คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1793/2549

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่สุดตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง หมายความเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น แต่หากเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ โดยศาลมิได้ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะกรณีปัญหาข้อกฎหมาย เมื่อโจทก์โต้แย้งว่าคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าและคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.พ. มาตรา 55
เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์เป็นอักษรโรมัน เขียนว่า “HIGHER” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว เป็นภาษาไทยและอักษรโรมันเขียนว่า “ไฮเออร์ HI – ER” แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีอักษรโรมันเหมือนกันใน 2 ตัวแรก กับ 2 ตัวหลัง แต่เครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้วมีความแตกต่างกันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นมีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย และมีขนาดที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจนกว่าอักษรโรมันแม้การเรียกขานจะคล้ายกัน แต่โจทก์ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าที่จะใช้กับเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว ทำให้สินค้ามิได้เป็นประเภทเดียวกัน ถึงจะยังมีความใกล้เคียงเป็นสินค้าในจำพวกเดียวกันอยู่ แต่โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยสุจริตมิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอันจะพึงห้ามรับจดทะเบียนตาม พ.ร.บ.เครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้าจำพวกน้ำหอม เครื่องสำอาง เครื่องประทินผิว สบู่ เครื่องนุ่งห่ม เครื่องแต่งกายชนิดต่าง ๆ รวมทั้งเครื่องประดับและนาฬิกา สินค้าของโจทก์ส่วนใหญ่ใช้เครื่องหมายการค้า คำว่า “CHRISTIAN DIOR” “DIOR” และ “POISON” หรือใช้ควบคู่กัน อันเป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงแพร่หลายทั่วโลก เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน 2543 โจทก์ได้ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า คำว่า “HIGHER” อ่านว่า ไฮเออร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้าน้ำหอมชนิดต่าง ๆ เครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ หัวน้ำหอม และสบู่ ซึ่งจำเลยที่ 13 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้าพิจารณาแล้วเห็นว่า เครื่องหมายการค้าดังกล่าวของโจทก์เหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้า คำว่า “ไฮเออร์ HI – ER” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว จำเลยที่ 13 จึงมีคำสั่งปฏิเสธไม่รับจดทะเบียน โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์ต่อจำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 ในฐานะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 3 ถึงที่ 12 พิจารณาแล้ว มีคำวินิจฉัยยืนตามคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย เพราะเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โจทก์ยินยอมจำกัดรายการสินค้าของโจทก์เฉพาะน้ำหอมต่าง ๆ และน้ำยาดับกลิ่นเท่านั้น ขอให้พิพากษาว่า เครื่องหมายการค้าคำว่า “HIGHER” ของโจทก์ ไม่คล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “HI – ER” ที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว ให้ยกคำสั่งของจำเลยที่ 13 และคำวินิจฉัยของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 และให้จำเลยที่ 1 ถึงที่ 13 รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตามคำขอจดทะเบียนของโจทก์
จำเลยทั้งสิบสามให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ การดำเนินการวินิจฉัยและมีคำสั่งของจำเลยที่ 2 ถึงที่ 13 เป็นการใช้อำนาจตามกฎหมาย คำสั่งและคำวินิจฉัยของจำเลยทั้งสิบสามเป็นอันถึงที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 โจทก์ไม่ได้แจ้งความประสงค์ที่จะใช้เครื่องหมายการค้าคำว่า “HIGHER” เป็นส่วนหนึ่งหรือเป็นเครื่องหมายการค้าร่วมกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “DIOR” แต่อย่างใด เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์และเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วมีการเรียกขานเช่นเดียวกัน และใช้กับสินค้าจำพวกเดียวกันจึงอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า ตามหนังสือที่ พณ 0704/466 ลงวันที่ 4 พฤษภาคม 2544 และคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าที่ 326/2545 ที่ไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “HIGHER” ของโจทก์ และให้นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าดำเนินการเกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “HIGHER” ตามคำขอเลขที่ 438646 ของโจทก์ต่อไป โดยให้จำกัดรายการสินค้าในจำพวกที่ 3 เฉพาะน้ำหอมชนิดต่าง ๆ เท่านั้น ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ยื่นขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าคำว่า “HIGHER” อ่านว่า ไฮเออร์ สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้า น้ำหอมชนิดต่าง ๆ เครื่องสำอางชนิดต่าง ๆ หัวน้ำหอม โลชั่นใส่ผม ลิปสติก และสบู่ จำเลยที่ 13 ในฐานะนายทะเบียนเครื่องหมายการค้ามีคำสั่งไม่รับจดทะเบียน