แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานปลอมและใช้เอกสารปลอมแต่ไม่ได้ระบุมาว่าการที่จำเลยปลอมเอกสารขึ้นนั้น น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอด ก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ฟ้องโจทก์ดังนี้ไม่ครบองค์ความผิดตามกฎหมายที่โจทก์ขอให้ลงโทษ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยได้ร่วมกันทำปลอมเอกสารหนังสือมอบอำนาจขึ้น 1 ฉบับ โดยจำเลยได้ร่วมกันเอาแบบพิมพ์หนังสือมอบอำนาจที่โจทก์ได้ลงชื่อไว้แล้ว แต่ยังมิได้กรอกข้อความ กรอกข้อความลงไปว่าโจทก์มอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้รับมอบอำนาจให้ขายที่ดินตาม น.ส.3 เลขที่ 65,66,70 ตำบลกะทู้ อำเภอกะทู้ จังหวัดภูเก็ต จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นพยานในเอกสารที่จำเลยร่วมกันทำปลอมขึ้นนั้นอันเป็นเอกสารสิทธิ ทั้งนี้ โดยจำเลยทั้งสามไม่มีสิทธิหรืออำนาจใด ๆ ที่จะกระทำเช่นนั้น โจทก์ไม่เคยมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดินแต่อย่างใด เพียงแต่มอบอำนาจให้จำเลยทำการไถ่ถอนการจำนองเท่านั้นแล้วต่อมาในระยะเวลาดังกล่าวข้างต้น จำเลยทั้งสามได้ร่วมกันนำเอกสารหนังสือมอบอำนาจที่จำเลยทำปลอมขึ้นไปแสดงต่อผู้มีชื่อและเจ้าพนักงาน จนผู้มีชื่อหลงเชื่อและตกลงซื้อที่ดินดังกล่าวนั้นและเจ้าพนักงานจดทะเบียนการขายที่ดินดังกล่าวนั้น ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264, 265, 268, 83, 90, 91 ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 11 พ.ศ. 2514 ข้อ 2 ต่อมาโจทก์ได้ถอนฟ้องจำเลยที่ 2, 3 ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตแล้ว
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้ววินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่ได้ระบุว่าได้เกิดความเสียหายหรือน่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์เองหรือผู้อื่นหรือประชาชน คำฟ้องโจทก์ไม่ครบองค์ความผิด พิพากษายกฟ้องโจทก์
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 บัญญัติว่า”ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร….” ตามตัวบทที่ยกมากล่าวแล้ว องค์ประกอบความผิดฐานปลอมเอกสารมีว่า “น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน” ด้วยแต่ฟ้องโจทก์มิได้มีข้อความดังกล่าว และแม้จะอ่านคำบรรยายฟ้องโจทก์โดยตลอด ก็ไม่อาจทราบความหมายนี้ได้ ฟ้องโจทก์จึงไม่ครบองค์ความผิดตามกฎหมายที่โจทก์อ้างขอให้ลงโทษจำเลย ไม่มีทางลงโทษจำเลยตามฟ้องได้
พิพากษายืน