แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ข้อความซึ่งระบุไว้ในสัญญาค้ำประกันว่า แม้ลูกหนี้ตายเกิน 1 ปีผู้ค้ำประกันก็คงยอมรับใช้แทน นั้น ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน และไม่เป็นการขยายอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า นายเหลี่ยมสามีจำเลยกู้เงินโจทก์ไป ๙๐๐ บาทดอกเบี้ยร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปี จำเลยเป็นผู้ค้ำประกัน บัดนี้นายเหลี่ยมถึงแก่กรรมแล้ว โจทก์ทวงถามจำเลยไม่ชำระ โจทก์ขอคิดดอกเบี้ย ๕ ปี ขอให้บังคับจำเลยใช้ต้นเงินและดอกเบี้ยรวม ๑,๒๒๘.๕๐ บาท
จำเลยให้การรับว่าได้ค้ำประกันเงินกู้ที่ฟ้องจริง แต่นายเหลี่ยมถึงแก่กรรมไปแต่ พ.ศ. ๒๕๐๒ จึงขาดอายุความ สัญญาค้ำประกันก็ขาดอายุความไปด้วย และโจทก์ได้ทำนาของนายเหลี่ยมมา ๘ ปีแทนดอกเบี้ย จึงไม่มีสิทธิเรียกดอกเบี้ย ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นสอบคู่ความแล้วสั่งงดสืบพยานและพิพากษาว่า ตามลำดับของคู่ความจำเลยทำสัญญาค้ำประกันเงินกู้นายเหลี่ยมซึ่งกู้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยนายเหลี่ยมมอบมาให้โจทก์ทำต่างดอกเบี้ยมา ๘ ปีแล้ว นายเหลี่ยมตายเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ โจทก์ก็ทราบ สิทธิที่จะเรียกร้องจากลูกหนี้จึงขาดอายุความ เพราะเกิน ๑ ปี นับแต่ลูกหนี้ตายเกินกว่า ๑ ปีก็ตาม ข้อสัญญานี้เป็นการขยายอายุความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๔ ซึ่งขัดต่อมาตรา ๑๙๑ จึงเป็นโมฆะใช้บังคับไม่ได้ พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ได้พิจารณามาตรา ๖๙๘ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้ว ความในมาตรานี้มิได้หมายความว่าจะถือเป็นเด็ดขาดเปลี่ยนแปลงไม่ได้เสียเลย จะเห็นได้จากการพิจารณาความในมาตรา ๖๘๑ มาเปรียบเทียบแล้วจะเห็นได้ว่า แม้แต่หนี้ซึ่งลูกหนี้ไม่ต้องรับผิด ก็ยังอาจค้ำประกันได้ในบางกรณี ฉะนั้น ในกรรีที่ผู้ค้ำประกันยอมผูกพันตนให้รับผิดในหนี้ที่ขาดอายุความเรียกร้องจากลูกหนี้ จึงอาจจะกระทำได้ ไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน เพราะอายุความนั้น ถ้าไม่ยกขึ้นต่อสู้ ศาลก็ไม่อาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย จึงเห็นได้ว่าแม้แต่หนี้ที่ไม่สมบูรณ์เพระาสำคัญผิดหรือไร้ความสามารถ ยังยอมให้ผูกพันผู้ค้ำประกันได้เพียงแต่ผู้ค้ำประกันได้ทราบแล้ว ไฉนเรื่องอายุความซึ่งต้องยกขึ้นต่อสู้จึงไม่อาจตกลงไว้ต่อกันได้ก่อนว่าจะสละข้อต่อสู้นี้ กรณีไม่ใช่เป็นการขยายอายุความ เพราะอายุความเรียกร้องจากกองมรดกมิได้เปลี่ยนแปลง กล่าวคือ ผู้ให้กู้คงเรียกร้องจากทายาทผู้ตายเมื่อเกิน ๑ ปี แล้วไม่ได้อยู่นั่นเอง เหตุนี้ ผู้ค้ำประกันจึงไม่หลุดพ้นจากความรับผิดไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชยื มาตรา ๖๙๘ ฯลฯ พิพากษายืน