แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม2536 ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43,157ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้เสียหายได้ฟ้องจำเลยในข้อหาเดียวกันนี้เป็นคดีต่างหากและถอนฟ้องจำเลยไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536โดยไม่ปรากฎในคำร้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้ แม้ว่าผู้ร้องอาจขอเข้าร่วม เป็นโจทก์ได้โดยไม่จำต้องกล่าวหรือมีข้อแม้ในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ก็ตามแต่การที่ผู้ร้องเพิ่งจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หลังจากที่ได้ถอนฟ้องไปแล้วเป็นเวลากว่า 10 เดือนแสดงว่า ผู้ร้องมีเจตนาที่จะถอนฟ้องเด็ดขาดตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องจึงระงับไป ตามมาตรา 39(2) เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ เท่ากับนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่อีกจึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2535 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยขับรถยนต์หมายเลขทะเบียน ข-2409 กรุงเทพมหานครไปตามถนนในซอยบางสะแก ขับล้ำเข้าไปในช่องเดินรถที่สวนมาด้วยความประมาทของจำเลย เป็นเหตุให้รถจำเลยเฉี่ยวชนรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน กรุงเทพมหานคร 6น-1396 ซึ่งมีนายปัญญา ด่านจงถาวร ซึ่งเป็นผู้ต้องหาในคดีนี้และยังไม่ได้ตัวมาฟ้องเป็นผู้ขับสวนทางมา เป็นเหตุให้รถของนายปัญญาได้รับความเสียหาย และนายปัญญาได้รับอันตรายสาหัสต้องป่วยเจ็บด้วยอาการทุกขเวทนา และจนประกอบกรณียกิจตามปกติไม่ได้เกินกว่ายี่สิบวัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 300 พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2522 มาตรา 43, 157
จำเลยให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นสืบพยานโจทก์เสร็จและระหว่างนัดสืบพยานจำเลยนั้นนายปัญญา ด่านจงถาวร ผู้ร้องยื่นคำร้องอ้างว่า เป็นผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ โจทก์และจำเลยคัดค้านการขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของผู้ร้อง ศาลชั้นต้นฟังคำแถลงของโจทก์จำเลยแล้วยกคำร้องของผู้ร้องผู้ร้องโต้แย้งคัดค้านคำสั่งของศาลชั้นต้นดังกล่าวไว้ เพื่อใช้สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาต่อไป
ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
ผู้ร้องฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ผู้ร้องเป็นผู้ขับรถยนต์เฉี่ยวชนกับรถยนต์จำเลยเป็นเหตุให้ผู้ร้องได้รับอันตรายสาหัส ผู้ร้องยื่นฟ้องจำเลยเป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 8065/2536 ของศาลชั้นต้นในข้อหาเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องจำเลยในคดีนี้ ระหว่างไต่สวนมูลฟ้องผู้ร้องขอถอนคำฟ้อง ศาลชั้นต้นอนุญาตและมีคำสั่งจำหน่ายคดีเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536 เป็นคดีหมายเลขแดงที่ 9050/2536 ในชั้นสอบสวนคดีนี้โจทก์มีความเห็นสั่งฟ้องผู้ร้องข้อหาขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ทรัพย์สินผู้อื่นได้รับความเสียหายแต่โจทก์มิได้ตัวผู้ร้องมาดำเนินคดีจนคดีขาดอายุความ ปัญหาตามฎีกาผู้ร้องมีว่า ผู้ร้องจะขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้ตามคำร้องได้หรือไม่ ผู้ร้องฎีกาว่า การที่ผู้ร้องถอนฟ้องนั้นไม่จำต้องระบุในคำร้องว่าจะถอนไปเพื่อเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการ ก็มีสิทธิขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการนั้นเห็นว่า ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 บัญญัติว่าคดีอาญาซึ่งได้ถอนฟ้องไปจากศาลแล้วจะนำมาฟ้องอีกหาได้ไม่เว้นแต่จะเข้าอยู่ในข้อยกเว้นต่อไปนี้
(1) ถ้าพนักงานอัยการได้ยื่นฟ้องคดีอาญาซึ่งไม่ใช่ความผิดต่อส่วนตัวไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นไป การถอนนั้นไม่ตัดสิทธิผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(2) ถ้าพนักงานอัยการถอนคดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัวไปโดยมิได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้เสียหาย การถอนนั้นผู้เสียหายที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่
(3) ถ้าผู้เสียหายได้ยื่นฟ้องคดีอาญาไว้แล้วได้ถอนฟ้องคดีนั้นเสีย การถอนฟ้องนี้ไม่ตัดสิทธิพนักงานอัยการที่จะยื่นฟ้องคดีนั้นใหม่ เว้นแต่คดีซึ่งเป็นความผิดต่อส่วนตัว
ปรากฎว่าโจทก์ฟ้องคดีนี้เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2536 ส่วนคดีของผู้ร้อง ผู้ร้องฟ้องและถอนฟ้องจำเลยไปเมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2536โดยไม่ปรากฎข้อความในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ ต่อมาวันที่ 30 สิงหาคม 2537 ผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการโจทก์ในคดีนี้ ดังนี้แม้ว่าผู้ร้องอาจขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการได้โดยไม่จำต้องกล่าวหรือมีข้อแม้ในคำร้องขอถอนฟ้องว่าถอนไปเพื่อขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการก็ตาม แต่พฤติการณ์ที่ผู้ร้องเพิ่งจะยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์หลังจากที่ได้ถอนฟ้องคดีเดิมไปแล้วเป็นระยะเวลานานกว่า 10 เดือน เห็นได้ว่าผู้ร้องมีเจตนาที่จะถอนฟ้องจำเลยเด็ดขาดแล้วตั้งแต่ต้นตามความหมายในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 36 สิทธินำคดีอาญามาฟ้องของผู้ร้องจึงระงับไปแล้วตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 39(2) เมื่อผู้ร้องยื่นคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการเท่ากับนำคดีมาฟ้องจำเลยใหม่อีก จึงต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว”
พิพากษายืน