คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1759/2545

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

หนังสือสัญญากู้ยืมเงินระบุคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอเป็นผู้กู้โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงนามในฐานะประธานคณะกรรมการ แต่เมื่อคณะกรรมการไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลที่จะสามารถรับผิดต่อโจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกสำหรับกิจการที่จำเลยกระทำไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 820 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเข้าทำสัญญาแทนตัวการที่มีตัวอยู่จริง ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดตามสัญญากู้ยืมเงินตามลำพัง
สัญญากู้ยืมเงินไม่ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยไว้เพียงแต่กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 แม้จำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 2 บาทต่อเดือน ก็เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระ จำเลยหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืนไม่ อย่างไรก็ตามเนื่องจากสัญญากู้ยืมเงินมิได้กำหนดเวลาให้จำเลยใช้คืนเงินที่กู้ยืมและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้คืนเงินดังกล่าวภายในเวลาอันควรตามมาตรา 652จึงไม่อาจถือว่าวันที่ 1 สิงหาคม 2540 ซึ่งเป็นวันหลังจากวันที่จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเดือนสุดท้ายให้แก่โจทก์ เป็นวันที่จำเลยผิดนัด ต้องถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2539 จำเลยกู้ยืมเงินไปจากโจทก์จำนวน30,000 บาท และได้รับเงินจำนวนดังกล่าวไปครบถ้วนแล้วในวันทำสัญญา ตกลงชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือน หลังจากกู้ยืมเงินไปแล้ว จำเลยชำระต้นเงินคืนจำนวน 10,000บาท และชำระดอกเบี้ยเรื่อยมาจนถึงเดือนกรกฎาคม 2540 หลังจากนั้นไม่ชำระต้นเงินและดอกเบี้ยอีก โจทก์ทวงถามแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยขอคิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5ต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนถึงวันฟ้องเป็นเงิน1,420 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระเงินจำนวน 21,420 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ

จำเลยให้การว่า ไม่เคยกู้ยืมเงินจากโจทก์ตามฟ้อง ความจริงแล้วโจทก์นำเงินไปลงหุ้นในกองทุนสวัสดิการผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาโดยได้รับผลประโยชน์เป็นดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือน จำเลยลงชื่อผู้กู้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินในฐานะเป็นประธานกรรมการของกองทุน ไม่ใช่ในฐานะส่วนตัวจึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นการส่วนตัว โจทก์เรียกดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดดอกเบี้ยจึงตกเป็นโมฆะ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ จำนวน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม 2540 จนถึงวันชำระเสร็จแต่ดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้อง ต้องไม่เกิน 1,420 บาท

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์ภาค 9 พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า จำเลยในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตา ซึ่งไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายได้ทำสัญญากู้ยืมเงินโจทก์ตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1ในนามคณะกรรมการกองทุนดังกล่าว คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาจำเลยประการแรกว่า จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า แม้ในหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 จะระบุคณะกรรมการกองทุนผู้บริหารสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอบันนังสตาเป็นผู้กู้โดยมีจำเลยเป็นผู้ลงนามในฐานะประธานคณะกรรมการกองทุนดังกล่าว แต่เมื่อคณะกรรมการกองทุนดังกล่าวไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลตามกฎหมายที่จะสามารถรับผิดต่อโจทก์ในฐานะบุคคลภายนอกสำหรับกิจการที่จำเลยกระทำไปดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 820 จึงถือไม่ได้ว่าจำเลยเข้าทำสัญญาแทนตัวการที่มีตัวอยู่จริง ดังนั้น จำเลยจึงต้องรับผิดตามหนังสือสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ตามลำพัง ฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังไม่ขึ้น ส่วนที่จำเลยฎีกาอีกว่า โจทก์ไม่สามารถเรียกดอกเบี้ยได้เนื่องจากข้อสัญญาในส่วนที่เกี่ยวกับดอกเบี้ยเป็นโมฆะ เพราะโจทก์เรียกดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 2 ต่อเดือนเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดนั้น ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1 ไม่ได้กำหนดเรื่องอัตราดอกเบี้ยไว้เพียงแต่กำหนดให้จำเลยชำระดอกเบี้ยทุกวันสิ้นเดือนจนกว่าจะชำระต้นเงินแก่โจทก์จนครบถ้วน โจทก์จึงมีสิทธิคิดดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 7 แม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์และจำเลยนำสืบรับกันว่าหลังจากทำสัญญากู้ยืมเงินกันแล้วจำเลยชำระดอกเบี้ยแก่โจทก์อัตราร้อยละ 2 บาทต่อเดือน ก็เป็นการชำระดอกเบี้ยตามอำเภอใจโดยรู้อยู่ว่าตนไม่มีความผูกพันที่จะต้องชำระจำเลยหามีสิทธิจะได้รับดอกเบี้ยที่ชำระไปแล้วคืนไปไม่ แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากสัญญากู้ยืมเงินเอกสารหมาย จ.1มิได้กำหนดเวลาให้จำเลยใช้คืนเงินที่กู้ยืมและไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้บอกกล่าวแก่จำเลยให้คืนเงินดังกล่าวภายในเวลาอันควรที่กำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 652 จึงไม่อาจถือว่าวันที่ 1 สิงหาคม2540 ซึ่งเป็นวันหลังจากที่จำเลยชำระดอกเบี้ยสำหรับเดือนสุดท้ายให้แก่โจทก์เป็นวันที่จำเลยผิดนัด กรณีนี้ถือว่าจำเลยผิดนัดและต้องเสียดอกเบี้ยตั้งแต่วันฟ้องเป็นต้นไปฎีกาจำเลยข้อนี้ฟังขึ้นบางส่วน”

พิพากษาแก้เป็นว่า สำหรับดอกเบี้ยให้จำเลยชำระอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของต้นเงิน 20,000 บาท ตั้งแต่วันฟ้อง คือ วันที่ 14 กรกฎาคม 2541 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 9

Share