แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าขณะแจ้งการครอบครองที่ดินนั้น ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งเท่านั้น ส่วนความจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้น จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกจากที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) โดยส่งมอบที่ดินคืนให้แก่โจทก์ทั้งสองในสภาพเรียบร้อย ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก และให้จำเลยชำระค่าเสียหายแก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 10,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสอง
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินพิพาท ห้ามจำเลยและบริวารเข้ามาเกี่ยวข้องอีก ให้จำเลยชดใช้ค่าเสียหายให้แก่โจทก์ทั้งสองเดือนละ 3,000 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยจะขนย้ายทรัพย์สินและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์ทั้งสองและให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ทั้งสอง โดยกำหนดค่าทนายความให้ 5,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
โจทก์ทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) ซึ่งมีชื่อโจทก์ที่ 1 นายโพบิดาของโจทก์ที่ 2 และบุคคลอื่นอีก 4 คน เป็นผู้แจ้งการครอบครองเมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2498 โจทก์ที่ 1 เป็นบุตรของนายยงและนางทองอยู่ เมื่อปี 2488 นายยงถึงแก่ความตาย ต่อมาปี 2491 นางทองอยู่มารดาของโจทก์ที่ 1 อยู่กินฉันสามีภริยากับจำเลยในบ้านและที่ดินพิพาทมีบุตรด้วยกัน 6 คน จนกระทั่งปี 2540 นางทองอยู่ถึงแก่ความตาย ปัจจุบันจำเลยและบุตรยังอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท
ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองมีว่า จำเลยมีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินมือเปล่าที่มีแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จำเลยเข้าไปอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทเมื่อจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางทองอยู่มารดาของโจทก์ที่ 1 ตั้งแต่ปี 2491 และจำเลยยังคงอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน จำเลยจึงเป็นผู้ครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทต้องด้วยข้อสันนิษฐานว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367
ที่โจทก์ทั้งสองฎีกาว่า เมื่อโจทก์ที่ 1 กับพวกไปแจ้งการครอบครองที่ดินเมื่อปี 2498 ซึ่งอยู่ระหว่างที่จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางทองอยู่ แต่จำเลยก็มิได้คัดค้านการแจ้งการครอบครองที่ดินพิพาทดังกล่าวนั้น เห็นว่า แบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) เป็นหลักฐานอย่างหนึ่งซึ่งแสดงว่าขณะแจ้งการครอบครองที่ดินนั้น ผู้แจ้งอ้างว่าที่ดินเป็นของผู้แจ้งเท่านั้น ส่วนความจริงผู้ใดจะมีสิทธิครอบครองนั้น จะต้องพิจารณาจากพยานหลักฐานว่าผู้ใดเข้ายึดถือครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน จึงจะได้สิทธิครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา 1367 ดังนั้น การที่โจทก์ที่ 1 เพียงแต่มีชื่อในแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค. 1) จึงไม่เป็นเหตุให้โจทก์ที่ 1 มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท สำหรับที่โจทก์ที่ 1 ฎีกาว่า โจทก์ที่ 1 เป็นผู้อนุญาตให้นางทองอยู่มารดาอยู่อาศัยและครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 จำเลยเข้าอยู่อาศัยในบ้านและที่ดินพิพาทในฐานะผู้อาศัยนางทองอยู่ เมื่อนางทองอยู่ถึงแก่ความตาย การครอบครองของจำเลยจึงเป็นการครอบครองแทนโจทก์ที่ 1 นั้น เห็นว่า พฤติการณ์ที่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบันนับเป็นเวลากว่า 50 ปีแล้ว ซึ่งขณะที่จำเลยเข้าครอบครองนั้นโจทก์ที่ 1 มีอายุประมาณ 12 ปี อยู่ในความอุปการะเลี้ยงดูของนางทองอยู่มารดากับจำเลยและพักอาศัยอยู่ในบ้านและที่ดินพิพาท ทั้งต่อมาโจทก์ที่ 1 ไปรับราชการทหารที่กรุงเทพมหานครและมีบ้านพักอาศัยอยู่กับครอบครัวตลอดมา นับถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 40 ปีแล้ว ลักษณะเช่นนี้จึงหาใช่จำเลยครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทแทนโจทก์ที่ 1 ดังที่อ้างในฎีกาไม่ หากแต่จำเลยยึดถือครอบครองในฐานะเจ้าของผู้มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาทนั้น ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ตามพยานหลักฐานของจำเลยซึ่งมีน้ำหนักดีกว่าพยานหลักฐานของโจทก์ทั้งสองว่า โจทก์ทั้งสองไม่มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองบ้านและที่ดินพิพาท ดังนั้น โจทก์ทั้งสองจึงไม่มีสิทธิฟ้องขับไล่จำเลย และคดีไม่จำต้องวินิจฉัยปัญหาอื่นตามฎีกาของโจทก์ทั้งสองอีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.