แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคารแล้วจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีและโจทก์ยอมผ่อนผันยอมจ่ายไปให้ โจทก์ได้หักทอนบัญชีทุกเดือนและคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในเดือนนั้นส่วนอัตราดอกเบี้ยโจทก์คิดตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ซึ่งเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีโจทก์และจำเลยถือปฏิบัติต่อกันเช่นนี้เป็นเวลาหลายปีมีการนำเงินเข้าและถอนเงินจากบัญชีหลายสิบครั้ง แสดงว่าโจทก์จำเลยตกลงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างกันและคงชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันโดยปริยาย จำเลยไม่ได้นำเงินเข้าหรือถอนเงินจากบัญชีนั้นเป็นเวลาถึง 5 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยถอนเงินจากบัญชี แสดงว่าโจทก์และจำเลยไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีสัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยจึงเลิกกันโดยปริยายนับแต่วันนั้น การที่ต่อมาจำเลยนำเงินเข้าบัญชีและโจทก์นำไปหักใช้หนี้ จึงเป็นการนำเงินเข้าเพื่อชำระหนี้หาทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเลิกกันไปแล้ว เกิดขึ้นมาใหม่หรือกลับมามีผลไม่ แม้การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีในภายหลังดังกล่าวจะไม่มีผลต่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่เลิกไปแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการชำระหนี้บางส่วน ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1)ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ และให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/15 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายกำหนดไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30ส่วนอายุความเรียกดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปีตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/33(1)
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 51,536.30 บาทพร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี ของต้นเงิน 42,016.80 บาทนับแต่วันถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 17,061.94 บาท พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 25 พฤษภาคม 2532 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยฎีกา โดยผู้พิพากษาซึ่งได้นั่งพิจารณาคดีในศาลชั้นต้นได้รับรองว่ามีเหตุสมควรที่จะฎีกาในข้อเท็จจริงได้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2519 จำเลยได้ขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันกับโจทก์ตามใบขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 จำเลยได้นำเงินเข้าฝากและเบิกถอนเงินจากบัญชีดังกล่าวโดยสั่งจ่ายเช็คหลายฉบับเป็นเวลาหลายปี ถ้าเงินในบัญชีของจำเลยไม่พอจ่าย โจทก์จะจ่ายเงินแทนไปและคิดดอกเบี้ยทบต้นในหนี้ที่ค้างชำระทุกเดือนโดยคิดดอกเบี้ยอัตราสูงสุดที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เรียกเก็บได้ จำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินครั้งสุดท้ายวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 และนำเงินเข้าบัญชีครั้งสุดท้ายวันที่ 24 พฤษภาคม 2532 ปรากฏตามบัตรบัญชีเอกสารหมาย จ.5
จำเลยฎีกาข้อแรกว่า โจทก์จำเลยไม่ได้ตกลงเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้โดยนิติกรรมโจทก์จึงไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 พิเคราะห์แล้ว เห็นว่า แม้นายสมชาย กาญจนานุรักษ์ ผู้รับมอบอำนาจโจทก์จะเบิกความว่าจำเลยทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดกับโจทก์โดยเปิดบัญชีเลขที่ 021-6-00907-3 ยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยจากเงินที่เบิกเกิน รายละเอียดปรากฏตามใบขอเปิดบัญชีเงินฝากกระแสรายวันเอกสารหมาย จ.4 และจำเลยจะไม่ได้สืบพยานแต่ตามเอกสารดังกล่าวไม่มีข้อความแสดงให้เห็นว่าโจทก์จำเลยตกลงทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดและจำเลยยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยได้เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี อย่างไรก็ตามการที่จำเลยเปิดบัญชีกระแสรายวันกับโจทก์ซึ่งเป็นธนาคาร แล้วจำเลยออกเช็คสั่งจ่ายเงินเกินกว่าจำนวนเงินที่จำเลยมีอยู่ในบัญชีและโจทก์ผ่อนผันยอมจ่ายให้ไปโจทก์ได้หักทอนบัญชีทุกเดือนและคิดดอกเบี้ยทบต้นจากจำนวนเงินที่จำเลยเป็นหนี้โจทก์ในเดือนนั้น