คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1751/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สโมสรนายทหารกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ 1 ตั้งสวัสดิการเงินกู้ขึ้น ดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับการเป็นผู้แต่งตั้งตามตำแหน่งของหน่วย ผลัดเปลี่ยนกันไปโดยอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้บังคับการ ทุนของสวัสดิการเงินกู้ได้มาจากเงินของหน่วยงานกับเงินของข้าราชการที่เป็นสมาชิกสโมสรนำมาฝาก ปี พ.ศ. 2514 จำเลยที่ 1 มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองรบพิเศษฯ แห่งนี้ ได้เป็นประธาน กรรมการสวัสดิการ เงินกู้โดยรองผู้บังคับการเป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ 3 ที่ 4 เป็นกรรมการ และจำเลยที่ 4 คงเป็นกรรมการและผู้จัดการตามเดิมต่อไป โจทก์นำเงินเข้าฝากไว้ในสวัสดิการเงินกู้เป็นจำนวน 230,000 บาท สวัสดิการเงินกู้ไม่จ่ายเงินปันผลให้โจทก์ โจทก์จึงเรียกเงินฝากคืนพร้อมทั้งเงินปันผล เช่นนี้ สวัสดิการเงินกู้มิได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล การดำเนินงานทั้งหลายจึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการผู้ได้แต่งตั้งดังปรากฏตามระเบียบว่าด้วยเงินกู้ แม้คณะกรรมการนี้จะมีการแต่งตั้งเปลี่ยนกันไปหลายครั้งตามตำแหน่งนับแต่เริ่มตั้งสวัสดิการเงินกู้จนถึงปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าคณะกรรมการใหม่ยอมรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดจากคณะกรรมการชุดเดิมที่ดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ไว้ จะยกข้ออ้างว่าตนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและไม่ได้รับมอบหมายการงานหาได้ไม่ จำเลยที่ 5 รับเงินจากโจทก์ไว้ในนามของคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการอื่นต้องร่วมรับผิดในเงินฝากของโจทก์ด้วย และเป็นนิติสัมพันธ์ ทางสัญญาตามกฎหมาย ที่จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 พ้นจากตำแหน่งกรรมการสวัสดิการ เงินกู้ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น ไม่เป็นผลลบล้างอำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิม ให้หมดไป สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อจำเลยที่ 1 เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาการ จำเลยที่ 1 ก็เข้าเป็นประธานกรรมการดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ต่อมา แม้ต่อมาจำเลยที่ 1 จะไปราชการและแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเงินกู้ขึ้นใหม่คือ จำเลยที่ 2 ถึงที่ 5 แต่คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งยังคงอยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ 1 เช่นเดิม จำเลยที่ 1 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 ต่อบุคคลภายนอก เช่นโจทก์ ผู้ได้รับความเสียหายด้วย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า สโมสรนายทหารกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ ๑ ตั้งสวัสดิการเงินกู้ขึ้น เพื่อช่วยเหลือข้าราชการในกองรบพิเศษ ฯ นำเงินของหน่วยเป็นทุนเริ่มต้น และเปิดโอกาสให้สมาชิกนำเงินมาฝากเป็นเงินทุน มีกรรมการดำเนินการให้สมาชิกกู้คิดผลประโยชน์ และแบ่งเงินปันผลให้แก่เจ้าของเงิน จำเลยที่ ๒ เป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นกรรมการ จำเลยที่ ๕ เป็นผู้จัดการทั้งนี้อยู่ในความควบคุมดูแลของจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองรบพิเศษ ฯ โจทก์ได้นำเงินฝากเพื่อเป็นทุนสวัสดิการเงินกู้ ๔ ครั้ง รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๐,๐๐๐ บาท ครั้นถึงกำหนดจ่ายเงินปันผล จำเลยทั้งห้ามไม่จ่ายเงินปันผลให้โจทก์ โจทก์จึงขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งห้าร่วมกันคืนเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาท พร้อมเงินปันผลให้โจทก์
จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ให้การว่า โจทก์จะได้นำเงินมาฝากจำเลยที่ ๕ ไว้จริงหรือไม่ไม่ทราบ หากนำมาฝากไว้เพื่อให้กู้ก็เป็นการส่วนตัวระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๕ ไม่เกี่ยวกับสวัสดิการเงินกู้ จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ เข้าเป็นกรรมการโดยตำแหน่ง ไม่เคยได้รับผลประโยชน์จึงไม่ต้องรับผิด โจทก์ไม่บรรยายว่า จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ รับผิดในฐานะอะไรเป็นฟ้องเคลือบคลุม
จำเลยที่ ๕ให้การว่า เงินของโจทก์ ๒๓๐,๐๐๐ บาท ที่นำมาร่วมลงทุนให้กู้ จำเลยที่ ๕ รับไว้ในฐานะกรรมการและได้จัดการให้กู้ไปกับจ่ายดอกเบี้ยในลัษณะเงินปันผลให้โจทก์ตลอดมา จำเลยที่ ๕ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการและได้มอบหลักฐานต่างๆ ให้กรรมการชุดใหม่ เรียบร้อย จำเลยที่ ๕ จึงไม่ต้องรับผิดโจทก์นำเงินมาลงทุนให้กู้เรียกดอกเบี้ยเกิดอัตราที่กฎหมายกำหนด ผู้กู้บางรายตายไปเป็นหนี้สูญ โจทก์ไม่มีอำนาจเรียกคืนจากจำเลย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ร่วมกันคืนเงิน ๒๓๐,๐๐๐ บาทแก่โจทก์ ยกฟ้องจำเลยที่ ๕ คำขอนอกจากนี้ให้ยก
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์และจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ตามที่โจทก์จำเลยนำสืบว่า สวัสดิการเงินกู้รายนี้ได้มีการจัดตั้งขึ้นโดยที่ประชุมของสโมสรนายทหารกองรบพิเศษ (พลร่ม) ที่ ๑ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ มีวัตถุประสงค์เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนทางการเงินของข้าราชการในสังกัดให้ได้กู้ยืมเงิน ของสวัสดิการไปใช้โดยเสียดอกเบี้ยในอัตราต่ำกว่าที่จะต้องเสียแก่ผู้ให้กู้ภายนอก ดำเนินงานโดยคณะกรรมการซึ่งผู้บังคับการเป็นผู้แต่งตั้งตามตำแหน่งของหน่วย ผลัดเปลี่ยนกันไปโดยอยู่ในความควบคุมดูแลของผู้บังคับการ ทุนของสวัสดิการเงินกู้ได้มาจากเงินของหน่วยงานกับเงินของข้าราชการที่เป็นสมาชิกสโมสรนำมาฝากและทางสวัสดิการเงินกู้ได้นำเงินดอกเบี้ยที่ได้จากการให้กู้ว่าจัดสรรแบ่งให้แก่เจ้าของเงิน แก่หน่วยงาน แก่คณะกรรมการดำเนินงานและแก่ผู้บังคับการ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำเลยที่ ๑ มาดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองรบพิเศษฯ แห่งนี้ ได้เป็นประธาน กรรมการสวัสดิการ เงินกู้โดยตำแหน่ง ครั้น พ.ศ. ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ ไปราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นรองผู้บังคับการเป็นประธานกรรมการ จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ เป็นกรรมการ และจำเลยที่ ๔ คงเป็นกรรมการและผู้จัดการตามเดิมต่อไป โจทก์นำเงินเข้าฝากไว้ในสวัสดิการเงินกู้ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗ ถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๗ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๐,๐๐๐ บาท ซึ่งตามระเบียบว่าด้วยสวัสดิการเงินกู้ โจทก์จะได้รับเงินปันผลรายเดือนเดือนละ ๔,๖๐๐ บาท แต่ทางสวัสดิการเงินกู้ ไม่จ่ายเงินปันผลงวดเดือน ธันวาคม ๒๕๑๗ ให้แก่โจทก์ โจทก์ทวงถามเรียกเงินฝากคืนพร้อมเงินปันผลรายเดือนที่ค้างจำเลยไม่ชำระโจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้
ศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๕ เสียก่อนว่า จำเลยที่ ๑ถึงที่ ๔ ต้องร่วมกันรับผิดเงินฝากให้แก่โจทก์หรือไม่ จำเลยกล่าวอ้างในฎีกาว่า จำเลยทั้งสี่มิได้มีนิติสัมพันธ์ในทางใด ๆ กับโจทก์ จำเลยที่ ๑ เป็นประธานกรรมการโดยตำแหน่งมิได้รับมอบหมายงานสวัสดิการเงินกู้เพราะไม่ใช่งานของทางราชการ และเมื่อจำเลยที่ ๑ ได้แต่งตั้งให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ เป็นกรรมการแล้ว จำเลยที่ ๑ มิได้เป็นกรรมการอีก ส่วนจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ก็มิได้รับมอบงาน การดำเนินงานสวัสดิการเงินกู้ เป็นเรื่องของจำเลยที่ ๕ กระทำแต่ผู้เดียว จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ศาลฎีกาพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า สวัสดิการเงินกู้ นี้มิได้จดทะเบียนนิติบุคคลตามกฎหมาย การดำเนินงานทั้งหลายจึงอยู่ในความรับผิดชอบของคณะกรรมการผู้ได้รับแต่งตั้งดังปรากฏตามสำเนาระเบียบว่าด้วยเงินกู้ ฉบับลงวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๐๗ ข้อ ๙ ว่า การปฏิบัติการใด ๆ ที่นอกเหนือจากระเบียบนี้คณะกรรมการเป็นผู้พิจารณาและรับผิดชอบทั้งสิ้น แม้คณะกรรมการนี้จะมีการแต่งตั้งเปลี่ยนกันไปหลายครั้งตามตำแหน่งนับแต่เริ่มตั้งสวัสดิการเงินกู้จนถึงปัจจุบัน ก็ต้องถือว่าคณะกรรมการใหม่ยอมรับมาซึ่งสิทธิและหน้าที่ตลอดจนความรับผิดจากคณะกรรมการชุดเดิมที่ดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ไว้ จะยกข้ออ้างว่าตนเป็นกรรมการโดยตำแหน่งและไม่ได้รับมอบหมายการงานหาได้ไม่ ข้อเท็จจริงในคดีนี้ฟังได้ว่าโจทก์ได้นำเงินเข้าฝากไว้ในสวัสดิการเงินกู้หลายครั้งนับแต่ พ.ศ. ๒๕๐๗เป็นต้นมา จนถึงวันที่ ๙ ธันวาคม ๒๕๑๗ รวมเป็นเงินทั้งสิ้น ๒๓๐,๐๐๐ บาท ตามใบรับเงินเอกสารหมาย จ.๒ โดย จำเลยที่ ๕ เป็นกรรมการและผู้จัดการของสวัสดิการเงินกู้ เป็นผู้ลงลายมือชื่อรับไว้ตามที่ปฏิบัติกันมา ถือได้ว่า จำเลยที่ ๕ กระทำในนามของคณะกรรมการ ซึ่งกรรมการอื่นต้องร่วมรับผิดในเงินฝากของโจทก์ด้วย และเป็นนิติสัมพันธ์ ทางสัญญาตามกฎหมาย และการที่โจทก์นำเงินฝากไว้ไม่มีกำหนดระยะเวลาถอนคืน โจทก์จึงมีสิทธิเรียกคืนได้เมื่อทวงถาม ความปรากฏว่า โจทก์ได้ทวงถามให้จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ผู้เป็นกรรมการรับผิดชอบการดำเนินงานของสวัสดิการเงินกู้ อยู่ให้คืนเงินจำนวนนี้แก่โจทก์แล้ว เมื่อจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ไม่คืนให้ย่อมเป็นการโต้แย้งสิทธิโจทก์ โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้บังคับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ร่วมกันรับผิดคืนเงินแก่โจทก์ได้ ที่จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ อ้างวาระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ได้พ้นจากตำแหน่งกรรมการสวัสดิการ เงินกู้ระหว่างการพิจารณาคดีในศาลชั้นต้น เห็นว่า ไม่เป็นผลลบล้างอำนาจฟ้องของโจทก์ที่มีอยู่เดิม ให้หมดไป จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ ส่วนสำหรับจำเลยที่ ๑ต้องรับผิดด้วยหรือไม่ เห็นว่า สวัสดิการเงินกู้เป็นสวัสดิการของหน่วยงาน เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้ารับตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาการ พ.ศ. ๒๕๑๔ จำเลยที่ ๑ ก็เข้าเป็นประธานกรรมการดำเนินการสวัสดิการเงินกู้ต่อมา แม้ในปี พ.ศ. ๒๕๑๖ จำเลยที่ ๑ จะไปราชการปราบปรามผู้ก่อการร้ายและแต่งตั้งคณะกรรมการสวัสดิการเงินกู้ขึ้นใหม่คือ จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๕ แต่คณะกรรมการที่ได้รับแต่งตั้งยังคงอยู่ในความควบคุมดูแลรับผิดชอบของจำเลยที่ ๑ เช่นเดิม ฉะนั้น จำเลยที่ ๑ จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ต่อบุคคลภายนอก เช่นโจทก์ ผู้ได้รับความเสียหายด้วย
พิพากษายืน

Share