คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1750/2535

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ค่าชดเชยที่รัฐวิสาหกิจจำเลยจ่ายให้แก่พนักงานกรณีพนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะเกษียณอายุตามระเบียบของจำเลย มีจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน ถือเป็นเงินทั้งหมดที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 วรรคสอง จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามข้อ 47 วรรคหนึ่งให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นพนักงานอีก

ย่อยาว

โจทก์ทั้งสี่สิบหกฟ้องว่า โจทก์ทั้งสี่สิบหกเป็นลูกจ้างจำเลยจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งสี่สิบหกเพราะเหตุเกษียณอายุโจทก์ทั้งสี่สิบหกปฏิบัติงานเป็นลูกจ้างจำเลยเกิน 5 ปี แต่จำเลยไม่จ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่องมาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ขอให้บังคับจำเลยจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสี่สิบหกสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งสี่สิบหกไม่มีอำนาจฟ้อง คดีไม่อยู่ในอำนาจของศาลแรงงาน เพราะโจทก์ทั้งสี่สิบหกอ้างสิทธิที่จะได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ซึ่งออกโดยพระราชบัญญัติพนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 พระราชบัญญัติดังกล่าวได้แยกพนักงานรัฐวิสาหกิจออกจากกฎหมายแรงงาน จึงเป็นกฎหมายเฉพาะของรัฐวิสาหกิจ หากมีข้อโต้แย้งต้องดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายดังกล่าว และประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่องกำหนดกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103 ลงวันที่ 16มีนาคม 2515 ไม่ใช้บังคับ ได้กำหนดให้รัฐวิสาหกิจตามกฎหมายรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เป็นกิจการที่ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 103ไม่ใช้บังคับ รัฐวิสาหกิจ จึงไม่อยู่ในฐานะนายจ้างและลูกจ้างตามกฎหมายแรงงาน จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกแล้ว และตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ถือว่าค่าชดเชยเป็นเงินที่จ่ายเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงาน และจำเลยยังได้จ่ายเงินบำเหน็จแก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกด้วยโจทก์ทั้งสี่สิบหกไม่มีสิทธิเรียกเงินใด ๆ จากจำเลยอีก ขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า คดีระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสี่สิบหกสำนวนอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง โจทก์ทั้งสี่สิบหกอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “โจทก์ทั้งสี่สิบหกอุทธรณ์ข้อแรกว่า เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกตามเอกสารหมาย ล.2 นั้น เป็นเงินบำเหน็จอย่างเดียวไม่มีค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยนั้น เห็นว่า จำเลยได้มีคำสั่งที่ 240/2528 เรื่องหลักเกณฑ์การคำนวณค่าชดเชย การอนุมัติและการจ่ายค่าชดเชยตามเอกสารหมาย ล.3 ซึ่งในคำสั่งดังกล่าวได้กำหนดไว้ในข้อ 1.3 ว่าพนักงานประจำซึ่งทำงานติดต่อกันครบ 3 ปีขึ้นไป ให้ได้รับค่าชดเชยไม่น้อยกว่าอัตราค่าจ้างสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวันนอกจากนี้จำเลยยังได้มีข้อบังคับฉบับที่ 47 ว่าด้วยเงินบำเหน็จพ.