คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1795/2541

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

จำเลยเป็นธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาผลประโยชน์จะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้จ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยหรือไม่ ฉะนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญดังกล่าวแต่อย่างใด การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไปจึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย ขณะที่บัญชีของโจทก์ยังเดินสะพัดอยู่นั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินหรือเรียกเก็บเงินจากจำเลย โจทก์มาทราบหลังจากที่ได้ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ไปตรวจสอบเช็คต่าง ๆที่มีผู้นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยจึงทราบว่ามีผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในเช็คพิพาทดังนี้ การที่โจทก์ยอมรับรองเรื่องหนี้เงินที่เบิกเกินบัญชี จะถือว่าโจทก์ยอมรับหนี้ตามเช็คพิพาทปลอมด้วยหาได้ไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก เมื่อเช็คพิพาทเป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่ายจำเลยย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทแก่โจทก์ตามมาตรา 1008 วรรคแรก จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมรวม 54 ฉบับ และหักเงินจากบัญชีของโจทก์พร้อมคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่โจทก์ตลอดมา ดังนี้นอกจากต้องคืนเงินตามเช็คทั้ง54 ฉบับ แก่โจทก์แล้ว จำเลยยังต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวให้แก่โจทก์ด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันไว้แก่จำเลยสาขาสมุทรสาครบัญชีเลขที่ 1853 ต่อมาระหว่างเดือนกันยายน 2528 ถึงเดือนกันยายน 2529 มีผู้ปลอมลายมือชื่อของโจทก์ลงในเช็ค 54 ฉบับ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 2,811,760 บาท และนำไปเบิกเงินจากจำเลย จำเลยได้นำเช็คปลอมดังกล่าวเข้าบัญชีและหักเงินฝากของโจทก์ โดยจำเลยกระทำด้วยความประมาทเลินเล่อไม่ใช่ความระมัดระวังและความละเอียดรอบคอบในการตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คให้ดีว่าเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงหรือไม่การกระทำของจำเลยเป็นการละเมิดต่อโจทก์ จำเลยมีหน้าที่ต้องคืนเงินตามเช็คปลอมทั้ง 54 ฉบับดังกล่าว เป็นเงิน 2,811,760 บาทแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยทบต้นตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี นับตั้งแต่วันที่จำเลยนำเช็คแต่ละฉบับเข้าหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินคืนตามจำนวนเงินในเช็คปลอม 54 ฉบับพร้อมด้วยดอกเบี้ยทบต้นเป็นเงิน 2,990,783.75 บาทให้จำเลยชำระดอกเบี้ยในต้นเงินตามจำนวนเงินในเช็คดังกล่าวอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่จำเลยนำเช็คเข้าหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ถึงสิ้นเดือนกันยายน 2529 เป็นเงิน 87,377.05 บาทและให้จำเลยชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน2,990,783.75 บาท นับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2529 เป็นเงิน 139,501.63 บาท และนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การและแก้ไขคำให้การว่า จำเลยมิได้ประมาทเลินเล่อ จำเลยได้ใช้ความระมัดระวังตามวิสัยของผู้ประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์ได้ตรวจสอบลายมือชื่อของโจทก์ในเช็คพิพาทแล้วเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของโจทก์แท้จริง จึงได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาทให้แก่ผู้ทรงไป จำเลยไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้น พิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 2,380,476.41 บาทพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 