คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1772/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลยฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน15 ปี มีกำหนดกระทงละ 2 ปี จำนวน 2 กระทง ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารมีกำหนด 2 ปี 6 เดือน และฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารมีกำหนด 2 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 6 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารกับกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบทให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยไม่ลงโทษฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารแก่จำเลยอีก เป็นเพียงแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง
ฎีกาของจำเลยที่ว่า บิดาของผู้เสียหายโทรศัพท์เข้าเครื่องโทรศัพท์ติดตามตัวจำเลยฝากข้อความให้ผู้เสียหายรีบติดต่อกลับไปหาบิดาด่วน จำเลยได้แจ้งข้อความให้ผู้เสียหายทราบแล้ว และผู้เสียหายได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบิดาของผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยสามารถกีดกันไม่ให้ผู้เสียหายติดต่อกลับไปยังบิดาของผู้เสียหายก็ย่อมทำได้ และขณะที่ผู้เสียหายรอบิดาของผู้เสียหายมารับก็รออยู่กับจำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นจำเลยมีความประสงค์จะส่งตัวผู้เสียหายให้แก่บิดาของผู้เสียหายโดยไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายหลบหนีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จึงขอให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาและวินิจฉัยถึงคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยด้วยเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และที่ขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้น ก็เป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงเช่นกัน

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2544 เวลาใดไม่ปรากฏชัดจำเลยได้กอดปล้ำกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงชุติมา ไชยณรงค์ ผู้เสียหายอายุ 14 ปีเศษซึ่งมิใช่ภริยาของตนจนสำเร็จความใคร่ โดยผู้เสียหายยินยอม ต่อมาระหว่างวันที่ 1 ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2544 เวลากลางวันและกลางคืนต่อเนื่องกันจำเลยโดยปราศจากเหตุอันสมควรได้พรากผู้เสียหายไปเสียจากนายชนะชัย ไชยณรงค์ บิดา เพื่อการอนาจารและจำเลยพาผู้เสียหายไปเพื่อการอนาจาร แล้วจำเลยกอดปล้ำกระทำอนาจารและกระทำชำเราผู้เสียหายซึ่งมิใช่ภริยาของตนจนสำเร็จความใคร่โดยผู้เสียหายยินยอมขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277, 279, 283 ทวิ, 217, 91

จำเลยให้การรับสารภาพ

ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 277 วรรคแรก, 279 วรรคแรก, 283 ทวิ วรรคสอง, 317 วรรคสาม ความผิดฐานกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้มาตรา 277 วรรคแรก ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 จำเลยกระทำความผิดเมื่อวันที่ 23มกราคม 2544 กับวันที่ 1 ถึง 2 กุมภาพันธ์ 2544 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน จึงต้องลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไปตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91วางโทษ ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำคุกกระทงละ 4 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารจำคุก 5 ปี และฐานพาเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 4 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี คงจำคุกกระทงละ 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร คงจำคุก2 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 6 ปี 8 เดือน

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารกับกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดต่อกฎหมายหลายบทให้ใช้มาตรา 277 วรรคแรก ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยไม่ลงโทษฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปีไปเพื่อการอนาจารแก่จำเลยอีก รวม 3 กระทง จำคุก 6 ปี 6 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เห็นว่าศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจำเลย ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี มีกำหนดกระทงละ 2 ปี จำนวน 2 กระทงความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจารมีกำหนด2 ปี 6 เดือน และความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารมีกำหนด2 เดือน รวม 4 กระทง จำคุก 6 ปี 8 เดือน ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารกับกระทำอนาจารและกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี เป็นกรรมเดียวเป็นความผิดกฎหมายหลายบทให้ใช้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี ซึ่งเป็นกฎหมายที่มีโทษหนักที่สุดลงโทษแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 90 โดยไม่ลงโทษฐานพาเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจารแก่จำเลยอีก เป็นเพียงแก้ไขเล็กน้อยและยังคงลงโทษจำคุกจำเลยแต่ละกระทงไม่เกิน 5 ปี จึงต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 218 วรรคหนึ่ง ที่จำเลยฎีกาว่า บิดาของเด็กหญิงชุติมาผู้เสียหายโทรศัพท์เข้าเครื่องโทรศัพท์ติดตามตัวจำเลยฝากข้อความให้ผู้เสียหายรีบติดต่อกลับไปหาบิดาด่วน จำเลยได้แจ้งข้อความให้ผู้เสียหายทราบแล้วและผู้เสียหายได้โทรศัพท์ติดต่อไปยังบิดาของผู้เสียหาย ซึ่งจำเลยสามารถกีดกันไม่ให้ผู้เสียหายติดต่อกลับไปยังบิดาของผู้เสียหายก็ย่อมทำได้ และขณะที่ผู้เสียหายรอบิดาของผู้เสียหายมารับก็รออยู่กับจำเลย ย่อมแสดงให้เห็นว่าขณะนั้นจำเลยมีความประสงค์จะส่งตัวผู้เสียหายให้แก่บิดาของผู้เสียหายโดยไม่ประสงค์ให้ผู้เสียหายหลบหนีไปเสียจากบิดาเพื่อการอนาจาร จึงขอให้ศาลฎีกาได้โปรดพิจารณาและวินิจฉัยถึงคำร้องประกอบคำรับสารภาพของจำเลยด้วยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าว และที่จำเลยฎีกาขอให้รอการลงโทษแก่จำเลยนั้นเป็นฎีกาที่โต้แย้งดุลพินิจในการกำหนดโทษของศาลอุทธรณ์ก็เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามบทกฎหมายมาตราดังกล่าวเช่นกัน ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกาของจำเลยมานั้นเป็นการไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้”

พิพากษายกฎีกาของจำเลย

Share