ศ. 2524 ตามเอกสารหมาย ล.1 ซึ่งกำหนดไว้ในข้อ 6(1) ว่าพนักงานที่ต้องออกจากงานในวันสิ้นปีงบประมาณที่มีอายุครบ 60 ปีบริบูรณ์ จะได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้และกำหนดไว้ในข้อ 8ว่า พนักงานที่ออกจากงานโดยมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามกฎหมายเกี่ยวกับแรงงานแล้วไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อบังคับนี้ แต่ถ้าค่าชดเชยที่มีสิทธิได้รับนั้นต่ำกว่าเงินบำเหน็จที่จะได้รับตามข้อบังคับนี้ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้เท่าจำนวนที่ต่ำกว่านั้นจากคำสั่งที่ 240/2528 ตามเอกสารหมาย ล.3 ประกอบกับข้อบังคับฉบับที่ 47 ตามเอกสารหมาย ล.1 เห็นได้ว่า จำนวนเงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกตามบัญชีเอกสารหมาย ล.2 นั้น มีเงินค่าชดเชยรวมอยู่ด้วยแล้ว ส่วนที่โจทก์ทั้งสี่สิบหกอุทธรณ์ว่าเมื่อนำข้อ 6 แห่งข้อบังคับฉบับที่ 47 มาใช้แล้วจะนำข้อ 8 มาใช้บังคับอีกไม่ได้นั้น เห็นว่า ข้อ 6 แห่งข้อบังคับดังกล่าวเป็นการกำหนดว่า พนักงานที่ออกจากงานกรณีใดบ้างที่มีสิทธิจะได้รับเงินบำเหน็จ ส่วนข้อ 8 เป็นการกำหนดเงื่อนไขว่าถ้าพนักงานที่ออกจากงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชยแล้วก็ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จอีก เว้นแต่ค่าชดเชยที่ได้รับมีจำนวนต่ำกว่าเงินบำเหน็จ ก็ให้จ่ายเพิ่มให้จนเท่ากับเงินบำเหน็จ เห็นได้ว่า ข้อ 8เป็นข้อยกเว้นของข้อ 6 เมื่อเข้าตามเงื่อนไขในข้อ 8 แล้วก็จะไม่มีสิทธิได้รับบำเหน็จตามข้อ 6 อีก ดังนั้น จึงหาได้หมายความว่า ถ้ามีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จตามข้อ 6 แล้ว จะนำข้อ 8 มาใช้บังคับอีกไม่ได้ดังที่โจทก์ทั้งสี่สิบหกอุทธรณ์ เงินที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกตามบัญชีเอกสารหมาย ล.2 จึงรวมค่าชดเชยไว้ด้วยแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่สิบหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
โจทก์ทั้งสี่สิบหกอุทธรณ์เป็นข้อสุดท้ายว่า จำเลยไม่มีระเบียบข้อบังคับหรือข้อกำหนดในการจ่ายค่าชดเชยกรณีพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุ คงมีแต่เพียงคำสั่งในเรื่องจ่ายค่าชดเชยทั่ว ๆ ไปเท่านั้น จึงนำระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534ข้อ 47 วรรคสอง มาใช้บังคับแก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกไม่ได้โจทก์ทั้งสี่สิบหกจึงยังคงมีสิทธิได้รับเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามข้อ 47 วรรคแรกนั้น เห็นว่า คำสั่งของจำเลยที่ 240/2528 เรื่อง หลักเกณฑ์การคำนวณค่าชดเชย การอนุมัติและการจ่ายค่าชดเชยตามเอกสารหมาย ล.3 เป็นระเบียบที่ใช้รวมถึงการจ่ายค่าชดเชยกรณีพนักงานพ้นจากตำแหน่งเพราะเหตุเกษียณอายุด้วยดังนั้น ค่าชดเชยที่จำเลยจ่ายให้แก่โจทก์ทั้งสี่สิบหกตามคำสั่งที่ 240/2528 ดังกล่าว ซึ่งจ่ายให้เป็นจำนวนเท่ากับเงินเดือนค่าจ้างอัตราสุดท้ายหนึ่งร้อยแปดสิบวัน จึงต้องถือว่าเงินดังกล่าวเป็นเงินทั้งหมดที่จ่ายให้เพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามระเบียบคณะกรรมการรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ เรื่อง มาตรฐานของสิทธิประโยชน์ของพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2534 ข้อ 47 วรรคสองแล้ว จำเลยจึงไม่ต้องจ่ายเงินเพื่อตอบแทนความชอบในการทำงานตามข้อ 47 วรรคหนึ่งอีก อุทธรณ์ของโจทก์ทั้งสี่สิบหกในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นเดียวกัน”
พิพากษายืน

Share