แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์ทราบว่าไนท์คลับของโจทก์ที่ 2ยอมให้เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปมั่วสุมได้ จำเลยจึงเขียนข้อความตามที่โจทก์ฟ้องลงหนังสือพิมพ์ของจำเลย จำเลยเป็นประชาชนคนหนึ่ง เมื่อเห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องย่อมติชมได้ อันเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรมซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำ แม้ข้อความบางตอนจะเป็นการใช้ถ้อยคำที่ไม่สมควรและเกินเลยไปบ้างก็เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย อยู่ในความหมายของประมวลกฎหมายอาญามาตรา 329(3) การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสองสำนวนฟ้องว่า จำเลยเป็นเจ้าของ บรรณาธิการผู้พิมพ์ ผู้โฆษณาหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ออกวางจำหน่ายแก่ประชาชนทั่วไป จำเลยเป็นนักเขียนตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณ ใช้นามปากกาว่า “เล็บครุฑ” เขียนคอลัมน์”สังคมหน้า 4″ เมื่อวันที่ 26 กันยายน 2530 เวลากลางวัน จำเลยได้เขียนและโฆษณาตีพิมพ์ข้อความในคอลัมน์ดังกล่าวฉบับที่ 81 ประจำวันที่ 23 กันยายน 2530 ดูหมิ่นโจทก์ที่ 2 ซึ่งประกอบกิจการโรงแรมถาวรและสถานบริการเต้นรำชื่อไดมอนด์คลับ มีข้อความว่า “รำค๊าญ….รำคาญกับการแหกกฎหมายหรือฝ่าฝืนกฎหมายของผู้มีอิทธิพลในบ้านนี้เมืองนี้เสียจริง ๆ ที่สามารถปิดหูปิดตาเจ้าหน้าที่บ้านเมือง ไม่ให้รู้ไม่ให้เห็นกับสิ่งผิดกฎหมายที่โผล่แล้วโผล่อีก และจะปล่อยให้มันเลยตามเลยหรือไงกันครับกับ”ไดมอนด์คลับ” ที่ปล่อยให้เด็กอายุไม่ถึง 20 ปี เข้าไปมั่วสุมกันแน่นเอี๊ยด ทั้งประวิทย์ สีห์โสภณ นายอำเภอเมืองภูเก็ตทั้ง พ.ต.ท.ธวัช บุษสาย สวญ.เมืองภูเก็ต ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทั้งคู่” และ “แปล๊ก….แปลกคนดี ๆ ที่สร้างสมความดีมานมนานจะทำลายชื่อเสียงของตนเอง ด้วยรายได้ที่สังคมไม่ยอมรับก็ยอมทำมันเป็นยังไงไปหรือครับ “แป๊ะเต็กหลิม” และ “ภูเก็ตถ้ามีคนดีแต่ชื่อแล้วแอบแฝงคราบผู้ดีอยู่อย่างนี้มาก ๆ อีกหน่อยคงหาคนดีประดับเมืองไม่ได้แน่ แย่จริง ๆ เห็นจะกรรมไม่ต้องแบกันคราวนี้”อันเป็นการโฆษณาด้วยเอกสารซึ่งข้อความดังกล่าวมีความหมายว่าโจทก์ที่ 2 เป็นคนมีอิทธิพล กระทำการฝ่าฝืนกฎหมายและสามารถทำให้เจ้าพนักงานทำไม่รู้ไม่เห็นปล่อยให้เด็กอายุยังไม่ถึง 20 ปีเข้าไปมั่วสุมในสถานบริการเต้นรำชื่อ ไดมอนด์คลับ ทำลายชื่อเสียงของตนเองด้วยรายได้ที่ผิดกฎหมาย สังคมไม่ยอมรับ แอบแฝงคราบผู้ดีกระทำสิ่งผิดกฎหมายซึ่งไม่เป็นความจริง การกระทำของจำเลยน่าจะทำให้โจทก์ที่ 2 เสียชื่อเสียงถูกดูหมิ่นและถูกเกลียดชัง เหตุเกิดที่ตำบลตลาดใหญ่ อำเภอเมืองภูเก็ต จังหวัดภูเก็ต และทั่วราชอาณาจักร เกี่ยวพันกัน ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา326, 328, 332, 393 ประกาศของคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ฉบับที่ 41ลงวันที่ 21 ตุลาคม 2519 ข้อ 7, 8
