แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
การริบทรัพย์เป็นโทษทางอาญาอย่างหนึ่งถ้ากฎหมายที่ใช้ในขณะที่จำเลยกระทำผิดให้อยู่ในดุลพินิจของศาล จะริบหรือไม่ริบก็ได้ แต่กฎหมายที่ใช้ในขณะพิจารณาคดีบัญญัติว่าต้องริบ เช่นนี้ต้องใช้กฎหมายในขณะจำเลยกระทำผิด คือศาลจะไม่ริบก็ได้ ตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 8
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การรับสารภาพ ข้อเท็จจริงได้ความว่า จำเลยใช้แหทอดจับสัตว์น้ำในเขตหวงห้ามจับสัตว์น้ำโดยไม่ได้รับอนุญาต ศาลชั้นต้นลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติอากรค่าน้ำ ร.ศ. 120 ริบของกลาง ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้คืนแหของกลางให้จำเลย
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า กฎหมายที่ใช้ในขณะจำเลยกระทำผิดคือมาตรา 18พระราชบัญญัติอากรค่าน้ำบัญญัติว่า สัตว์น้ำซึ่งบุคคลได้จับโดยฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้ก็ดี เครื่องมืออันใช้ฝ่าฝืนต่อพระราชบัญญัตินี้ก็ดี ให้เจ้าพนักงานมีอำนาจที่จะยึดไว้เป็นของหลวง และตามพระราชบัญญัติการประมง 2490 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในปัจจุบัน มาตรา 69 บัญญัติว่า เรือ เครื่องมือทำการประมง สัตว์น้ำและสิ่งอื่น ๆ ที่ใช้ หรือได้มาโดยการกระทำผิดต่อพระราชบัญญัตินี้ ศาลจะริบเสียก็ได้แต่ถ้าสิ่งที่ว่านี้ได้ใช้หรือได้มาโดยการกระทำความผิดในที่รักษาพืชพันธ์ ให้ศาลริบเสียทั้งสิ้น เห็นได้ว่ากฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำผิดและกฎหมายที่ใช้อยู่ปัจจุบันในวรรคแรกเป็นเรื่องอยู่ในดุลพินิจของศาลที่จะริบหรือไม่ริบก็ได้ จะใช้กฎหมายปัจจุบันในวรรคหลังมาริบแหของกลางในคดีนี้ไม่ชอบ เพราะกฎหมายในขณะที่จำเลยกระทำผิด มิได้บังคับให้ริบ ซึ่งตามกฎหมายลักษณะอาญา มาตรา 8 ให้ใช้กฎหมายที่มีโทษเบาแก่ผู้ต้องหา ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้คืนของกลางแก่จำเลยชอบแล้ว
พิพากษายืน