แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ผู้ร้องที่ 2 อ้างสำเนาทะเบียนบ้านซึ่งเป็นเอกสารมหาชนเป็นพยานหลักฐาน มีข้อความระบุว่า ม. เป็นบุตรของ ว. กับ ป. ซึ่งกฎหมายสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่เมื่อผู้คัดค้านนำสืบรับฟังได้ว่า ม. เป็นบุตรของ ป. ที่เกิดจากสามีเดิมก่อนที่จะมาได้ ว. เป็นสามี ดังนี้จึงเป็นการนำสืบหักล้างสำเนาทะเบียนบ้านได้แล้วว่าไม่ถูกต้องตรงกับความเป็นจริง.(ที่มา-ส่งเสริมฯ)
ย่อยาว
คดีนี้ผู้ร้องที่ 1 ยื่นคำร้องว่าเป็นบุตรสะใภ้ของนายวันจันต๊ะวงศ์ เจ้ามรดก ขอให้ตั้งผู้ร้องซึ่งมีคุณสมบัติครบถ้วนตามกฎหมายเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ผู้ร้องที่ 2 ยื่นคำร้องว่า ผู้ร้องเป็นบุตรของนางมูล ธรรมวงศ์เป็นบุตรของนายวัน จันต๊ะวงศ์ เจ้ามรดก ขอเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตายร่วมกับผู้ร้องที่ 1
ผู้คัดค้านยื่นคำร้องคัดค้านว่าผู้ร้องทั้งสองไม่ได้เป็นทายาทของผู้ตาย ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก ขอให้ยกคำร้องของผู้ร้องทั้งสองและตั้งผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของผู้ตาย
ศาลชั้นต้นสั่งให้ดำเนินคดีอย่างคดีมีข้อพิพาท
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้นางบังของ แสนเขื่อน ผู้ร้องที่ 2 เป็นผู้จัดการมรดกของนายวัน จันต๊ะวงศ์ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 1 และผู้คัดค้าน ค่าธรรมเนียมเป็นพับ
ผู้คัดค้านอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้นายหมื่น จันต๊ะวงศ์ ผู้คัดค้านเป็นผู้จัดการมรดกของนายวัน จันต๊ะวงศ์ ผู้ตาย โดยให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย ให้ยกคำร้องของผู้ร้องที่ 2
ผู้ร้องที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘คงมีปัญหาขึ้นมาสู่ศาลฎีกาเฉพาะคดีของผู้ร้องที่ 2 ที่ฎีกาขอให้บังคับคดีไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นและข้อเท็จจริงที่ไม่ได้เถียงกันรับฟังได้ว่า ผู้ร้องที่2 เป็นบุตรนางมูล นางมูลเป็นบุตรของนางปา นางปาเคยอยู่กินฉันสามีภรรยากับนายวันเจ้ามรดก นางมูลตายไปก่อนนายวันผู้คัดค้านเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายวัน ทั้งผู้ร้องที่ 2 และผู้คัดค้านต่างเป็นบุคคลมีคุณสมบัติที่จะเป็นผู้จัดการมรดกได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1718ปัญหาที่จะวินิจฉัยในเบื้องต้นมีว่า นางมูลมารดาของผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรของนายวันหรือไม่คดีได้ความจากผู้ร้องทั้งสอง นางผาย ธรรมวงศ์ และนายวิจิตร ชุ่มใจ กำนันตำบลไม้ยา กิ่งอำเภอพญาเม็งราย พยานผู้ร้องว่า ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรนางมูล นางมูลเป็นบุตรนายวัน โดยนางปา จันต๊ะวงศ์ เป็นมารดา และผู้ร้องที่2 อ้างสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.8 เป็นพยานหลักฐาน ซึ่งมีข้อความระบุไว้ว่า นางมูลเกิดวันที่ 4 กันยายน 2475 