2 ตุลาคม 2529จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลย อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินเพิ่มอีก610,307.34 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 2,990,783.75 บาท นับแต่วันฟ้อง(วันที่ 15 พฤษภาคม 2530) จนกว่าชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติโดยคู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งว่า เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2527โจทก์ได้เปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันบัญชีเลขที่ 1853 ไว้แก่จำเลยสาขาสมุทรสาครและโจทก์ให้ตัวอย่างลายมือชื่อแก่จำเลยไว้เพื่อใช้เปรียบเทียบกับลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คเอกสารหมาย จ.1และ จ.2 ต่อมาวันที่ 14 พฤศจิกายน 2527 โจทก์ได้ทำสัญญาเบิกเงินเกินบัญชีไว้แก่จำเลยในวงเงิน 350,000 บาทโดยนายยงยุทธ คุณูปการ จำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้แก่จำเลยเป็นประกันตามเอกสารหมาย จ.3 วันที่ 23 เมษายน 2529โจทก์ตกลงกับจำเลยให้เพิ่มนางสาวฤดีวรรณ คุณูปการ เป็นผู้ร่วมกับโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คตามเอกสารหมาย จ. 14เมื่อระหว่างวันที่ 10 กันยายน 2529 ถึงวันที่ 22 กันยายน 2529มีผู้นำเช็คพิพาท 54 ฉบับ รวมเป็นเงิน 2,811,760 บาทมาเรียกเก็บเงินจากจำเลย จำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คพิพาททั้งหมดไปโดยหักจากบัญชีกระแสรายวันของโจทก์ ต่อมาโจทก์ได้ร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาครว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ในเช็คพิพาทและนำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยให้ดำเนินคดีแก่ผู้ปลอมเช็คดังกล่าว ตามเอกสารหมาย จ.4 ถึง จ.10พนักงานสอบสวนสถานีตำรวจภูธรอำเภอเมืองสมุทรสาคร ส่งเช็คพิพาททั้ง54 ฉบับ ไปให้ผู้เชี่ยวชาญ กองพิสูจน์หลักฐาน กรมตำรวจ ตรวจพิสูจน์ผลการตรวจพิสูจน์ผู้เชี่ยวชาญลงความเห็นไว้ตามเอกสารหมาย จ. 11
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ประการแรกมีว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเป็นลายมือชื่อที่โจทก์ลงไว้หรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์มาเบิกความยืนยันว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาททั้ง 54 ฉบับ มิใช่ลายมือชื่อที่โจทก์ลงไว้ และโจทก์มีพันตำรวจตรีกิจจา สุนทรส ผู้ตรวจพิสูจน์เช็คพิพาทมาเบิกความยืนยันว่า ลายมือชื่อโจทก์ในเช็คพิพาททั้ง 54 ฉบับ เมื่อเปรียบเทียบกับตัวอย่างลายมือชื่อของโจทก์แล้วมิใช่ลายมือชื่อของบุคคลเดียวกันตามเอกสารหมาย จ.11 พยานโจทก์ปากนี้เป็นผู้เชี่ยวชาญการตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อ โดยจดทะเบียนเป็นผู้เชี่ยวชาญของกระทรวงยุติธรรม สาขาการตรวจพิสูจน์เอกสารและการปลอมแปลงตั้งแต่ปี 2524 ได้ตรวจพิสูจน์ลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทเปรียบเทียบกับลายมือชื่อตัวอย่างตามหลักวิชาการด้วยตนเองจึงมิใช่พยานบอกเล่าตามที่จำเลยฎีกาคำเบิกความและผลการตรวจพิสูจน์ของพยานตามเอกสารหมาย จ. 11 จึงมีน้ำหนักเชื่อถือได้ส่วนพยานจำเลยที่นำสืบว่าได้เช็คพิพาทมาจากตัวโจทก์นั้นก็เพียงแต่เบิกความกล่าวอ้างลอย ๆ ทั้งไม่มีพยานปากใดที่ยืนยันว่าโจทก์เป็นผู้ลงชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทด้วยตนเองเลยพยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบจึงมีน้ำหนักดียิ่งกว่าพยานหลักฐานของจำเลยเชื่อได้ว่าลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่ใช่เป็นลายมือชื่อที่โจทก์ลงไว้
