คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1775/2512

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

มาตรา 1744 มุ่งหมายถึงการส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดกโดยผู้จัดการมรดกไม่มีข้อโต้แย้งสิทธินั้นอย่างใด หาใช่บทบัญญัติห้ามทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อตั้งสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งโต้แย้งสิทธิของทายาทนั้นๆ ไม่.
เมื่อปรากฏว่าที่ดินเป็นสินเดิม. แม้ภายหลังการสมรสที่ดินนี้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากเพียงใดก็ตาม. ที่ดินดังกล่าวก็ยังมีสภาพเป็นสินเดิมอยู่นั่นเอง.ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหาใช่ดอกผลของที่ดินไม่. จึงแยกถือเอาราคาในส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสไม่ได้.

ย่อยาว

คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า เมื่อประมาณ 35 ปีมานี้ (ก่อนมีการจดทะเบียนสมรสตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 5) จำเลยแต่งงานกับนายแมน ทองมังกร เกิดบุตรด้วย 1 คน แล้วต่อมาภายหลัง นายแมนได้อยู่กินกับโจทก์โดยมิได้จดทะเบียนสมรส เกิดบุตรด้วยกัน 5 คนนายแมนได้จดทะเบียนรับรองว่าผู้เยาว์ทั้ง 5 คนซึ่งเกิดจากโจทก์เป็นบุตรของนายแมน ครั้นเมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2509 นายแมนตายนายแมนมีทรัพย์สินอันเป็นสินเดิมก่อนสมรสกับจำเลยจำนวน 203,000 บาทมีสินสมรสคิดเป็นเงิน 169,800 บาท ค่าเช่าเหมืองในอนาคต 20,000 บาททรัพย์สินดังกล่าวจึงตกเป็นมรดกได้แก่บุตรและภรรยา ต่อมาวันที่28 พฤษภาคม 2509 โจทก์กับจำเลยซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกได้ทำหนังสือสัญญาประนีประนอมยอมความแบ่งปันมรดกใจความว่า โจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับแบ่งที่ดิน 1 แปลง ส่วนผู้เยาว์ทั้ง 5 คนซึ่งเป็นบุตรได้รับแบ่งปันที่ดิน 3 แปลง และเงินสด 40,000 บาท แต่ในการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนี้ โจทก์ในฐานะผู้แทนโดยชอบธรรมของผู้เยาว์ทั้ง 5 มิได้รับอนุญาตจากศาล สัญญาดังกล่าวจึงย่อมไม่ผูกพันผู้เยาว์และผู้เยาว์ทั้ง 5 คนมีสิทธิได้รับแบ่งปันมรดกของนายแมนบิดา ตามส่วนที่กฎหมายกำหนดไว้ ส่วนการที่โจทก์ในฐานะส่วนตัวได้รับส่วนแบ่งที่ดิน 1 แปลงตามสัญญานั้น เป็นนิติกรรมที่สมบูรณ์ โจทก์จึงย่อมได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงนี้ โจทก์ได้เรียกร้องสิทธิดังกล่าวจากจำเลยแล้ว แต่จำเลยปฏิเสธและโต้แย้งสิทธิ จึงขอให้พิพากษาว่า (1) โจทก์ในฐานะส่วนตัว มีสิทธิได้รับที่ดิน 1 แปลงตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ขอให้จำเลยโอนให้ มิฉะนั้นให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา (2) สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ผูกพันผู้เยาว์ทั้ง 5 คน (3) ผู้เยาว์ทั้ง 5 คนมีสิทธิได้รับแบ่งมรดกรายนี้ตามส่วนที่ควรได้ตามกฎหมาย (4) ให้ประมูลราคาทรัพย์สินมรดกและแบ่งปันกันเองก่อน หากไม่ตกลง ให้ขายทอดตลาดแบ่งปันกันตามส่วน จำเลยให้การว่า สัญญาประนีประนอมยอมความเป็นสัญญาต่างตอบแทนหากส่วนหนึ่งของสัญญาใช้ไม่ได้ สัญญานั้นก็ใช้ไม่ได้ทั้งฉบับ จึงไม่มีความจำเป็นต้องยกที่ดินให้แก่โจทก์ นอกจากนี้การทำสัญญาประนีประนอมยอมความก็เพื่อระงับข้อพิพาทซึ่งอาจมีขึ้นเกี่ยวกับทรัพย์มรดก แต่เมื่อมีกรณีพิพาทเกิดขึ้นแล้วเพราะโจทก์เองเป็นต้นเหตุ ข้อตกลงที่จะยกที่ดิน จึงย่อมสิ้นไป จำเลยมิได้ปฏิเสธและโต้แย้งสิทธิ หากแต่เรื่องนี้ ศาลได้แต่งตั้งจำเลยเป็นผู้จัดการมรดก และยังอยู่ระหว่างการจัดการมรดก ซึ่งจำเลยต้องรายงานให้ศาลทราบและขออนุมัติต่อศาล การส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาท ผู้จัดการมรดกมีสิทธิที่จะหน่วงเหนี่ยวไว้ได้ตามกฎหมาย การแบ่งปันก็ยังไม่ทราบแน่ เพราะศาลยังมิได้อนุมัติ ทั้งเวลายังไม่ถึงกำหนด การที่โจทก์นำคดีมาสู่ศาลในวันที่โจทก์ ยังไม่มีเหตุอันชอบด้วยกฎหมายที่จะกระทำได้ ขอให้ยกฟ้อง ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า สัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้รับอนุญาตจากศาลเป็นโมฆะ จึงไม่ผูกพันผู้เยาว์ทั้ง 5 และโจทก์ในฐานะส่วนตัวไม่มีสิทธิได้รับที่ดินตามสัญญา พิพากษาให้เอาสินสมรสและค่าเช่าเหมืองแร่แบ่งออกเป็น 3 ส่วน ให้จำเลยได้ 1 ส่วน ที่เหลือ2 ส่วนรวมกับสินเดิม แบ่งออกเป็น 7 ส่วน ตกได้แก่ผู้เยาว์ทั้ง 5คน ๆ ละ 1 ส่วน ทรัพย์สินที่ไม่ใช่เงินสด ให้ประมูลราคาระหว่างกันเองก่อน ถ้าตกลงกันไม่ได้ ให้ขายทอดตลาดเอาเงินแบ่งกันตามส่วนให้ยกฟ้องโจทก์ในฐานะส่วนตัวเสีย โจทก์จำเลยอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน จำเลยฎีกาว่า (1) โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องขอแบ่งมรดก เพราะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1744 จำเลยไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อน 1 ปี (2) ที่ดิน 4 แปลงซึ่งเป็นสินเดิมนั้น เดิมมีราคาถูกเพราะเป็นที่รกร้างว่างเปล่า ต่อมานายแมนกับจำเลยใช้เงินซึ่งเป็นสินสมรสทำการปรับปรุงที่ดินทั้ง 4 แปลงมีราคาสูงกว่าเดิมมาก จึงควรหักให้เป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งแก่จำเลย 1 ใน 3 เสียก่อน เหลือจากนั้นจึงได้แก่ทายาท สำหรับฎีกาข้อ 1 นั้น ศาลฎีกาเห็นว่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1744 เป็นบทบัญญัติว่าด้วยหน้าที่ของผู้จัดการมรดกที่ไม่จำต้องส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทก่อน 1 ปี นับแต่วันที่เจ้ามรดกตาย ซึ่งมุ่งหมายถึงการส่งมอบทรัพย์มรดกให้แก่ทายาทซึ่งมีสิทธิได้รับส่วนแบ่งมรดก โดยผู้จัดการมรดกไม่มีข้อโต้แย้งสิทธินั้นอย่างใด หาใช่บทบัญญัติห้ามทายาทฟ้องผู้จัดการมรดกเพื่อตั้งสิทธิที่จะได้รับส่วนแบ่งมรดกจากผู้จัดการมรดกซึ่งโต้แย้งสิทธิของทายาทนั้น ๆ ไม่ ฟ้องของโจทก์คดีนี้เป็นฟ้องตั้งสิทธิที่โจทก์จะได้รับส่วนแบ่งมรดกรายนี้จากจำเลยในฐานะทายาทและผู้จัดการมรดกซึ่งยังโต้แย้งสิทธิของโจทก์อยู่ โจทก์จึงมีอำนาจฟ้อง ส่วนฎีกาข้อ 2 นั้น เมื่อปรากฏว่าที่ดิน 4 แปลงเป็นสินเดิม แม้ภายหลังการสมรสที่ดินนี้จะมีราคาเพิ่มสูงขึ้นกว่าเดิมมากเพียงใดก็ตาม ที่ดินดังกล่าวก็ยังมีสภาพเป็นสินเดิมอยู่นั่นเอง ราคาที่ดินที่เพิ่มขึ้นหาใช่ดอกผลของที่ดินไม่ จึงแยกถือเอาราคาในส่วนที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสไม่ได้ จำเลยไม่มีสิทธิขอให้หักราคาที่เพิ่มขึ้นเป็นสินสมรสที่จะต้องแบ่งให้แก่จำเลย 1 ใน 3 เสียก่อน พิพากษายืน.

Share