เป็นบุตรนายวัน นางปา ส่วนฝ่ายผู้คัดค้านนั้น นอกจากตัวผู้คัดค้านแล้วคดียังได้ความจากนายมา จันต๊ะวงศ์ กับนายปั่น จันต๊ะวงศ์ ซึ่งทั้งสองเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันกับนายวัน และนายสดวุฒิพรหม กำนันตำบลงิ้วซึ่งเดิมผู้คัดค้านมีบ้านพักอาศัยอยู่ในเขตท้องที่ตำบลงิ้ว แต่ปัจจุบันเขตพื้นที่ที่ผู้คัดค้านพักอาศัยได้แยกไปขึ้นอยู่ในเขตตำบลไม้ยา กิ่งอำเภอพญาเม็งรายว่า นางมูลเป็นบุตรนางปาที่เกิดกับสามีคนก่อนที่จะมาเป็นภรรยาของนายวัน นายวันได้นางปาเป็นภรรยาเมื่อมีอายุได้ 21 ปี ตามข้อเท็จจริงที่ได้จากพยานของทั้งสองฝ่ายนั้นเห็นว่า แม้ผู้ร้องที่ 2 จะอ้างสำเนาทะเบียนบ้านอันเป็นเอกสารมหาชนเป็นพยานหลักฐานมีข้อความระบุไว้ชัดว่า นางมูลเป็นบุตรนายวัน นางปา ซึ่งกฎหมายให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า เป็นของแท้จริงและถูกต้อง แต่เมื่อคำนึงถึงคำเบิกความของผู้ร้องที่ 2และนายวิจิตรที่เบิกความว่า ทราบเรื่องเครือญาติของผู้ตายจากสำเนาทะเบียนบ้านเท่านั้น รวมทั้งนายผายซึ่งเป็นบิดาของผู้ร้องที่ 2 และเป็นสามีของนางมูล ก็เบิกความกล่าวขึ้นลอยๆ ว่าพยานได้สมรสกับนางมูลเมื่อ พ.ศ. 2498 นางมูลเป็นบุตรนายวันนางปาโดยไม่ได้แสดงรายละเอียดถึงความสัมพันธ์ระหว่างนางมูลหรือผู้ร้องที่ 2 กับนายวันให้มีเหตุผลสนับสนุนพอเชื่อได้ตามข้อนำสืบของผู้ร้องที่ 2 แต่อย่างใด ส่วนผู้คัดค้านนายปั่นและนายมามีอายุถึง 76 ปี 65 ปี และ 60 ปี ตามลำดับ ซึ่งทุกคนอยู่ในวัยสูงอายุพอที่จะรู้เรื่องราวเกี่ยวกับเครือญาติของนายวันได้ดีกว่าฝ่ายผู้ร้องต่างยืนยันว่านางมูลเป็นบุตรนางปาที่เกิดจากสามีเดิมก่อนที่จะมาได้นายวันเป็นสามีโดยนายวันได้นางปาเป็นภรรยาเมื่อมีอายุได้ 21 ปี ซึ่งการที่นายวันเป็นชาวชนบทมีภรรยาตั้งแต่อายุอยู่ในวัย 20 ปีนั้น มีเหตุผลน่าเชื่อได้ตามที่ฝ่ายผู้คัดค้านนำสืบ ประกอบกับปรากฏว่านายวันตายเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2526 ขณะที่ตายมีอายุ 68 ปี ตามใบมรณบัตรเอกสารหมาย จ.3 ดังนั้นหากนับแต่นายวันได้นางปาเป็นภรรยาเป็นต้นมาจนถึงวันที่นายวันตาย ก็เป็นเวลาไม่เกิน 48 ปี แต่ปรากฏตามสำเนาทะเบียนบ้านเอกสารหมาย จ.8ระบุไว้ว่า นางมูลเกิดเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2475 นับแต่วันที่นางมูลเกิดจนถึงวันที่นายวันตาย นางมูลจะมีอายุในขณะที่นายวันตาย 51 ปีเศษ จากข้อเท็จจริงและเหตุผลตามที่ได้วินิจฉัยมา คดีย่อมฟังได้ว่า นางมูลเกิดก่อนที่นางปาจะได้นายวันเป็นสามี และเป็นบทพิสูจน์สนับสนุนหักล้างสำเนาทะเบียนบ้านสำหรับข้อความซึ่งระบุไว้ว่านางมูลเป็นบุตรนายวันนางปา ตามข้อนำสืบของผู้คัดค้านว่า ไม่ถูกต้องตรงตามความเป็นจริง ฉะนั้น แม้ผู้ร้องที่ 2 เป็นบุตรนางมูล ก็มิใช่เป็นทายาทผู้มีสิทธิได้รับมรดกของนายวันเจ้ามรดก เป็นผู้ไม่มีส่วนได้เสียในทรัพย์มรดก และไม่มีอำนาจร้องขอจัดการมรดกรายนี้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของผู้ร้องที่ 2 ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาเป็นพับ