาย ล.๑๐ เห็นว่าคดีไม่ได้ความเป็นที่แน่ชัดว่าหนี้จำนองดังกล่าวท่วมราคาทรัพย์สินที่จำนอง ทรัพย์สินที่จำนองดังกล่าวอาจมีราคาสูงกว่าจำนวนหนี้ที่จำนอง ซึ่งเมื่อนำมารวมกับทรัพย์สินของจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ ที่ไม่มีภาระผูกพันแล้ว ก็อาจจะเพียงพอชำระหนี้ให้แก่โจทก์ได้ ทั้งยังได้ความจากคำเบิกความของจำเลยที่ ๒ ว่า ห้างจำเลยที่ ๑ ยังประกอบกิจการเลี้ยงสุกรอยู่ในปี พ.ศ.๒๕๒๘ มีกำไรสุทธิเดือนละประมาณ ๓๐๐,๐๐๐ บาท ข้อเท็จจริงไม่ได้ความว่า นอกจากที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ เป็นหนี้โจทก์ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กับธนาคารกรุงเทพ จำกัด แล้วจำเลยทั้งสี่ยังเป็นหนี้บุคคลอื่นอยู่อีกเป็นจำนวนมากน้อยเท่าใด พยานหลักฐานฝ่ายจำเลยที่นำสืบมามีเหตุผลเพียงพอที่จะเชื่อได้ว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ ยังอยู่ในฐานะที่อาจชำระหนี้ได้ทั้งหมด แม้จำเลยที่ ๔ จะไม่มีทรัพย์สินเลย แต่เมื่อจำเลยที่ ๔ เป็นลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ และที่ ๓ กรณีก็มีเหตุไม่ควรให้จำเลยที่ ๔ ล้มละลาย ไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาโจทก์ในปัญหาอื่นอีกต่อไป ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องมานั้น ชอบแล้ว ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน