แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ฉลากอาหารกระป๋องที่จำเลยผลิตไม่ถูกต้องเฉพาะเลขทะเบียนซึ่งระบุที่ฉลากโดยเลขทะเบียนที่ระบุที่ฉลากอาหาร 2 รายการแรกเป็นของผู้อื่นส่วนเลขทะเบียนที่ระบุที่ฉลากอาหาร 3 รายการหลังเป็นของจำเลย แต่เป็นเลขทะเบียนอาหารชนิดอื่นที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารแล้ว ดังนี้จำเลยหามีเจตนาลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่อง คุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่น หรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตไม่ เพราะไม่อาจทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวได้อาหารที่มีฉลากดังกล่าวจึงมิใช่เพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าว จำเลยไม่มีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 25 (2), 59
ความผิดฐานผลิตอาหารควบคุมเฉพาะโดยไม่ได้รับอนุญาตกับผลิตอาหารควบคุมเฉพาะไม่ตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารไว้ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. 2522 มาตรา 31 วรรคหนึ่ง, 64 กับมาตรา 34, 66 เป็นการกระทำผิดกรรมเดียว ทั้งการที่จะลงโทษตามบทมาตราดังกล่าวได้ โจทก์จะต้องบรรยายฟ้องว่าเป็นอาหารควบคุมเฉพาะซึ่งต้องมีฉลากและฉลากนั้นต้องมีเลขทะเบียนตำหรับอาหาร
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า ก. จำเลยทั้งสามร่วมกันตั้งโรงงานผลิตอาหารเพื่อจำหน่ายโดยมิได้รับอนุญาต ข. จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตอาหารปลอมเพื่อจำหน่าย โดยนำฉลากแสดงเลขทะเบียนตำหรับอาหารของผู้อื่นซึ่งขออนุญาตขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารไว้แล้วมาติดที่อาหารที่จำเลยทั้งสามผลิตขึ้นเพื่อจำหน่าย ค. จำเลยทั้งสามร่วมกันผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารควบคุมเฉพาะปลอมขึ้นโดยผลิตไม่ตรงกับทะเบียนตำหรับที่ได้ขออนุญาตและได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๔, ๕, ๖,๗, ๑๔, ๒๕ (๒), ๒๗ (๔), ๓๑ วรรคหนึ่ง, ๓๔, ๔๔, ๕๑, ๕๓, ๕๙, ๖๔, ๖๖
จำเลยทั้งสามให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๒๕ (๒), ๒๗ (๔), ๓๑ วรรคหนึ่ง,๓๔, ๕๙, ๖๔, ๖๖ ให้ลงโทษตามมาตรา ๕๙ อันเป็นบทหนักตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๐ ฐานผลิตอาหารปลอมและฐานผลิตอาหารควบคุมเฉพาะปลอมให้ปรับจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๓๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ กระทงละ ๒ ปี รวมปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน ๖๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ คนละ ๔ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สำหรับข้อหาว่า จำเลยผลิตอาหารปลอมเพื่อจำหน่ายตามฟ้อง ข้อ ข. และผลิตเพื่อจำหน่ายอาหารควบคุมเฉพาะปลอมตามฟ้องข้อ ค. อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๒๕ (๒) ซึ่งมีโทษตามมาตรา ๕๙ นั้น ตามมาตรา ๒๗ (๔)แห่งพระราชบัญญัตินี้อาหารที่มีฉลากเพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องคุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์ หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่นหรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิต ให้ถือว่าเป็นอาหารปลอม ฟ้องโจทก์ก็อ้างว่าอาหารที่จำเลยผลิตขึ้นนั้นเป็นอาหารปลอมทั้งห้ารายการโดยอาศัยเหตุดังกล่าวปรากฏตามฟ้องและทางพิจารณาแน่ชัดว่า ฉลากอาหารกระป๋องทั้งห้ารายการดังกล่าวนั้นไม่ถูกต้องเฉพาะเลขทะเบียนที่ระบุที่ฉลากโดยเลขทะเบียนที่ระบุที่ฉลากอาหาร ๒ รายการแรกเป็นของผู้อื่น ส่วนเลขทะเบียนที่ระบุที่ฉลากอาหาร ๓ รายการหลังเป็นของจำเลยแต่เป็นเลขทะเบียนอาหารชนิดอื่นที่จำเลยได้รับอนุญาตให้ขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารแล้ว ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว การระบุเลขทะเบียนไม่ถูกต้องในกรณีของจำเลยนี้จำเลยหามีเจตนาลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่อง