คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1800/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์รับมรดกที่ดิน 16 ไร่เศษ ราคาไม่เกินไร่ละ 800 บาทจากสามีผู้วายชนม์ตั้งแต่ พ.ศ.2488 ต่อมาระหว่าง พ.ศ.2499-2501 โจทก์จัดทำถนนผ่ากลางที่ดินแล้วแบ่งเป็นแปลงเล็กๆ 27 แปลง ขายได้ราคาไร่ละ80,000 บาท ถึง 100,000 บาท นั้น เห็นได้ว่าโจทก์ขายที่ดินโดยมุ่งให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่านั้น มิใช่ขายเป็นทางค้าหากำไร โจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ประกอบการค้าอันจะต้องเสียภาษีการค้าประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์แต่อย่างใด
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์แก้อุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้จึงให้ค่าทนายความเป็นพับไปนั้นโจทก์จะฎีกาว่าโจทก์ยื่นคำแก้อุทธรณ์ไม่เกินระยะเวลาจึงควรได้รับค่าทนายตามกฎหมายไม่ได้ เพราะเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียว โดยมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เป็นเจ้าของนาโฉนดที่ 3966 ตำบลคลองตัน อำเภอพระโขนง เนื้อที่ 18 ไร่ โดยรับมรดกจากสามีเมื่อกรกฎาคม 2488 โจทก์มีอาชีพทำนา ไม่ได้มีอาชีพค้าที่ดิน โจทก์ประสงค์จะได้เงินสร้างมัสยิดและไปเม็กกะ จึงให้นาวาโทศุภรเป็นตัวแทนขายนาโดยแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ เพื่อขายได้เร็ว ระหว่าง พ.ศ. 2499 ถึง 2501 ขายได้ 13 ไร่ 2 งาน42 ตารางวา เป็นเงิน 1,334,125 บาท เหลือไว้อาศัย 1 ไร่ นอกนั้นทำเป็นถนน ครั้น 20 กุมภาพันธ์ 2504 จำเลยที่ 1 มีหนังสือให้โจทก์เสียภาษีการค้าในการขายที่ดินเป็นเงิน 38,634.75 บาท ภาษีบำรุงเทศบาล33,863 บาท 87 สตางค์ โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ซึ่งเป็นคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ 2, 3, 4, 5 สั่งให้หักค่าอากรแสตมป์ซึ่งปิดเกินให้ คงให้โจทก์ชำระเพียง 36,061.02 บาท ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย จึงอุทธรณ์ต่อศาลขอให้พิพากษาว่าโจทก์ไม่มีหน้าที่เสียภาษีการค้าและภาษีเทศบาลรายนี้ ให้โจทก์พ้นหน้าที่จะต้องเสียตามที่เรียกเก็บของจำเลยที่ 1 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2, 3, 4, 5 ให้ยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์นั้นเสีย

จำเลยให้การว่า โจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ได้ประกอบการหรือดำเนินการค้าขายที่ดิน หากำไร เป็นการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้าข้อ 20 ในประเภทขายอสังหาริมทรัพย์จึงต้องเสียภาษีตามที่คณะกรรมการชี้ขาด ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยไม่มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลจากการขายที่ดินโฉนดที่ 3966 ของโจทก์

จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

โจทก์จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาตรวจสำนวนแล้ว ข้อเท็จจริงได้ความตามฟ้อง คำให้การและคำแถลงรับว่าโจทก์เป็นเจ้าของที่ดินโฉนด 3966 เนื้อที่ 16 ไร่ 32 ตารางวา โดยรับมรดกจากสามีผู้วายชนม์เมื่อ พ.ศ. 2488 ขณะรับมรดกนั้นที่ดินราคาไม่เกินไร่ละ 800 บาท ระหว่าง พ.ศ. 2489-2501 โจทก์ได้ทำแผนผังจัดที่ดินผืนนี้เป็นถนนผ่ากลางเป็นเนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ ที่เหลือแบ่งเป็นแปลงเล็ก ๆ 27 แปลง มีผู้ซื้อ 24 รายรวม26 แปลง เป็นเงิน 1,287,825 บาท ขายได้ตารางวาละ 200 บาทถึง 250 บาท เป็นราคาไร่ละ80,000 บาทถึง 100,000 บาท โจทก์ใช้อยู่อาศัย 1 แปลง ในการขายนั้น โจทก์มอบให้นาวาโทศุภรดำเนินการขายแทน และเป็นตัวแทนโจทก์ในการทำสัญญาซื้อขาย สัญญาซื้อขายส่วนมากทำกับผู้ซื้อที่บ้านเลขที่ 77 ถนนราชดำริห์ ในเขตเทศบาลนครกรุงเทพ มีค่ารายปี 720 บาท และเป็นที่อยู่อาศัยของนาวาโทศุภรนางสาวจามรี บุตรนาวาโทศุภร ได้จดทะเบียนการค้าประเภทขายของเมื่อ 27 มีนาคม 2496 นาวาโทศุภรได้จดทะเบียนการค้าประเภทขายอสังหาริมทรัพย์เมื่อ 30 พฤศจิกายน 2502 เพื่อขายที่ดินของคนอื่นการขายนี้นาวาโทศุภรชักชวนเพื่อนฝูงญาติมิตรมาซื้อ การตัดถนนนั้นผู้ซื้อแต่ละรายต้องเสียค่าตัดถนนตามส่วนที่ถนนผ่านในอัตราตารางเมตรละ 25 บาท นาวาโทศุภรได้ค่าบำเหน็จในการขายที่ดินจากโจทก์ 30,000 บาท ได้เสียภาาีการค้าประเภทนายหน้าไปแล้วมีปัญหาว่าจะถือว่าโจทก์เป็นผู้ประกอบการค้า ได้ประกอบหรือดำเนินกิจการค้าขายที่ดินอันเป็นทางค้าหากำไร เป็นการค้าตามบัญชีอัตราภาษีการค้า ข้อ 20 ในประเภทการขายอสังหาริมทรัพย์ซึ่งต้องเสียภาษีตามที่จำเลยประเมินและชี้ขาดให้เรียกเก็บหรือไม่ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว ระหว่างที่โจทก์ขายที่ดิน คือ พ.ศ. 2499-2501 นั้นประมวลรัษฎากร มาตรา 78 (ที่แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่ 10)พ.ศ. 2496 มาตรา 40) บัญญัติว่า “สถานการค้า” หมายความว่า สถานที่หรือยานพาหนะซึ่งผู้ประกอบการค้าใช้ประกอบหรือดำเนินการค้า ไม่ว่าจะใช้ประกอบหรือดำเนินการค้า ไม่ว่าจะใช้เป็นการประจำหรือชั่วคราวฯ”การค้า” หมายความว่า การประกอบหรือดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับการธุรกิจการพาณิชย์ การเกษตร การอุตสาหกรรม การขนส่ง หรืออาชีพตามประเภทที่กำหนดไว้ในบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวดนี้ “ผู้ประกอบการค้า”หมายความว่า บุคคลธรรมดา คณะบุคคล หรือองค์การใด ๆ ที่ประกอบหรือดำเนินการค้าในประเทศไทย ทั้งนี้ ให้หมายความรวมถึงผู้ทำการแทนด้วย และบัญชีอัตราภาษีการค้าท้ายหมวด 4 ได้กำหนดประเภทการค้าไว้ว่า 20 การขายอสังหาริมทรัพย์ได้แก่การขาย ขายฝาก หรือให้เช่าซื้ออสังหาริมทรัพย์เป็นการค้าหากำไร ให้จัดเก็บภาษีจากยอดเงินรายรับร้อยละ 3 ซึ่งเมื่อตรวจดูบทกฎหมายดังกล่าวนี้แล้ว ศาลฎีกาไม่เห็นว่าการกระทำและพฤติการณ์ของโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าดังจำเลยอ้าง การที่โจทก์ได้ที่ดินมาโดยทางมรดกตั้งแต่ พ.ศ. 2488 มีราคาไม่เกินไร่ละ 800 บาท โดยมิได้ปรากฏว่าที่ดินเป็นสินค้าของสามีเจ้ามรดก มิได้ปรากฏว่าโจทก์ได้รับมาแล้วก็ดำเนินการค้าต่อจากสามี จน พ.ศ. 2499-2501 โจทก์จึงจัดการต่าง ๆ เพื่อขายที่ดินและขายได้ถึงไร่ละ 100,000 บาท นั้น ก็แสดงเพียงว่าโจทก์ขายโดยมุ่งให้ได้ราคาสูงที่สุดเท่านั้น มิใช่ขายเป็นทางค้าหากำไรโจทก์จึงมิใช่บุคคลผู้ประกอบหรือดำเนินกิจการอันเกี่ยวกับธุระกิจการพาณิชย์หรือการอาชีพ คดีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่าโจทก์มีสถานการค้าหรือไม่ ที่ศาลล่างพิพากษาว่าจำเลยไม่มีสิทธิประเมินให้โจทก์เสียภาษีการค้าและภาษีบำรุงเทศบาลรายนี้จึงมีเหตุสมควรฎีกาจำเลยฟังไม่ขึ้น

ที่โจทก์ฎีกาว่า ค่าทนายความชั้นศาลอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์แก้อุทธรณ์เกินระยะเวลาที่กฎหมายกำหนดไว้ จึงให้เป็นพับไปนั้นไม่ถูกต้อง ศาลแพ่งสั่งให้โจทก์ยื่นแก้อุทธรณืภายใน 15 วัน นับแต่วันรับหมาย โจทก์ได้รับเมื่อ 20 มกราคม 2505 วันสุดท้ายจะยื่นได้ คือ 4 กุมภาพันธ์ 2505 แต่เป็นวันอาทิตย์ โจทก์จึงยื่นแก้อุทธรณ์ในวันเปิดทำงานของศาลแพ่ง คือ 5 กุมภาพันธ์ 2505 จึงไม่เกินระยะเวลาโจทก์ควรได้รับค่าทนายตามกฎหมายนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าเป็นฎีกาในปัญหาเรื่องค่าฤชาธรรมเนียมแต่อย่างเดียวและมิได้ยกเหตุว่าค่าฤชาธรรมเนียมนั้นมิได้กำหนดหรือคำนวณให้ถูกต้องตามกฎหมาย จึงต้องห้ามมิให้ฎีกา

พิพากษายืน ยกฎีกาจำเลยและโจทก์

Share