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าการที่จำเลยจ่ายเงินตามเช็คพิพาท โดยหักเงินจากบัญชีเงินฝากกระแสรายวันของโจทก์ถือเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลยหรือไม่จำเลยฎีกาว่าเช็คพิพาท นางสาวฤดีวรรณ ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายร่วมกับโจทก์ด้วย ลายมือชื่อของนางสาวฤดีวรรณเป็นลายมือชื่อที่แท้จริงและนางสาวฤดีวรรณก็ยืนยันว่าโจทก์ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายร่วมในเช็คพิพาทด้วยเช็คพิพาทเป็นเช็คที่โจทก์ซื้อจากจำเลยโจทก์ไม่เคยโต้แย้งว่าเช็คพิพาทปลอมหรือแจ้งอายัดเช็คพิพาทจำเลยตรวจลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายในเช็คพิพาทแล้วเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อโจทก์จริงเพราะเหมือนตัวอย่างลายมือชื่อที่โจทก์มอบไว้ ถือว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังในการจ่ายเงินไปตามเช็คพิพาทแล้วเห็นว่า จำเลยเป็นธนาคารผู้รับฝากเงินเป็นอาชีพโดยหวังผลประโยชน์ในการเอาเงินฝากของผู้ฝากไปแสวงหาผลประโยชน์ได้ การดำเนินธุรกิจของธนาคารเป็นที่ไว้วางใจของประชาชน และการจ่ายเงินตามเช็คที่มีผู้มาขอเบิกเงินจากธนาคารเป็นงานส่วนหนึ่งของจำเลย ซึ่งต้องปฏิบัติอยู่เป็นประจำ จำเลยย่อมมีความชำนาญมีหน้าที่ตามกฎหมายจะต้องใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยหรือไม่ หากเห็นว่าลายมือชื่อสั่งจ่ายในเช็คพิพาทไม่เหมือนตัวอย่างที่ให้ไว้ จำเลยก็ชอบที่จะปฏิเสธการจ่ายเงิน แต่จากการนำสืบของจำเลยนั้นไม่ปรากฏว่าจำเลยได้ใช้ความระมัดระวังและความรู้ความชำนาญเป็นพิเศษในการตรวจสอบลายมือชื่อผู้สั่งจ่ายว่าเหมือนลายมือชื่อที่ให้ตัวอย่างไว้แก่จำเลยอย่างใดฉะนั้น การที่จำเลยได้จ่ายหรือหักบัญชีเงินฝากของโจทก์ให้บุคคลอื่นไป จึงถือได้ว่าเป็นความประมาทเลินเล่อของจำเลย
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัย ตามฎีกาของจำเลยประการต่อไปมีว่าจำเลยต้องรับผิดในเช็คพิพาทก่อนวันที่ 31 มกราคม 2529จำนวน 10 ฉบับ เป็นเงิน 545,500 บาท หรือไม่ จำเลยฎีกาว่าโจทก์ยอมลงชื่อรับรองยอดหนี้จำนวนดังกล่าวแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในเงินจำนวนนี้ ในข้อนี้นายบุญลือ เตียวิเศษ ซึ่งขณะเกิดเหตุดำรงตำแหน่งผู้ช่วยสมุห์บัญชีจำเลยสาขาสมุทรสาครเบิกความตอบคำถามค้านทนายโจทก์ยอมรับว่า ขณะที่โจทก์ชำระหนี้กู้เบิกเงินเกินบัญชีจนครบถ้วนแก่จำเลยนั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่ามีการปลอมลายมือโจทก์ในเช็คพิพาทมาเบิกเงินจากบัญชีของโจทก์ไปแสดงให้เห็นว่า ขณะที่บัญชีของโจทก์ยังเดินสะพัดอยู่นั้นโจทก์ยังไม่ทราบว่ามีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ สั่งจ่ายเช็คพิพาทนำไปเบิกเงินหรือเรียกเก็บเงินจากจำเลยซึ่งโจทก์นำสืบว่าหลังจากโจทก์ชำระหนี้ให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้ว โจทก์ไปตรวจสอบเช็คต่าง ๆที่มีผู้นำไปเรียกเก็บเงินจากจำเลยจึงทราบว่ามีผู้ลงลายมือชื่อโจทก์ปลอมในเช็คพิพาทดังนี้ การที่โจทก์ยอมรับรองเรื่องหนี้เงินที่เบิกเงินเกินบัญชีตามเอกสารหมาย ล. 5 จะถือว่าโจทก์ยอมรับหนี้ตามเช็คพิพาทปลอมซึ่งลงวันที่ก่อนวันที่ 31 มกราคม 2529ด้วยหาได้ไม่ โจทก์จึงมิใช่ผู้ต้องตัดบทมิให้ยกข้อลายมือชื่อปลอมขึ้นเป็นข้อต่อสู้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก เมื่อเช็คพิพาททั้ง 54 ฉบับ เป็นเช็คที่มีผู้ปลอมลายมือชื่อโจทก์ผู้สั่งจ่าย ดังได้วินิจฉัยแล้ว จำเลยย่อมต้องรับผิดใช้เงินตามเช็คพิพาทรวม 10 ฉบับ เป็นเงิน 545,500 บาท แก่โจทก์ด้วยตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1008 วรรคแรก
ฎีกาของจำเลยประการสุดท้ายที่ว่าโจทก์ไม่มีสิทธิได้ดอกเบี้ยจากจำเลยนั้นโจทก์ได้บรรยายฟ้องและนำสืบให้เห็นว่าจำเลยได้จ่ายเงินตามเช็คที่มีลายมือชื่อโจทก์ปลอมรวม 54 ฉบับและหักเงินจากบัญชีของโจทก์พร้อมคิดดอกเบี้ยทบต้นเอาแก่โจทก์ตลอดมา ฟ้องของโจทก์จึงเป็นการขอให้คืนเงินตามเช็คพิพาททั้ง 54 ฉบับ พร้อมค่าดอกเบี้ยทบต้นที่จำเลยคิดเอาแก่โจทก์โดยมิชอบ ซึ่งโจทก์ได้ชำระให้แก่จำเลยเสร็จสิ้นแล้ว จำเลยจึงต้องคืนดอกเบี้ยดังกล่าวแก่โจทก์ด้วย ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้วฎีกาของจำเลยทุกข้อฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน

Share