คุณภาพ ปริมาณ ประโยชน์หรือลักษณะพิเศษอย่างอื่นหรือในเรื่องสถานที่และประเทศที่ผลิตไม่ เพราะไม่อาจทำให้ผู้ซื้อเข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าวได้ อาหารที่มีฉลากดังกล่าวจึงมิใช่เพื่อลวง หรือพยายามลวงผู้ซื้อให้เข้าใจผิดในเรื่องดังกล่าว นายวรชาติ สว่างวัฒนา พยานโจทก์ซึ่งเป็นสารวัตรอาหารและยา ผู้ทำการเก็บตัวอย่างอาหารของจำเลย ๓ รายการหลังก็เบิกความตอบคำถามค้านว่า ฉลากที่จำเลยติดนั้นประชาชนทั่วไปไม่สามารถรู้ได้ว่าเป็นของใครและใครเป็นผู้ผลิตอาหารกระป๋องนั้น อาหารที่เก็บตัวอย่างไปนั้นปรากฏว่าภายในกระป๋องมีอาหารตรงตามที่ระบุในฉลาก นายชม ขาวสะอาด สารวัตรอาหารและยา ซึ่งเป็นผู้เก็บตัวอย่างอาหารของจำเลย ๒ รายการแรกก็เบิกความเป็นพยานโจทก์ทำนองเดียวกับนายวรชาติ ดังนั้นจำเลยทั้งสามจึงไม่มีความผิดตามมาตรา ๒๕ (๒) ประกอบด้วยมาตรา ๕๙แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว
สำหรับการกระทำของจำเลยที่ระบุหมายเลขทะเบียนเท็จในฉลากอาหารทั้งห้ารายการนั้น เชื่อว่าเป็นเพราะจำเลยมิได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารตามชื่ออาหารทั้งห้ารายการนั้น จำเลยจึงต้องระบุเลขทะเบียนซึ่งเป็นของผู้อื่นใน ๒ รายการแรก และระบุเลขทะเบียนของจำเลยใน ๓ รายการหลัง ซึ่งเป็นเลขทะเบียนตำหรับอาหารในชื่ออื่น ทั้งนี้โดยจำเลยต้องการให้ผู้อื่นเข้าใจผิดว่าจำเลยได้รับอนุญาตให้ผลิตอาหารดังกล่าวโดยชอบแล้ว เหตุที่จำเลยต้องกระทำเช่นนั้นอยู่บ่อยๆ น่าจะเป็นเพราะจำเลยรับจ้างผู้อื่นผลิตอาหารกระป๋องเพื่อส่งไปจำหน่ายต่างประเทศตามที่จำเลยนำสืบ จำเลยไม่อาจขออนุญาตผลิตอาหารทุกตารับได้จึงจำเป็นต้องระบุหมายเลขทะเบียนเท็จที่ฉลาก ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาว่าจำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง ๖๔ และ มาตรา ๓๔, ๖๖ ตามฟ้องข้อ ข. และข้อค. รวม ๒ กระทงนั้นเห็นว่ามาตรา ๓๑ วรรคหนึ่งซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา ๖๔ นั้น บัญญัติว่าผู้รับอนุญาตตามมาตรา ๑๔ ผู้ใดจะผลิตอาหารควบคุมเฉพาะจะต้องนำอาหารนั้นมาขอขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารต่อผู้อนุญาตเสียก่อน และเมื่อได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารแล้ว จึงจะผลิตได้ ส่วนมาตรา ๓๔ ซึ่งผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา ๖๖ นั้น บัญญัติว่าผู้รับอนุญาตผลิตอาหารควบคุมเฉพาะต้องผลิตอาหารควบคุมเฉพาะให้ตรงตามที่ได้ขึ้นทะเบียนตำหรับอาหารไว้ เมื่อพิจารณาฟ้องข้อ ข.แล้วเห็นได้ว่าโจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่า เป็นอาหารควบคุมเฉพาะซึ่งต้องมีฉลากและฉลากนั้นต้องมีเลขทะเบียนตำหรับอาหาร จึงไม่เข้าหลักเกณฑ์ที่จะลงโทษได้ตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยมาตรา ๖๔ หรือมาตรา ๓๔ ประกอบด้วยมาตรา ๖๖ แห่งพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ จึงลงโทษจำเลยทั้งสามในความผิดตามมาตรา ๓๑วรรคหนึ่ง, ๖๔ หรือมาตรา ๓๔, ๖๖ ไม่ได้ แต่ฟ้องข้อ ค. ของโจทก์นั้น เมื่อพิจารณาประกอบกับคำขอท้ายฟ้องแล้ว เห็นได้ว่าโจทก์ขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตามมาตรา ๓๑ วรรค ๑, ๖๔ และมาตรา ๓๔, ๖๖และตามทางพิจารณาได้ความดังที่กล่าวแล้ว ฟังได้ว่าจำเลยทั้งสามร่วมกันกระทำความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าว แต่กระทำความผิดเพียงกรรมเดียว
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยทั้งสามมีความผิดตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง, ๖๔ และมาตรา ๓๔, ๖๖ ลงโทษตามมาตรา ๓๑ วรรคหนึ่ง, ๖๔ ซึ่งเป็นบทหนักปรับจำเลยที่ ๑ เป็นเงิน๑๐,๐๐๐ บาท จำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ คนละ ๑ ปี และปรับคนละ ๑๐,๐๐๐บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ไว้คนละ ๒ ปีตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๕๖ ข้อหาอื่นนอกจากนี้ให้ยกเสีย.