เนื่องจากเครื่องหมายการค้าพิพาทเหมือนหรือคล้ายกับเครื่องหมายการค้าคำว่า “ไฮเออร์ HI – ER” ของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สำหรับสินค้าจำพวกที่ 3 รายการสินค้าโลชั่นทาผิว โจทก์อุทธรณ์คำสั่งดังกล่าวต่อคณะกรรมการเครื่องหมายการค้า จำเลยที่ 2 ถึงที่ 12 ในฐานะคณะกรรมการเครื่องหมายการค้ามีคำวินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์ มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามประการแรกมีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้หรือไม่ โดยจำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์ในทำนองว่า คำวินิจฉัยของกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นที่สุดแล้ว และกรณีเป็นการโต้แย้งในการรับฟังข้อเท็จจริงของเจ้าพนักงานว่าไม่ตรงกับความเห็นของโจทก์จึงเป็นเรื่องข้อเท็จจริงซึ่งองค์กรวินิจฉัยคดีปกครองในรูปแบบของศาลจะไม่พิจารณาทบทวนให้ เห็นว่า คำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นที่สุดตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 18 วรรคหนึ่ง นั้นหมายความเพียงว่า ผู้อุทธรณ์จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าต่อเจ้าพนักงานอื่นของฝ่ายบริหารต่อไปอีกไม่ได้เท่านั้น แต่หากคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย ผู้อุทธรณ์ย่อมมีสิทธินำคดีมาฟ้องต่อศาลเพื่อขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยนั้นได้ โดยศาลมิได้ถูกจำกัดให้พิจารณาเฉพาะกรณีปัญหาข้อกฎหมายดังที่จำเลยทั้งสิบสามอุทธรณ์แต่อย่างใด เมื่อคดีนี้โจทก์โต้แย้งว่า คำสั่งของนายทะเบียนเครื่องหมายการค้า และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการเครื่องหมายการค้าไม่ถูกต้องตามกฎหมายหรือไม่ชอบด้วยกฎหมาย อันเป็นการโต้แย้งสิทธิของโจทก์เช่นนี้ โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลได้ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ.2539 มาตรา 26 ประกอบประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 55 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้จึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามประการต่อมามีว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นเครื่องหมายการค้าที่ไม่พึงรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 หรือไม่ เห็นว่า กฎหมายดังกล่าวเป็นกรณีที่นายทะเบียนเครื่องหมายการค้าไม่รับจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าหากปรากฏว่าเครื่องหมายการค้าดังกล่าวเหมือนกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วหรือเครื่องหมายการค้าดังกล่าวคล้ายกับเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจนอาจทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้า คดีนี้ข้อเท็จจริงปรากฏว่า เครื่องหมายการค้าพิพาทเป็นอักษรโรมัน เขียนว่า “HIGHER” ส่วนเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วนั้น เป็นภาษาไทยและอักษรโรมันเขียนว่า “ไฮเออร์ HI – ER” ดังนี้ แม้เครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะมีอักษรโรมันเหมือนกันใน 2 ตัวแรก คือ “H” และ “I” กับเหมือนกันใน 2 ตัวหลังคือ “E” และ “R” แต่เมื่อพิจารณาเครื่องหมายการค้าดังกล่าวโดยรวมแล้ว จะเห็นว่ามีความแตกต่างไม่เหมือนกันอยู่ โดยเฉพาะเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้วจะมีภาษาไทยกำกับไว้ด้วย และมีขนาดที่ใหญ่เห็นได้ชัดเจนกว่าอักษรโรมัน สำหรับการเรียกขานนั้น อาจจะมีส่วนเหมือนกันแต่การเรียกขานดังกล่าวย่อมขึ้นอยู่กับผู้ซื้อสินค้าแต่ละคนด้วยว่าจะเรียกขานสินค้าอย่างไร การเรียกขานจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งที่จะใช้ในการพิจารณา แต่ไม่ใช่สาระสำคัญเพียงประการเดียวที่ใช้สำหรับการพิจารณา ส่วนความคล้ายกันดังกล่าวจะถึงขนาดที่ทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าหรือไม่นั้น เห็นว่า แม้การเรียกขานเครื่องหมายการค้าดังกล่าวจะคล้ายกัน แต่โจทก์ได้ขอเปลี่ยนแปลงประเภทของสินค้าที่จะใช้กับเครื่องหมายการค้าพิพาทแล้ว ทำให้สินค้ามิได้เป็นประเภทเดียวกัน ถึงจะยังมีความใกล้เคียงเป็นค้าในจำพวกเดียวกันอยู่ก็ตามแต่เมื่อพิจารณาถึงองค์ประกอบอื่น ๆ เช่น การจัดจำหน่ายสินค้าของโจทก์ คุณภาพ และราคาของสินค้าของโจทก์ จะเห็นได้ว่า ความคล้ายกันที่ปรากฏอยู่นั้นยังไม่ถึงขนาดที่จะทำให้สาธารณชนสับสนหรือหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าประเภทน้ำหอมชนิดต่าง ๆ ตามที่โจทก์ประกอบกับเมื่อพิจารณาถึงการประกอบธุรกิจของโจทก์ซึ่งแสดงให้เห็นว่า โจทก์มีเจตนาใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทโดยสุจริต มิได้มุ่งอ้างอิงหรือแสวงหาประโยชน์จากเครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่นที่ได้จดทะเบียนไว้แล้ว สาธารณชนจึงไม่สับสนหลงผิดในความเป็นเจ้าของหรือแหล่งกำเนิดของสินค้าเนื่องจากการใช้เครื่องหมายการค้าพิพาทของโจทก์ ดังนั้น เครื่องหมายการค้าพิพาทจึงไม่ใช่เครื่องหมายการค้าที่มีหรือประกอบด้วยลักษณะอันจะพึงห้ามรับจดทะเบียนตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ.2534 มาตรา 6 (3) และมาตรา 13 ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางวินิจฉัยมานั้นจึงชอบแล้ว ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยทั้งสิบสามในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นอีกเช่นกัน”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมในชั้นนี้ให้เป็นพับ.

Share