คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1776/2526

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ลูกจ้างเป็นช่างเหล็ก ปกติทำงานอยู่ที่กรุงเทพมหานคร ไม่มีสิทธิได้รับเบี้ยเลี้ยง แต่ความรู้ความสามารถของลูกจ้างเป็นงานประเภทที่จะต้องไปซ่อมสะพานรถไฟตามเส้นทางรถไฟต่างจังหวัดอันเป็นงานประจำของตน ฉะนั้น เมื่อขณะประสบอันตรายลูกจ้างออกไปทำงานที่หน่วยงานสะพานต่างจังหวัดเป็นเวลาถึงหกเดือนเศษ ได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นการประจำจนกว่างานจะแล้วเสร็จ เห็นได้ชัดว่านายจ้างจ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่ลูกจ้างเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทน การทำงานในเวลาปกติของวันทำงานโดยแท้ เบี้ยเลี้ยงนี้จึงเป็นค่าจ้างอันจะต้องนำมาเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า ขณะที่นายเคนลูกจ้างของโจทก์กำลังออกปฏิบัติงานได้ถูกรถบรรทุกชนถึงแก่ความตาย โจทก์ในฐานะนายจ้างได้ยื่นแบบแจ้งการประสบอันตรายต่อพนักงานเงินทดแทน พนักงานเงินทดแทนให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ภริยาของนายเคนและจ่ายค่าทำศพแก่ผู้จัดการศพ โจทก์อุทธรณ์ต่อจำเลยว่าพนักงานเงินทดแทนคำนวณค่าจ้างรายเดือนโดยเฉลี่ยสำหรับการทำงานหกเดือนสุดท้ายยังคลาดเคลื่อน ขอให้จำเลยพิจารณาใหม่ จำเลยพิจารณาแล้วเห็นว่า คำสั่งพนักงานเงินทดแทนยังคลาดเคลื่อนเพราะมิได้นำเบี้ยเลี้ยงวันละ ๕๐ บาท มาเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนด้วย มีคำสั่งแก้คำสั่งพนักงานเงินทดแทนเป็นว่าให้โจทก์จ่ายค่าทดแทนแก่ภริยาของนายเคนโดยนำเบี้ยเลี้ยงวันละ ๕๐ บาท มาเป็นฐานคำนวณด้วย โจทก์ไม่เห็นพ้องด้วย เพราะเบี้ยเลี้ยงวันละ ๕๐ บาท โจทก์จะจ่ายให้เมื่อนายเคนไปทำงานนอกเขตหรือนอกสถานที่ เป็นการจ่ายนอกเหนือจากการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานจึงมิใช่ค่าจ้างที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณเงินทดแทน ขอให้ศาลเพิกถอนคำสั่งของจำเลย
จำเลยให้การว่า ลักษณะงานของนายเคนต้องออกไปปฏิบัติงานนอกสำนักงานเป็นประจำ หรือที่เรียกว่าเป็นงานสนามจนถือเป็นกรณีปกติ ดังจะเห็นได้จากรายการเบิกเบี้ยเลี้ยงทำการนอกสถานที่ นายเคนได้รับเบี้ยเลี้ยงวันละ ๕๐ บาทตลอดมาย้อนหลังไปหกเดือนก่อนถึงแก่ความตาย เบี้ยเลี้ยงจึงถือเป็นค่าจ้างส่วนหนึ่งที่โจทก์จ่ายให้เพื่อเป็นการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน ที่จำเลยนำเบี้ยเลี้ยงมาเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า เบี้ยเลี้ยงวันละ ๕๐ บาทเป็นค่าจ้างตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงาน จำเลยนำเบี้ยเลี้ยงมารวมเป็นค่าจ้างเป็นเกณฑ์ในการคำนวณเงินทดแทนชอบแล้ว พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ปรากฏจากคำปรารถของระเบียบการ ฯ จำเลยว่า “โดยที่ได้พิจารณาเห็นว่า ระเบียบการฉบับที่ ๕๐ ว่าด้วยการจ่ายค่าแรงเพิ่มให้แก่ลูกจ้างของการรถไฟ ฯ เมื่อออกไปปฏิบัติงานนอกเขตหรือสถานที่ ฯ และระเบียบการ ฉบับที่ ๔ ว่าด้วยการคิดเวลาทำการเพิ่มให้แก่คนงานรายชั่วโมงเฉพาะฝ่ายช่างกลที่ไปปฏิบัติงานนอกเขตหรือสถานที่ ฯ ได้ออกใช้มานาน และปัจจุบันสถานการณ์ได้เปลี่ยนแปลงไปการรถไฟ ฯ เห็นสมควรแก้ไขเพื่อให้สิทธิแก่ลูกจ้างเพิ่มขึ้นอีกให้เหมาะสมกับภาวะการครองชีพในปัจจุบัน จึงสมควรประมวลระเบียบการดังกล่าวนี้ให้รวมอยู่ในฉบับเดียวกัน เพื่อสะดวกในทางปฏิบัติ” คำปรารภดังกล่าวย่อมเห็นได้โดยประจักษ์ว่าเบี้ยเลี้ยงตามระเบียบการ ฯ นั้น เนื้อแท้ก็คือ “ค่าแรง” นั่นเอง อันเป็นการจ่ายค่าแรงตอบแทนเพื่อให้เป็นการสมควรแก่ปริมาณงานที่ทำ และเพื่อให้เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพเป็นประการสำคัญ
นายเคนเป็นช่างเหล็กชั้น ๓ แผนกผลิตสะพานและหมอนคอนกรีต อ่านแผนผังสะพานเหล็กอย่างง่ายได้ รู้จักชื่อและมิติส่วนต่าง ๆ ของสะพานเหล็กและเครื่องยึดเหนี่ยว รู้จักการใช้ระดับน้ำและถ่ายระดับน้ำ สามารถใช้เครื่องพ่นทรายขัดสนิมและทาสีสะพานเหล็ก ย้ำริเวทสะพาน ใช้สลักเกลียวแรงสูงยึดชิ้นส่วนของสะพานเหล็ก ตัดเจาะเหล็ก ย้ำเหล็กเพื่อซ่อมปะเหล็กส่วนที่ผุ ความรู้ความสามารถเห็นได้ชัดแจ้งว่า เป็นงานประเภทที่จะต้องไปซ่อมสะพานรถไฟตามเส้นทางรถไฟต่างจังหวัดอันเป็นงานประจำ งานที่แท้จริงมิใช่อยู่ที่กองงานโยธา ย่านพหลโยธิน กรุงเทพมหานคร การออกไปทำงานหน่วยงานสะพานที่สถานีอุบลราชธานีจึงถือเป็นงานประจำ และเป็นกรณีปกติ เบี้ยเลี้ยงของนายเคนซึ่งแต่เดิมเรียกว่า “ค่าแรง” จึงเป็นการตอบแทนงานที่ทำ เฉพาะคราวที่ประสบอันตรายถึงแก่ความตายนี้ นายเคนออกไปทำงานที่หน่วยงานสะพานเป็นเวลาถึงหกเดือนเศษได้รับเบี้ยเลี้ยงเป็นการประจำจนกว่างานแล้วเสร็จ เบี้ยเลี้ยงในคดีนี้จึงมิใช่เบี้ยเลี้ยงตามความหมายธรรมดาที่จ่ายให้เป็นค่าที่พักและค่าอาหารประจำวันในกรณีที่ออกไปทำงานนอกสถานที่ เมื่อพิจารณาถึงลักษณะงานประกอบกับวัตถุประสงค์ของระเบียบการจ่ายเบี้ยเลี้ยงแล้วคดีมีพฤติการณ์แสดงแจ้งชัดเห็นได้ว่า โจทก์จ่ายเบี้ยเลี้ยงให้แก่นายเคนเป็นส่วนหนึ่งของการตอบแทนการทำงานในเวลาปกติของวันทำงานโดยแน่แท้ ดังนั้น เบี้ยเลี้ยงในคดีนี้จึงเป็นค่าจ้างตามความหมายของประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลงวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๕๑๕ ข้อ ๒ ชอบที่จะนำมาเป็นฐานคำนวณค่าทดแทนด้วย
พิพากษายืน

Share