แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นผู้จัดการสถานธนานุบาล (โรงรับจำนำ) ของเทศบาลนครกรุงเทพ ได้รับจำนำสิ่งของไว้จาก อ. รวม 507 รายการ ในราคาสูงกว่าปกติ และส่วนมากสูงกว่าราคาที่จำเลยรับจำนำไว้จากลูกค้ารายอื่น โดยไม่ปรึกษาผู้ช่วยผู้จัดการเมื่อถูกทักท้วง ก็ว่าจะรับผิดชอบเอง อ. นำสิ่งของมาจำนำแทบทุกวันวันละหลาย ๆ ชิ้น มากกว่าลูกค้ารายอื่น สิ่งของบางชิ้น อ. ขอร้องให้จำเลยตีราคาสูง ๆ เพื่อเอาเงินไปชำระค่าดอกเบี้ยสิ่งของที่จำนำไว้และจะครบกำหนด ถ้าเอาสิ่งของ 507 ชิ้นที่รับจำนำไว้ออกขายทอดตลาดขาดทุน จำเลยก็ไม่สามารถจะใช้เงินที่ขาดให้ได้หลังจากจำเลยถูกจับ อ. ก็มิได้มาติดต่อกับสถานธนานุบาลอีกเลยแสดงว่าจะปล่อยสิ่งของเหล่านั้นให้หลุด ซึ่งหากนำออกขายทอดตลาดได้ราคาต่ำกว่าราคาที่จำนำไว้ เทศบาลนครกรุงเทพก็ต้องขาดทุนพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตและทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินและธุรกิจนั้นของเทศบาลนครกรุงเทพ กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต ทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน จำเลยจึงมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 354
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของเทศบาลนครกรุงเทพ โดยเป็นผู้จัดการสถานธนานุบาลเทศบาลกรุงเทพ (ประดิพัทธ์) มีหน้าที่ดำเนินกิจการสถานธนานุบาลครอบครองดูแลรักษาจัดการเงินทุนทรัพย์สิน ตีราคาของ จ่ายเงิน รับจำนำของแก่ประชาชนทั่วไปในฐานเป็นผู้มีอาชีพและธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยบังอาจกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต เจตนาเบียดบังเอาทรัพย์ของเทศบาลนครกรุงเทพที่จำเลยครอบครอง ดูแลจัดการนั้นเป็นของตนและบุคคลอื่น โดยจำเลยให้นางอารีย์พวกของจำเลยนำทองรูปพรรณเครื่องเพชรพลอยต่าง ๆ มาจำนำรวม ๕๐๗ รายการ จำเลยตีราคาของเหล่านั้นโดยทุจริต สูงกว่าราคาประเมินอันจะพึงรับจำนำได้ทุกรายการรวมเป็นเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท แล้วเบียดบังเอาเงินส่วนที่ตีราคาสูงกว่านี้ไว้เป็นของตนและผู้อื่น เป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของเทศบาลนครกรุงเทพ เป็นเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๓๕๓, ๓๕๔, ๘๓, ๙๐, ๙๑ ให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาเงิน ๑,๓๐๐,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่าจำเลยกระทำผิดดังฟ้อง ส่วนที่ขอให้ใช้หรือคืนเงินแก่ผู้เสียหายนั้น ของทั้ง ๕๐๗ รายการยังมิได้นำออกขายทอดตลาดจึงไม่ทราบเงินที่ขาดไป โจทก์เสียหายมากน้อยเพียงใดยังไม่ปรากฏชัดบังคับให้จำเลยชดใช้ยังไม่ได้ พิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ให้จำคุก ๓ ปี คำขอที่ให้คืนหรือใช้เงินนั้นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ไม่เชื่อว่าจำเลยกระทำโดยทุจริต พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยรับจำนำสิ่งของต่าง ๆ ไว้จากนางอารีย์รวม ๕๐๗ รายการ ในราคาสูงกว่าปกติ และส่วนมากยังสูงกว่าราคาที่จำเลยรับจำนำจากลูกค้ารายอื่น ๆ จำเลยตีราคาสิ่งของให้นางอารีย์โดยไม่เคยปรึกษานายสถิตย์ผู้ช่วยผู้จัดการ นายสถิตย์เคยทักท้วงในเรื่องราคาสูงจำเลยก็ไม่ฟัง อ้างว่าจำเลยรับผิดชอบเอง นางอารีย์นำสิ่งของมาจำนำแทบทุกวัน ๆ ละหลาย ๆ ชิ้น ไม่มีลูกค้าคนอื่นนำสิ่งของไปจำนำมากชิ้นเหมือนนางอารีย์สิ่งของบางชิ้นนางอารีย์ขอร้องให้จำเลยตีราคาให้สูง ๆเพื่อเอาเงินไปชำระค่าดอกเบี้ยสิ่งของที่จำนำไว้และจะครบกำหนดถ้าเอาของ ๕๐๗ ชิ้นขายทอดตลาดขาดทุนหนึ่งล้านสามแสนบาท จำเลยก็ไม่สามารถจะใช้เงินที่ขาดให้เทศบาลนครกรุงเทพได้ และเมื่อจำเลยถูกจับแล้ว นางอารีย์มิได้มาชำระดอกเบี้ยหรือมาขอไถ่สิ่งของที่จำนำหรือมาติดต่อใด ๆ กับสถานธนานุบาลเลย แสดงว่านางอารีย์จะปล่อยสิ่งของนั้นให้หลุดซึ่งหากว่ามีการขายทอดตลาดสิ่งของที่จำนำได้ราคาต่ำกว่าราคาที่จำนำเทศบาลนครกรุงเทพก็ต้องขาดทุน พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงชัดแจ้งว่าจำเลยกระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริต และทำให้เทศบาลนครกรุงเทพเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สิน
โดยที่สถานธนานุบาลหรือโรงรับจำนำเป็นธุรกิจอันเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน จำเลยได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการทรัพย์สินและธุรกิจนั้นของเทศบาลนครกรุงเทพการกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๔ ที่ศาลอุทธรณ์ยกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย
พิพากษากลับคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น