คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 18011/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามหนังสือรับรองโจทก์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า พ. เป็นกรรมการคนที่ 5 มีอำนาจลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญบริษัทผูกพันโจทก์ เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือมอบอำนาจซึ่งระบุให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีและมีอำนาจมอบอำนาจช่วง และมีผลบังคับใช้นับแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 จนกว่าจะได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้ได้ความว่าหนังสือมอบอำนาจได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ย่อมฟังได้ว่า พ. เป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้ ท. และ อ. ฟ้องคดีต่อมา ท. และ อ. ทำหนังสือมอบอำนาจช่วงให้ อ1. หรือ ศ. เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำสืบหนังสือรับรองโจทก์ที่นายทะเบียนออกให้ ณ วันฟ้องว่า พ. ยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก โจทก์มีอำนาจฟ้อง
จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธว่าจำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อ และจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ คงให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องและค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ จึงต้องฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ไม่มีการโต้แย้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐาน ที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายกขึ้นอ้างในฎีกาว่าโจทก์มิได้ส่งสำเนาแบบคำขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันให้ก่อนสืบพยานและเอกสารดังกล่าวมิใช่ต้นฉบับจึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เป็นฎีกาที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 609,784.76 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงินดังกล่าว นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 333,000 บาท แก่โจทก์ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง (ฟ้องวันที่ 16 พฤษภาคม 2548) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ตามทุนทรัพย์ที่โจทก์ชนะคดี โดยกำหนดค่าทนายความให้รวม 1,500 บาท
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีพาณิชย์และเศรษฐกิจวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันในชั้นฎีการับฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 6 กันยายน 2547 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อเบ็นซ์ หมายเลขทะเบียน พพ 2781 กรุงเทพมหานคร ไปจากโจทก์ ในราคา 1,740,022.56 บาท ตกลงชำระค่าเช่าซื้อเป็นงวดรายเดือน เดือนละ 36,250.47 บาท ระยะเวลา 48 เดือน โดยชำระทุกวันที่ 27 ของเดือน เริ่มงวดแรกวันที่ 27 กันยายน 2547 มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อตั้งแต่งวดแรก หลังจากจำเลยที่ 1 ค้างชำระค่าเช่าซื้อ 3 งวดติดต่อกัน โจทก์มีหนังสือทวงถามให้ชำระค่าเช่าซื้อและบอกเลิกสัญญา ครั้นเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2547 จำเลยที่ 1 คืนรถยนต์ที่เช่าซื้อให้แก่โจทก์ตามหนังสือแสดงเจตนาและใบรับรถ ต่อมาโจทก์นำรถยนต์ออกขายได้ราคา 1,247,663.55 บาท ตามสำเนาใบเสร็จรับเงิน
คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยประการแรกตามฎีกาของจำเลยทั้งสองว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า ตามหนังสือรับรองโจทก์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่ากรรมการของโจทก์มี 9 คน มีนายพิชัย เป็นกรรมการคนที่ 5 และในข้อ 3 ระบุว่ากรรมการซึ่งลงชื่อผูกพันโจทก์ได้คือนายพิชัย กรรมการอำนวยการ ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญของบริษัท ซึ่งหนังสือรับรองดังกล่าวนายทะเบียนออกให้ ณ วันที่ 5 มกราคม 2547 เมื่อพิจารณาประกอบหนังสือมอบอำนาจ ซึ่งระบุให้นายทรงศักดิ์ และนายอรรณพ ฟ้องคดี และมีอำนาจมอบอำนาจช่วง และหนังสือมอบอำนาจนี้ให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2547 เป็นต้นไปจนกว่าบริษัทจะได้แก้ไข หรือเปลี่ยนแปลงเป็นอย่างอื่น ซึ่งจำเลยทั้งสองไม่นำสืบให้ได้ความว่าหนังสือมอบอำนาจ ได้ถูกยกเลิกหรือแก้ไขเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ ย่อมฟังได้ว่านายพิชัยเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์และทำหนังสือมอบอำนาจให้นายทรงศักดิ์ และนายอรรณพฟ้องคดี ต่อมานายทรงศักดิ์และนายอรรณพทำหนังสือมอบอำนาจช่วง ให้นายอภิวัฒน์ และหรือนางสาวศิริวรรณ เป็นผู้ดำเนินคดีแทนโจทก์ โดยไม่จำต้องนำสืบหนังสือรับรองโจทก์ที่นายทะเบียนออกให้ ณ วันฟ้องว่านายพิชัยยังคงเป็นกรรมการผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์อีก โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมา ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผล ฎีกาข้อนี้ของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
ส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาในข้อต่อไปว่า สำเนาแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงิน เป็นเอกสารที่โจทก์มิได้ส่งสำเนาก่อนวันสืบพยานตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 90 วรรคหนึ่ง และมิใช่เอกสารต้นฉบับตามมาตรา 93 จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังเป็นพยานหลักฐานนั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสองไม่ได้ให้การปฏิเสธว่า จำเลยที่ 1 ไม่ได้ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ไม่ได้ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ คงให้การต่อสู้ในเรื่องอำนาจฟ้องและค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเท่านั้น ทั้งจำเลยที่ 1 เบิกความยอมรับว่าทำสัญญาเช่าซื้อกับโจทก์ ซึ่งตรงกับสัญญาเช่าซื้อ จึงต้องรับฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติตามที่ไม่มีการโต้แย้งกันว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญาเช่าซื้อและจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันกับโจทก์ โดยไม่จำต้องอาศัยสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันดังกล่าวเป็นพยานหลักฐานที่จำเลยทั้งสองเพิ่งมายกขึ้นอ้างในฎีกาว่า โจทก์มิได้ส่งสำเนา ซึ่งเป็นแบบขอเสียอากรแสตมป์เป็นตัวเงินของสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกันให้ก่อนสืบพยานและเอกสารดังกล่าวมิใช่ต้นฉบับ จึงต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังนั้น เป็นฎีกาในข้อที่ไม่มีผลเปลี่ยนแปลงข้อเท็จจริงที่ฟังเป็นยุติดังกล่าวแล้ว จึงไม่เป็นสาระแก่คดี ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share