ส่วนอัตราดอกเบี้ยโจทก์คิดตามอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยอนุญาตให้ธนาคารพาณิชย์เรียกเก็บจากลูกค้าได้ซึ่งเกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี โจทก์และจำเลยถือปฏิบัติต่อกันเช่นนี้เป็นเวลาหลายปี มีการนำเงินเข้าและถอนเงินจากบัญชีหลายสิบครั้งแสดงว่าโจทก์จำเลยตกลงให้หักทอนบัญชีหนี้อันเกิดแต่กิจการในระหว่างกันและคงชำระหนี้ส่วนที่เป็นจำนวนคงเหลือถือได้ว่าโจทก์จำเลยได้ทำสัญญาบัญชีเดินสะพัดต่อกันโดยปริยายและอัตราดอกเบี้ยให้เป็นไปตามที่ประกาศของธนาคารโจทก์และธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยเกินกว่าอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
จำเลยฎีกาข้อต่อไปว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดเลิกในวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งเป็นวันหักทอนบัญชีครั้งสุดท้าย หลังจากวันนี้โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป เห็นว่า สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์จำเลยอาจจะเลิกโดยคู่สัญญาแสดงเจตนาต่อกันโดยชัดแจ้งหรือโดยปริยายก็ได้ปรากฏตามบัตรบัญชีเอกสารหมาย จ.5 ว่าตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2518 ถึงเดือนมกราคม 2527 ในแต่ละเดือนจำเลยมักจะนำเงินเข้าบัญชีและถอนเงินจากบัญชีหลายครั้งเมื่อถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2527 จำเลยสั่งจ่ายเช็คถอนเงินเพียง1 ครั้ง เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2527 และนำเงินเข้าบัญชีเพียง1 ครั้ง เมื่อวันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2527 ต่อจากนี้จำเลยไม่ได้นำเงินเข้าหรือถอนเงินจากบัญชีนั้นเป็นเวลาถึง 5 ปีเศษ โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมให้จำเลยถอนเงินจากบัญชีในแต่ละเดือนคงมีแต่รายการที่โจทก์คิดดอกเบี้ยทบต้นเข้าไปในบัญชีทุกวันสิ้นเดือนหรือใกล้วันสิ้นเดือนซึ่งเป็นการกระทำของโจทก์แต่เพียงฝ่ายเดียวไม่มีลักษณะเป็นการเดินสะพัดทางบัญชี แสดงว่าโจทก์และจำเลยไม่ประสงค์จะเดินสะพัดทางบัญชีระหว่างกันอีกต่อไป โจทก์หักทอนบัญชีครั้งสุดท้ายภายหลังจากที่ไม่มีการเดินสะพัดทางบัญชีเมื่อวันที่ 28กุมภาพันธ์ 2527 สัญญาบัญชีเดินสะพัดระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงเลิกกันโดยปริยายเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2527 ซึ่งปรากฏตามบัตรบัญชีเอกสารหมาย จ.5 ว่าในวันนั้นจำเลยเป็นหนี้โจทก์จำนวน9,129.11 บาท โจทก์ไม่มีสิทธิคิดดอกเบี้ยทบต้นอีกต่อไป แต่ยังคงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยไม่ทบต้นในหนี้เงินดังกล่าวต่อไปได้จนกว่าจำเลยจะชำระหนี้เสร็จ การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 24พฤษภาคม 2532 จำนวน 40,000 บาท และโจทก์นำไปหักใช้หนี้ จึงเป็นการนำเงินเข้าเพื่อชำระหนี้ หาทำให้สัญญาบัญชีเดินสะพัดซึ่งเลิกกันไปแล้ว 5 ปีเศษ เกิดขึ้นมาใหม่หรือมีผลมาถึงวันดังกล่าวไม่ ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้น
จำเลยฎีกาข้อสุดท้ายว่า ฟ้องโจทก์ขาดอายุความ เห็นว่าแม้การที่จำเลยนำเงินเข้าบัญชีเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2532จะไม่มีผลต่อสัญญาบัญชีเดินสะพัดที่เลิกไปแล้ว แต่การกระทำดังกล่าวเป็นการชำระหนี้บางส่วน ย่อมมีผลทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14(1) ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนหน้านั้นไม่นับเข้าในอายุความ และให้เริ่มนับใหม่ตั้งแต่เวลานั้นตามมาตรา 193/15 สิทธิเรียกร้องให้ชำระหนี้ต้นเงินตามสัญญาบัญชีเดินสะพัดไม่มีกฎหมายบัญญัติกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30 โจทก์ฟ้องคดีวันที่ 22 สิงหาคม 2538 ยังไม่เกิน 10 ปี สิทธิเรียกร้องในต้นเงินค้างชำระจึงไม่ขาดอายุความ ส่วนอายุความเรียกดอกเบี้ยค้างชำระมีอายุความ 5 ปีตามมาตรา 193/33(1) สิทธิเรียกร้องในดอกเบี้ยค้างชำระเฉพาะส่วนที่เกิน 5 ปี จึงขาดอายุความ ฎีกาจำเลยฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยชำระเงินจำนวน 9,129.11 บาทแก่โจทก์พร้อมด้วยดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 18 ต่อปี นับแต่วันที่ 1มีนาคม 2527 เฉพาะดอกเบี้ยก่อนฟ้องให้จำเลยชำระไม่เกิน 5 ปีโดยให้นำเงินจำนวน 4,000 บาท มาหักชำระหนี้ที่มีอยู่ ณ วันที่ 24พฤษภาคม 2532 ด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์