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 328, 393 เป็นกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทลงโทษตามมาตรา 328 ซึ่งเป็นบทหนักจำคุก 6 เดือน ให้จำเลยโฆษณาคำพิพากษาทั้งหมดในหนังสือพิมพ์เสียงใต้ ปักษ์ใต้ เป็นเวลา7 วันติดต่อกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการหมิ่นประมาทโจทก์ที่ 2 แต่จำเลยพิสูจน์ได้ว่า ข้อความที่หาว่าหมิ่นประมาทนั้นเป็นความจริง และการพิสูจน์เป็นประโยชน์แก่ประชาชน จำเลยจึงไม่ต้องรับโทษ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์ทั้งสองสำนวน
โจทก์ทั้งสองสำนวนฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า มีการยอมให้เด็กวัยรุ่นอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปมั่วสุมในไดมอนด์คลับจริง จนฝ่ายตำรวจต้องมีคำสั่งกวดขันมิให้ทำผิดกฎหมายและจำเลยซึ่งเป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์เสียงทักษิณได้รู้เห็นการกระทำที่ผิดกฎหมายดังกล่าวจึงนำไปเขียนข้อความตามที่ถูกฟ้อง ลงในหนังสือพิมพ์ของจำเลย ฉบับวันที่ 23 กันยายน 2530 ก่อนที่นายนริศผู้จัดการไดมอนด์คลับจะถูกจับ ซึ่งต่อมาวันที่ 1 ตุลาคม 2530นายนริศก็ถูกจับและถูกปรับ ฉะนั้นการที่จำเลยเขียนข้อความตามฟ้อง ก็เพราะเห็นพฤติการณ์ของไดมอนด์คลับหลีกเลี่ยงกฎหมายเมื่อยังไม่มีการจับกุมโดยเจ้าพนักงาน จำเลยในฐานะประชาชนคนหนึ่งซึ่งมีส่วนร่วมอยู่ในสังคมจังหวัดภูเก็ต เห็นว่าเป็นการกระทำที่ไม่ถูกต้องปล่อยให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี เข้าไปมั่วสุมโดยผิดกฎหมายย่อมมีสิทธิติชมได้ โดยการนำไปเขียนลงในหนังสือพิมพ์ว่าเจ้าหน้าที่ถูกปิดหูปิดตา และกล่าวถึงโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นคนดีของสังคมจังหวัดภูเก็ตเป็นเจ้าของกิจการไดมอนด์คลับทำลายชื่อเสียงของตนเองโดยการมีรายได้จากกิจการที่สังคมไม่ยอมรับข้อความที่จำเลยนำลงจึงเป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริต ติชมด้วยความเป็นธรรม ซึ่งบุคคลอันเป็นวิสัยของประชาชนย่อมกระทำตามนัยประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 329(3) ส่วนที่จำเลยแสดงข้อความต่อไปว่า ภูเก็ตถ้ามีคนดีแต่ชื่อแล้วแอบแฝงคราบผู้ดีอยู่อย่างนี้มาก ๆ อีกหน่อยคงหาคนดีประดับเมืองไม่ได้แน่ ๆ แย่จริง ๆ เห็นจะกรรมไม่ต้องแบกันคราวนี้ ข้อความตอนนี้เป็นคำกล่าวมีลักษณะติเตียนโดยใช้ถ้อยคำไม่สมควรและเกินเลยไปบ้าง ก็เป็นการแสดงความคิดเห็นโดยสุจริตต่อโจทก์ที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการกระทำผิดกฎหมายอยู่ในความหมายของมาตรา 329(3) เช่นเดียวกันการกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นความผิด
พิพากษายืน